ในทุกวันนี้ เราจะพบว่า “ความมูเตลู” นั้นกระจายอยู่ทั่วทุกแห่งในสังคมเมือง อาทิ สี่แยกใหญ่ใจกลางเมืองอย่างแยกราชประสงค์ที่เป็นศูนย์รวมของเทพเจ้าต่างๆ ที่คนไทยและต่างประเทศนิยมมากราบไหว้ขอพร กระแสความนิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวัตถุมงคลเพิ่มขึ้นและขยายตัวตลอดเวลาในช่วงกว่าทศววรรษที่ผ่านมา เกิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์หน้าใหม่ๆ อาทิ พญานาค พญาครุฑ ท้าวเวสสุวรรณ พระราหู ตลอดจนไอ้ไข่ และครูกายแก้ว ฯลฯ มีช่องทางรวบรวมและอัปเดต “เทรนด์สายมู” ในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโหราศาสตร์ เครื่องลางของขลัง หินนำโชค น้ำมันเสริมเสน่ห์ ผ้ายันต์ของทีมฟุตบอลระดับโลก ตีหวยเลขทะเบียนรถนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องแปลก เช่น ปลาช่อนสีทอง จอมปลวกรูปเหมือนพญานาค
“ไสยศาสตร์งอกงามในสังคมเมือง เกิดอะไรขึ้น ทำไมผู้คนเข้าหาและพึ่งพิงไสยศาสตร์ ผู้คนกำลังแสวงหาอะไรหรือรู้สึกอย่างไรในสังคมนี้” ผศ.ดร.กัญญา วัฒนกุล ศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬางกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นและเป้าหมายของการเสวนา “เคลือบแคลง ย้อนแย้ง แสวงหา : ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง ในงานอักษรศาสตร์สู่สังคม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมา โดยมี ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมแสดงทัศนะเพื่อทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งเสริมวิถีปฏิบัติต่อสิ่งเหนือธรรมชาติในบริบทเมือง จึงนำมาสรุปประเด็นได้ดังนี้
ไสยศาสตร์อยู่เหนือความงมงาย ในอดีตไสยศาสตร์ไม่ใช่สิ่งงมงาย สิ่งลี้ลับหรือมนต์ดำ หากแต่เป็นศาสนาและความเชื่อที่มีองค์ประกอบเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ความวิเศษ การท่องมนต์และพิธีกรรม ในโลกทัศน์สมัยใหม่ หลักคิดแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) ได้ถูกนำมาใช้ ดังนั้นไสยศาสตร์ จึงตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์ ไสยศาสตร์จึงกลายเป็นเรื่องงมงาย เหลวไหล ไม่น่าเชื่อถือ และไสยศาสตร์ยังตรงข้ามกับพุทธศาสน์ แต่ถึงโลกสมัยใหม่ผลักไสยศาสตร์ให้เป็นคู่ตรงข้าม หน้าที่และความหมายของไสยศาสตร์ในพื้นที่ชีวิตและจิตวิญญาณของคนยังคงเดิม ซ้ำทวีความสำคัญในบริบทสังคมเมือง หน้าที่ของไสยศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่คือ spiritual exercise แม้ผู้คนมีความรู้และความเข้าใจเชิงเหตุผล มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเข้าใจความเป็นจริง แต่บางครั้งความจริงก็ไม่ตอบโจทย์ทางอารมณ์ “ไสยศาสตร์แม้จะไม่เมคเซ้นส์ (make sense) แต่ก็ทำให้อุ่นใจ”
บทบาทไสยศาสตร์ในสังคมชนบทและเมืองต่างกัน ไสยศาสตร์ดำรงอยู่ในวิถีชนบทและบริบทเมือง ตอบโจทย์และตอบสนองเป้าหมายและความต้องการของผู้คนต่างกันในสังคมชนบท ไสยศาสตร์รับใช้ “ความเป็นชุมชน”(collective) ในขณะที่ชุมชนเมือง ไสยศาสตร์ตอบสนอง “ความเป็นปัจเจกชน”
ไสยศาสตร์ ตัวช่วยรับมือโลกป่วนและบริหารความเสี่ยงเมื่อใดที่เป็นยุคยุ่งเหยิงและโกลาหลที่สุด ในยุคนั้นก็จะเกิดระบบ mysticism หรือความเชื่อเหนือธรรมชาติมากมาย นั่นหมายความว่าในยามที่บ้านเมืองปั่นป่วน ชีวิตไม่นิ่ง ผันผวนและมีความไม่มั่นคง สังคมเมืองวุ่นวาย มนุษย์จะเข้าหาสิ่งที่คิดว่านิ่งที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่เมือง ที่เจริญทางวัตถุแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมความเชื่อและวิถีปฏิบัติเชิงไสยศาสตร์ที่หลากหลายด้วย
ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของเมือง ความเหลื่อมล้ำสูง ผู้คนจำนวนมากสมัยก่อนกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นแรงงานในเมือง (blue collar)จะเป็นกลุ่มที่พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด แต่ในทุกวันนี้white collar ก็พึ่งพิงไสยศาสตร์เช่นกัน กลุ่มคนที่อาชีพดูมั่นคงก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต ภายใต้สภาพเศรษฐกิจและสังคมยุคนี้ ไสยศาสตร์ก็อาจจะช่วยให้อยู่กับความไม่รู้และความไม่แน่นอนได้
ไสยศาสตร์เติมความหวังในโลกทุนนิยม ในบรรดาความปั่นป่วนไม่แน่นอนของสังคม มิติด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเดินเข้าสู่พื้นที่ของไสยศาสตร์มากที่สุด ไสยศาสตร์ในสังคมเมืองเน้นตอบสนองความต้องการและเป้าหมายเชิงปัจเจก วนเวียนอยู่กับเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวย ความสำเร็จ มิติความรักความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมืองในโลกทุนนิยมแสวงหา การแก่งแย่งชิงดี การสั่งสมความมั่งคั่งตามกระแสทุนนิยม ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ต้องแสวงหาความเชื่อ พลังเหนือธรรมชาติเพื่อบันดาลในสิ่งที่ปรารถนา
ไสยศาสตร์ปลอบประโลมความเหงาของคนเมืองเมืองหลวงมีผู้คนจากทั่วประเทศและประเทศใกล้เคียง หลั่งไหลเข้ามาหาโอกาสในการทำงาน การที่อยู่ห่างไกลบ้าน ทำให้ “ไสยศาสตร์” ทำหน้าที่เป็น “ที่พึ่งทางใจ” และ “สิ่งยึดเหนี่ยว” ให้อยู่ในสังคมเมืองอันโกลาหล การขอพรเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ ครอบครัว เป็นสิ่งที่เด่นชัดมากในวิถีของคนเมือง ในเมืองผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยว ก็อยากจะมีคู่ (เพื่อคลายความโดดเดี่ยว) และไสยศาสตร์พยายามตอบโจทย์ภาวะทางความรู้สึกนี้
มูเตลูฉบับโมเดิร์น ความที่เมืองเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม จึงเกิดชุดความเชื่อ วิถีปฏิบัติย่อยๆ และวัตถุทางความเชื่อมากมายและหลากหลาย เทพเจ้าและผีตนใหม่ๆ ปรากฏขึ้นเรื่อยๆมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและภูมิหลังอันหลากหลายความเชื่อมีวิธีปฏิบัติบางอย่าง จิตวิญญาณติดมากับตัวเอง พอมาเจอกันในบริบทเมือง ย่อมนำไปสู่ผสมผสานก่อให้เกิดเป็นความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติใหม่ๆขึ้นมา นำไปสู่การเติบโตของความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณรูปแบบใหม่ๆ และคนเมืองนิยมเรียกชุดความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ว่า “สายมู” หรือ “มูเตลู” ทำให้เรื่องนี้ดูทันสมัยขึ้นลดความลี้ลับหรือความมืดดำ (ดาร์ค)
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ อยู่กับมูเตลูด้วยความเข้าใจไสยศาสตร์ มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ แต่แม้จะไม่เชื่อ คำพูดที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็ช่วยเปิดพื้นที่ให้ไสยศาสตร์และความเชื่อเหนือธรรมชาติอยู่ได้ และขยายตัวในสังคม คำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”ก็ดูเหมือนจะช่วยเปิดพื้นที่ให้คนได้ทดลอง “ถ้าไม่เสียหายไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรม ก็น่าจะลองดู” และทำให้คนที่เชื่อและไม่เชื่อ อยู่ร่วมกันได้บนพื้นที่ของความเชื่อที่ต่างกัน
ชนิตร ภู่กาญจน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี