"DSI"คุมตัว 2 พ่อลูกนายทุนหมูเถื่อนสอบปากคำ หลังหนีหมายจับซุกตปท. ด้าน"อธิบดีดีเอสไอ"เผย 2 หมูเถื่อนกว่า 33 ตู้ ส่งศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ชื่อดัง พบเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาท
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำโดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ประกอบด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานคดีพิเศษ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษฐธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รอง ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และในฐานะเลขานุการคดีหมูเถื่อน ได้ร่วมกันดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลผู้เกี่ยวข้องในขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ หลังได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรแช่แข็ง ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน จนพบพยานหลักฐานตามสมควร จึงได้มีการออกหมายจับผู้ต้องหากลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชน รวม 10 ราย ซึ่งได้จับกุมไปแล้ว 6 ราย พร้อมกันนี้ ได้ออกหมายจับกลุ่มนายทุน หรือผู้สั่งให้นำเข้าเนื้อหมู รวม 2 ราย ได้แก่ นายวิรัช ภูริฉัตร อายุ 69 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด WEALTY & HEALTHY FOODS CO.,LTD. และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด THE GOOD SHOP CO.,LTD และนายธนกฤต ภูริฉัตร อายุ 42 ปี ซึ่งเป็นบุตรชายของนายวิรัช ภูริฉัตร โดยล่าสุดดีเอสไอได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชนเพิ่มเติมอีก 3 บริษัท ซึ่งมีบุคคลเกี่ยวข้อง 4 ราย รวมเบื้องต้นมีหมายจับผู้ต้องหาทั้งสิ้น 12 รายแล้วนั้น
วันนี้ (14 พ.ย.) เมื่อเวลา 15.30 น.ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ดีเอสไอได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลอาญาออกหมายจับกลุ่มนายทุนหมูเถื่อน 2 ราย ได้แก่ นายวิรัช ภูริฉัตร และนายธนกฤต ภูริฉัตร (สองพ่อลูก) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีพฤติ การณ์ชำระเงินหรือมีการทำธุรกรรมทางการเงิน สั่ง-จ่ายสินค้าให้บริษัทชิปปิ้งเอกชน 2 แห่ง เพื่อให้มีการนำเข้าซากสุกรแช่แข็งมายังราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย ทั้งยังมีสถานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด WEALTY & HEALTHY FOODS CO.,LTD. และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด THE GOOD SHOP CO.,LTD ซึ่งดีเอสไอได้ขยายผลตรวจค้นวัตถุพยาน พยานเอกสาร จนพบความเชื่อมโยงดังกล่าว ต่อเนื่องไปถึงการเข้าตรวจค้นห้องเย็นขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ทำให้สามารถอายัดเนื้อหมูเเช่เเข็งไว้ตรวจสอบได้เพิ่มอีก 75 ตัน ซึ่งมีพยานหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าทั้งสองพ่อลูกได้มีการเช่าห้องเย็นแห่งนี้เพื่อฝากแช่เนื้อหมูเเช่เเข็งบางส่วน โดยที่ทั้งคู่ยังหลบหนีอยู่ที่ต่างประเทศ ก่อนยินยอมประสานขอเข้ามอบตัวกับดีเอสไอในวันที่ 14 พ.ย.ผ่านการเดินทางด้วยอากาศยานมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 13.30 น.จากนั้นดีเอสไอได้เข้าควบคุมตัวตามหมายจับของศาล พร้อมแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ก่อนนำตัวมาสอบปากคำที่ห้องสอบสวน
พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ได้รับมอบตัว 2 ผู้ต้องหาเรียบร้อยแล้ว โดยทั้งคู่มีพฤติการณ์สั่งให้บริษัทชิปปิ้งเอกชนนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน 33 ตู้ จากทั้งหมด 161 ตู้ที่เราได้อายัดไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2564 และเบื้องต้นทั้งคู่ให้ความร่วมมือดีในการจะให้รายละเอียดที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนรายละเอียดเชิงลึกต้องรอคณะพนักงานสอบสวนสอบปากคำเสร็จสิ้นก่อน และยอมรับว่าดีเอสไอพบพยานหลักฐานในคดีว่าทั้งคู่มีการส่งเนื้อหมูต่างประเทศเหล่านี้ไปที่ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ชื่อดังจริง ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ยึดของกลางจากห้องเย็นแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร จำนวน 75 ตัน หรือ 75,000 กิโลกรัม ก็จะใช้ในการสอบปากคำเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารู้เห็นว่ามีการสั่งให้นำเข้าหมูเถื่อนผ่านชิปปิ้งเอกชน ซึ่งตามพยานหลักฐาน พบว่าไปเกี่ยวข้องกับชิปปิ้งเอกชนประมาณ 3-4 บริษัท ซึ่งดีเอสไอจับกุมไปแล้ว และที่สำคัญทั้งคู่ต้องรู้ด้วยว่าเมื่อนำเนื้อหมูเข้ามาแล้วจะมีการส่งมอบหรือจำหน่ายหมูในล็อตดังกล่าวไปที่ใดบ้าง ส่วนประเด็นเรื่องห้องเย็นที่สองพ่อลูกเข้าไปเช่าในการแช่เนื้อหมูเถื่อนนั้น มีประมาณ 2-3 แห่ง ทั้งนี้ สำหรับยอดเงินหมุนเวียน เบื้องต้นพบจำนวนหลักหลายร้อยล้านบาท และตนขอเรียนว่ากลุ่มนายทุนไม่ได้มีเพียงสองพ่อลูกคู่นี้แน่นอน ยังมีอีกและบางส่วนจะมีความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าเนื้อหมูเองและเป็นผู้สั่งนำเข้าเองหรือรับหน้าที่เป็นชิปปิ้งเอง กล่าวง่ายๆ คือ เป็นทั้งนายทุนและชิปปิ้ง
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า ส่วนเรื่องข้อกล่าวหาสำหรับนายวิรัช และนายธนกฤต ในฐานะที่เป็นกลุ่มนายทุนหมูเถื่อน ได้ถูกแจ้งข้อหา โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นและนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกา กร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 มาตรา 244 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวอีกว่า สำหรับคำให้การของสองพ่อลูกในวันนี้ จะนำไปสู่การขยายผลถึงกลุ่มบุคคลที่มีการจำหน่ายหมูไปยังที่ใดบ้าง ประการต่อมาก็คือจะทำให้ดีเอสไอรู้ว่ากลไกการดำเนินการขั้นตอนการนำหมูเข้ามาภายในประเทศ ไทยอย่างไร และจากหลักฐานที่เราตรวจค้นได้ทั้งเส้นทางการเงินและวิธีการรูปแบบการนำเข้าหมูเถื่อน รวมถึงความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ เราขอเวลาในการทำงานเพื่อพิสูจน์ทราบให้ครบ บางส่วนในรายละเอียดเหล่านี้จะต้องใช้สอบปากคำอย่างละเอียดเช่นเดียวกัน ส่วนการจะอนุญาตให้ประกันตัวในขั้นสอบสวนวันนี้หรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของคณะพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชน ดีเอสไอได้ออกหมายจับรวม 10 ราย จับกุมได้แล้ว 6 ราย ส่วนอีก 4 รายอยู่ระหว่างหลบหนีอยู่ในประเทศไทย จะเร่งติดตามจับกุมตัวต่อไป
ส่วนเรื่องการประสานงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในเรื่องของการยึดทรัพย์สินนั้น พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า เรื่องการประสานงานกับ ปปง.เป็นขั้นตอนตามกฏหมายอยู่แล้ว เพราะความผิด 2 ข้อหา ที่สองพ่อลูกถูกแจ้งนั้น ถือเป็นความผิดมูลฐานของการฟอกเงิน และเราได้แจ้ง ปปง.ประสานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องเส้นทางการเงินและเรื่องทรัพย์สิน ซึ่ง ปปง.รับเรื่องแล้วจะดำเนินการอายัดทรัพย์สินต่างๆ และเท่าที่ตนได้รับคำตอบจาก ปปง.ทราบว่าภายในเดือนนี้ ส่วนทรัพย์สินทั้งหมดคาดว่าอยู่ภายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวต่อว่า ดีเอสไอต้องตรวจสอบขยายผลอีก เพราะการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยว ข้องไม่ต่ำกว่า 10 รายนั้น ส่งผลให้มีขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนเกิดขึ้น และยืนยันว่าดีเอสไอไม่ได้ดำเนินการล่าช้าเพราะข้อมูลละเอียดบางส่วนเป็นข้อมูลเชิงลึกในคดี บางเรื่องไม่สามารถนำมาเปิดเผยต่อพี่น้องสื่อมวลชนได้ แต่ในข้อเท็จจริง คณะพนักงานสอบสวนมีการรายงานเป็นขั้นตอนอยู่แล้ว
ด้าน พ.ต.ต.ณฐพล ดิษฐธรรม หัวหน้าพนักงานสอบสวน กล่าวว่า สำหรับขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน จริงๆแล้วดีเอสไอสืบสวนสอบสวน และทราบทั้งหมดแล้วว่าบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง และเมื่อจับกุมได้ครบ ใครจะให้ปากคำอย่างไรก็ตามถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหา แต่ดีเอสไอทราบเส้นทางการเงินและการทำธุรกรรมทั้งหมดแล้ว สำหรับกรณีของสองพ่อลูกที่เป็นนายทุนหมูเถื่อนนั้น ทั้งคู่รับหน้าที่เป็นนายทุนให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช และบริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด โอนจ่ายค่าตู้คอนเทเนอร์ในอัตราประมาณ 15,000 บาทต่อตู้ รวมจำนวน 33 ตู้ และจากการตรวจค้นที่ผ่านมา พบพยานหลักฐาน พยานเอกสารที่บ่งชี้ชัดเจนว่าทั้งคู่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีที่มีการรายงานว่าทั้งคู่เป็นผู้จัดส่งเนื้อหมูให้ศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบขายส่ง สินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ชื่อดัง เราก็จะตรวจสอบและขยายผลเช่นเดียวกัน
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า เมื่อควบคุมตัวทั้งสองพ่อลูกได้แล้ว คณะพนักงานสอบสวนจะสอบถามว่าสินค้าที่มีการสั่งเข้ามา หรือเนื้อหมูต่างๆ ได้ดำเนินการส่งไปยังใครอีกบ้าง เนื่องจากทั้งคู่ทำธุรกิจลักษณะนี้มาก่อนแล้ว อีกทั้งในช่วงที่หมูระบาดเมื่อปี 2564-2565 เกิดเหตุการณ์หมูขาดแคลน แต่กลับมีการสั่งเนื้อหมูจากต่างประเทศเข้ามาในไทย และสำแดงเท็จเป็นเนื้อปลาแช่เเข็ง หรือบางครั้งก็สำแดงเป็นพลาสติกพอลิเมอร์ เพราะถ้าสำแดงเป็นเนื้อปลาแช่แข็ง ผู้ประกอบการก็จะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และสามารถผ่านช่องกรีนไลน์ (Green Line) ได้เช่นเดียวกับพลาสติกพอลิเมอร์ แต่ถ้าสำแดงเป็นเนื้อหมู จะต้องผ่านช่องเรดไลน์ (Red Line) และเมื่อนำเข้ามาแล้วก็จัดเก็บไว้ตามห้องเย็นต่างๆในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นต้น ซึ่งถ้าหากห้องเย็นใดเต็มแล้ว ก็จะนำไปฝากแช่ไว้ที่อื่นแทน
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า กรณีของสองพ่อลูก ดีเอสไอพบว่ามีการนำเนื้อหมูส่วนต่างๆไปแช่ไว้ที่ห้องเย็น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท แอล อาร์ ห้องเย็น จำกัด ถ.ธรรมคุณากร ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จึงตรวจยึดเนื้อหมูได้ 75 ตัน หรือ 75,000 กิโลกรัม ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ของกรมปศุสัตว์ ส่วนห้องเย็นอีกแห่ง อยู่ใกล้กับห้องเย็นแห่งนี้ ห่างเพียง 5 กิโลเมตร จากนี้ดีเอสไอก็จะมีการเข้าตรวจค้นเช่นเดียวกัน แต่ขอละเว้นการเปิดเผยรายละเอียดไว้ก่อน
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ต้องหาในกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชนที่ได้มีการออกหมายจับไป 3 บริษัท จำนวน 4 รายนั้น คาดว่าไม่เกินวันพรุ่งนี้ (15 พ.ย.) ดีเอสไอจะสามารถได้ตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาสอบปากคำขยายผลต่อไป อีกทั้งสิ้นเดือน พ.ย.นี้ คณะพนักงานสอบสวนเตรียมขอศาลออกหมายค้นและออกหมายจับอีก 2 บริษัท ซึ่งมีบทบาทเป็นทั้งบริษัทชิปปิ้งเอกชนและนายทุน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่ดีเอสไอได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับกลุ่มบริษัทชิปปิ้งเอกชนเพิ่มเติมอีก 3 บริษัท ประกอบด้วยบุคคล 4 ราย คือ 1.นายพิเชฐ แซ่ซี (บริษัท ซี เวิรล์ โฟรเซ่น ฟูด จำกัด) 2.นายโกญจนาท ศรมยุรา (บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด) 3.นายสมนึก กยาวัฒนกิจ (บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด) และ 4.นายวีรศักดิ์ กิตนัทธี (ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์) ในความผิดฐานนำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 จะถูกคุมตัวมาสอบปากคำในวันที่ 15 พ.ย.นี้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี