"ศุภมาส"ลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคเหนือ ชูอัตลักษณ์พื้นถิ่น เชื่อมโยงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อม น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. , รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ รมว.กระทรวง อว.โดยมี ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้บริหาร มช.และ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศ ให้การต้อนรับ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการนำเสนอนิทรรศการผลงานความสำเร็จภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Corridor) นวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอนหุ่นยนต์และการเขียนโปรแกรมของอีซี่คิดส์หรือชุดหุ่นยนต์ 3 in 1 Easykids Robot kids ขึ้น ซึ่งเป็นชุดหุ่นยนต์ฝึกทักษะการเขียนโปรแกรม 3 ภาษาคอมพิวเตอร์ 3 ระดับ ในหุ่นยนต์ชุดเดียว Block-Based Programming - Python - C/C++ สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย เป็นต้น
ทั้งนี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ นำเสนอภาพรวมกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ว่า การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในช่วงปี 2556 - 2566 ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวง อว.ส่งผลให้เกิดการกระจายการเข้าถึงเพื่อนำงานวิจัยและเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ มีการจัดกิจกรรมด้าน ววน.ไปแล้วกว่า 35,000 กิจกรรม มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 530,000 คน ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบเทคโนโลยีรายใหม่มากกว่า 1,000 ธุรกิจ เกิดการจ้างงานกว่า 50,000 อัตรา สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศมากกว่า 56,000 ล้านบาท สามารถผลิตผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 1,355 ผลงาน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในทุกปี โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ถึง 14 เท่า กล่าวคือเงินลงทุนในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 1 บาท สร้างผลตอบแทนคืนให้กับเศรษฐกิจไทย 14 บาท
จากนั้น น.ส.ศุภมาส ให้นโยบายว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ช่วยส่งเสริมการกระจายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับประชาชน ในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ถือเป็นการกระจายโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. สู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมและสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่ภูมิภาคอย่างมหาศาล เกิดการจ้างงาน เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรม เกิดการพัฒนาของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่เติมเต็มอยู่อย่างต่อเนื่อง
"ที่สำคัญ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีจุดเด่นในการการเชื่อมโยงอัตลักษณ์พื้นถิ่นซึ่งสามารถที่จะเชื่อมโยงกับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลได้อย่างดี และมีการส่งเสริมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Corridor) ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและการค้าของประเทศ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่บนฐานนวัตกรรม" น.ส.ศุภมาส กล่าว และว่า
กระทรวง อว.ให้ความสำคัญกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและพร้อมจะผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้อุทยานวิทยาศาสตร์มีบทบาทนำในการจัดทำแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อกระจายความเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยในทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกบริการที่สำคัญในภูมิภาคอาเชียนและระดับโลกด้วยการ "ใช้นวัตกรรมนำประเทศ" อย่างเป็นรูปธรรม
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี