สกสว.จัดระดมความเห็น การประเมินเพื่อการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ สกสว. ร่วมระดมความเห็น “การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเชิงกระบวนการเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการทุนในระบบ ววน.” ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความเห็น หรือ Developmental Evaluation Forum (DE Forum) ในหัวข้อ “การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเชิงกระบวนการ เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการทุนในระบบ ววน.” เพื่อสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการนำผลการประเมินเชิงกระบวนการรวมถึงข้อเสนอแนะเพื่อการ พัฒนาและการประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) และเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่การออกแบบแนวทางการใช้การประเมินเพื่อการพัฒนาระบบ ววน. (Next Steps of DE) โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุน ววน. ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กรรมการติดตามและประเมินผลฯ ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการติดตามและประเมินผลฯ และ ผู้ทรงคุณวุฒิระบบ ววน. ตลอดจนผู้บริหาร สกสว. และ หน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความเห็น
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล กล่าวว่า สกสว.มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ ตลอดจนการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกองทุนส่งเสริม ววน. และการประเมินการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบ ววน. ที่ผ่านมา สำนักติดตามและประเมินผล สกสว. ในฐานะ เลขานุการของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุน ววน. ได้ทำการประเมินผลการ ดำเนินงานเชิงกระบวนการ (Process Evaluation) ของหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2565 โดยใช้หลักการประเมินเพื่อการพัฒนา (Developmental Evaluation) ไม่ใช่เป็นการประเมินให้คุณ ให้โทษ ซึ่งมีแนวทางประเมินแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ด้านความสามารถในการดำเนินงานได้ตามแผน ทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การส่งมอบผลผลิตและผลสัมฤทธิ์ตามตัวชี้วัด (OKRs) รวมถึงตัวอย่างผลงานที่สร้างผลลัพธ์และผลกระทบ ส่วนที่ 2 ด้านกระบวนการทำงาน (Process Evaluation) ซึ่งพิจารณากระบวนการบริหารจัดการงานวิจัยตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและมีความโปร่งใส
ที่ผ่านมา สำนักติดตามและประเมินผล สกสว. ได้ดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานเชิงกระบวนการของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ได้รับการสะท้อนผล (Feedback) และนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ และ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ภายใต้โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการงานวิจัยด้านระบบสุขภาพ 2 โครงการ อีกทั้งได้จัดประชุมสะท้อนผลการประเมินเชิงกระบวนการดังกล่าวให้แก่หน่วยบริหารและจัดการทุนอีก 6 แห่ง ได้แก่ (1) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) (2) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) (3) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) (4) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) (5) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน (บพค.) และ (6) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) เช่น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เครือข่ายทางสังคมผ่านการเก็บข้อมูล ซึ่งสามารถนำมาเสนอรูปแบบของแผนภาพและช่วยให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือองค์กรเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการทำงาน และความต้องการของแต่ละองค์กร หรือบุคคล
สำหรับการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความเห็น ครั้งนี้ เป็นการประชุมสะท้อนผลการประเมินเชิงกระบวนการ อีกครั้ง โดยการเสวนา “ประสบการณ์การใช้ Developmental Evaluation เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการทุนในระบบ ววน.” ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุน ววน. นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผูู้อำนวย สวรส. รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. ซึ่งดำเนินการเสวนาโดย ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการ สำนักติดตามและประเมินผล สกสว.
ทั้งนี้ สกสว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อคิดเห็นจากการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนที่ได้ จะนำไปสู่การพัฒนาและออกแบบการทำงานให้หน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) เดิม 7 แห่ง รวมถึงหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ อีก 2 แห่ง คือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) ที่อยู่ระหว่างเลือกประเด็นที่จะพัฒนา เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี