กทม. จัดทําแผนปฏิบัติการฯ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า
โดยที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่ 10-14 ปี และ 15-19 ปี โดยอัตราคลอดต่อจำนวนประชากรหญิงกรุงเทพมหานครอายุ 10-14 ปี (วัยรุ่นตอนต้น) ต่อ 1,000 คน ในปี พ.ศ. 2561-2565 มีแนวโน้มต่ำกว่าอัตราคลอดต่อจำนวนประชากรหญิงประเทศไทย และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดี โดยมีเป้าหมายให้มีอัตราคลอดของแม่วัยรุ่น อายุ 10-14 ปี ไม่เกิน 0.5 ต่อ 1,000 ประชากรหญิง อายุ 10-14 ปี ภายในปี 2570 สำหรับอัตราคลอดต่อจำนวนประชากรหญิงกรุงเทพมหานครอายุ 15-19 ปี (วัยรุ่น ตอนปลาย) มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน โดยกำหนดเป้าหมายอัตราคลอดของแม่วัยรุ่น อายุ 15-19 ปี ไม่เกิน 15 ต่อ 1,000 ประชากร หญิงอายุ 15-19 ปี ภายในปี 2570
นอกจากนี้ ฝ่ายเลขานุการได้เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2566-2570 โดยมีวิสัยทัศน์ คือ วัยรุ่นและครอบครัวในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีความรู้ด้านเพศวิถีศึกษา สามารถเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ตามมาตรฐาน และได้รับสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้ 4 ประเด็นพัฒนา ได้แก่ 1.การป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเชิงรุก 2.การพัฒนาระบบบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร 3.การบูรณาการการให้ความช่วยเหลือแบบไร้รอยต่อ และ 4.การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมอนามัยได้มีการจัดทํา (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2570 และจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีมติมอบหมายสํานักอนามัยเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทําแผนปฏิบัติการฯระดับ กทม. โดยอ้างอิงจากแผนปฏิบัติการฯระดับชาติ ทางสำนักอนามัยจึงได้จัดประชุมภาคีเพื่อจัดทําแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2566-2570 และประชุมกลุ่มย่อยกับหน่วยงานกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกําหนดนิยามตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย โดยวันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดังกล่าว และฝ่ายเลขานุการจะนำข้อสังเกตและข้อชี้แนะจากคณะอนุกรรมการไปปรับแผนให้เหมาะสมและเสนอประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาต่อไป
อีกทั้งที่ประชุมได้นำเสนอกลไกการช่วยเหลือวัยรุ่นของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้จัดทำกระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพและการสงเคราะห์วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ (ก่อน และ/หรือ หลังคลอด) โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้สำนักพัฒนาสังคมปรับเพิ่มในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความครอบคลุม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี