นายกฯจ่อถก รมว.อุตสาหกรรมแก้ไข ก.ม.คุมโรงงานพลุฯทั่วไทย เร่งเยียวยาเหยื่อ 23 ราย ด้านตร.พิสูจน์อัตลักษณ์ศพได้แล้ว 15 รายขณะ “กัญจนา” มอบเงินช่วยครอบครัวเหยื่อ-ส่งเสียนร.ที่สูญเสียทั้งพ่อ-แม่จนจบ ป.ตรี ด้าน’สมศักดิ์’ มอบ 5 กระทรวงคุมโรงงานพลุ ปรับแก้ไขประกาศ-ป้องกันเหตุซ้ำ ขีดเส้น 7-10วัน ต้องส่งกลับ ก่อนเคาะส่งนายกฯ
เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเหตุโรงงานพลุดอกไม้ไฟระเบิด ในพื้นที่หมู่ 3 ต.ศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งแรงระเบิดรุนแรงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าขณะนี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเฉพาะเรื่องของการเยียวยาซึ่งขึ้นอยู่กับ พม.
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเกิดขึ้นบ่อย แต่เราต้องทำในเรื่องของผู้ที่เสียชีวิตก่อน ต้องได้รับการเยียวยาที่ถูกต้อง รวมทั้งการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต คืนร่างให้กับญาติพี่น้อง เข้าใจว่าขณะนี้สามารถพิสูจน์ได้แล้วประมาณ 15 ราย และจะทยอยดำเนินการต่อไป เรื่องนี้เป็นระยะสั้นที่ต้องดำเนินการไปก่อน ส่วนที่ต้องแก้ไขเรื่องกฎหมาย ก็ต้องไปดูกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะประเทศไทย มีโรงงานพลุจำนวนมาก จึงสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปจัดการเรื่องนี้ให้ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่าควรจะให้โรงงานผลิตพลุทุกขนาด อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือไม่ เพื่อจะได้มีมาตรฐานในการดูแล นายกฯ กล่าวว่า มันมีกฎที่ต้องควบคุมดูแลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่แล้ว แต่อย่างที่พูดกันว่าโรงงานที่เกิดเหตุเป็นโรงงานขนาดเล็ก ก็คงต้องไปพูดคุยกับรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ว่าตามข้อเท็จจริงแล้วมีการขยายพื้นที่ของโรงงานหรือไม่ เพราะถ้าเป็นโรงงานใหญ่ขนาดนี้ ควรจะต้องยกให้เป็นโรงงานที่มีอันตรายและต้องอยู่ภายใต้การควบคุม
ที่ วัดโรงช้าง ต.ศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุโรงงานพลุระเบิด ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้มีการให้บริการของเจ้าหน้าที่ พม. เรื่องเยียวยา ดูแลสภาพจิตใจ ให้คำปรึกษาและด้านกฎหมาย โดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กล่าวว่า สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ร่างผู้เสียชีวิตได้ทั้งหมด 15 ศพ วันเดียวกันนี้จะเร่งดำเนินการให้ครบทั้ง 23 ศพ แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเสร็จทันหรือไม่ เนื่องจากขึ้นอยู่กับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่อย่างช้าที่สุดคาดว่าไม่เกินวันที่ 20 มกราคมนี้
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบที่เกิดเหตุมีการเก็บพยานหลักฐานไว้ครบถ้วนแล้ว หลังจากเข้าพื้นที่ได้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งต้องนำหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุทั้งหมดมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ เกี่ยวกับเรื่องสารเคมีต่างๆ เพื่อพิสูจน์ทราบสาเหตุของการเกิดระเบิด แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะทราบผลเมื่อไร เนื่องจากขั้นตอนการตรวจสอบต้องใช้เวลา แต่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน ญาติของผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ ยังคงอยู่ในอาการโศกเศร้า โดยบริเวณที่ตั้งศพ ยังคงมีญาตินั่งเฝ้าอยู่ไม่ห่าง บางครอบครัวสูญเสียญาติพร้อมกันไปอย่างกะทันหัน จึงทำใจไม่ได้ ซี่งบริเวณจุดเกิดเหตุนับตั้งแต่ช่วงเช้า มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และยังคงปิดกั้นไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตเองก็ยังไม่ได้เข้าไปประกอบพิธีเชิญวิญญาณผู้เสียชีวิตด้วย
ส่วน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) พม.กล่าวว่า ในวันที่ 23 มกราคมนี้ ซึ่งจะครบ 7 วันของเหตุการณ์ดังกล่าว พม.จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้ครอบครัวผู้สูญเสีย และในนามตัวแทนของมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา จะมอบเงินให้กับ 17 ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 23 ราย เพราะบางครอบครัวมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ราย โดยจะมอบให้ครอบครัวละ 20,000 บาท เท่าที่ทราบข้อมูลเบื้องต้น มีเด็กเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน สูญเสียทั้งพ่อและแม่ ประมาณ 4 ราย ดังนั้นมูลนิธิฯ จะช่วยสนับสนุนทุนการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯพร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง และคณะ แถลงภายหลังประชุมแนวทางการบริหารจัดการการอนุญาตให้ทำ และค้าดอกไม้เพลิง การเยียวยา และแนวทางการแก้ไขในอนาคต โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปการแก้ปัญหา โดยจะบูรณาการทำงานไม่ให้เกิดเหตุระเบิดขึ้นอีก ส่วนเรื่องการเยียวยาจะดำเนินการเรื่องการออกใบมรณบัตรให้ครบทุกรายในวันเดียวกันนี้ นอกจากนี้จะให้คำปรึกษาเรื่องผู้จัดการมรดก เพราะเงินหรือทรัพย์สินที่จะได้จากหน่วยงานต่างๆ แต่ละรายจะได้ไม่เท่ากัน หากบางคนมีบุตรที่ยังเรียนอยู่ อายุไม่เกิน 25 ปี อาจจะได้เงินอีก 5 หมื่นบาท หรือบางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว อาจจะได้เพิ่มประมาณ 3 หมื่นบาท
สำหรับการบูรณาการกฎหมาย ว่าจะแก้ปัญหาในอนาคตอย่างไรนั้น เนื่องจากระยะหลัง เหตุโรงงานพลุระเบิดเกิดขึ้นทุกปี จากการตรวจสอบพบว่าหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง มี 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ประกาศที่ออกมาเป็นประกาศรวม ที่ประชุมจึงเห็นควรให้มีการปรับประกาศของทั้ง 5 กระทรวง และมีมติมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ไปดูประกาศและจัดทำร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ว่าโรงงานประเภทที่มีกำลังน้อยกว่า 50 แรงม้า หรือคนงานน้อยกว่า 50 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายในการควบคุมของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปปรับร่างกฎหมายว่าจะควบคุมอย่างไรให้สอดคล้องความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้เวลา 7-10 วัน ให้ส่งกลับมาที่ตน เพื่อจะเสนอต่อนายกฯ ในการพิจารณาต่อไป
เมื่อถามว่าจะมีการหารือกับกระทรวงแรงงาน ในการพิจารณาทำประกันชีวิตให้คนงานในโรงงานพลุหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เคยคุยแล้ว แต่จะฝากผู้เกี่ยวข้องไปดูว่าจะขัดกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ หรือไม่ อย่างไร
ด้านนายณัฐพล กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกี่ยวกับโรงงาน โรงประกอบการ สถานที่จำหน่ายและสถานที่เก็บ ว่าต้องมีลักษณะอย่างไร รวมถึงการกำกับดูแลต่างๆ เป็นไปตามประกาศตั้งแต่ปี 2547 รองนายกฯ จึงดำริให้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทั้ง 5 กระทรวง จะเร่งดำเนินการตามมติที่ประชุม ส่วนการปรับ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 ปัจจุบันจะครอบคลุมเฉพาะโรงงานเกิน 50 คน และเกิน 50 แรงม้า ซึ่งขณะนี้ในประเทศมี 8 โรงงานที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ส่วนอีก 42 โรงงานไม่ได้อยู่ในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม การจะเข้าไปตรวจสอบ จึงต้องร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าตรวจสอบ 42 โรงงาน ที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ควบคุมไม่ถึง
ส่วนนายสมชัย กล่าวว่า กรมการปกครอง รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งพลุเป็นส่วนประกอบของดอกไม้เพลิง นอกจากนี้ยังมีอนุบัญญัติเกี่ยวกับดอกเพลิงหลายฉบับที่กำหนดการจัดเก็บพลุ รวมถึงมีหนังสือสั่งการจากกระทรวงมหาดไทย กำชับไปยังนายอำเภอ ให้ตรวจสอบสถานที่จำหน่าย สถานที่จัดเก็บ และโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง ซึ่งจากข้อมูลของกรมการปกครอง มีผู้ขออนุญาต จำหน่าย ผลิต นำเข้า ดอกไม้เพลิง 1,200 กว่าแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าเฉพาะฤดูกาล ส่วนโรงงานผลิตมีจำนวนน้อยมาก ได้มีหนังสือสั่งการไปยังนายอำเภอ ให้ออกตรวจตราตามอนุบัญญัติที่ออกตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมกับประกาศของ 5 กระทรวงข้างต้น ส่วนที่จะต้องปรับปรุงต้องดูปัจจัยหลายเรื่อง ทั้งจำนวนสารเคมี ระยะห่างจากชุมชน เป็นต้น
จากข้อมูลของหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) พบว่าในส่วนของโรงงานพลุที่ระเบิดในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ในส่วนของโรงงานมีหลายสัดส่วน ทั้งส่วนการผลิต ครัวทำอาหาร รวมถึงที่จัดเก็บสารเคมีในการทำพลุ ทั้งหมดอยู่ในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ อาทิ พัดลม เครื่องปรับอากาศ อยู่ในบริเวณดังกล่าว จึงอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยพิสูจน์หลักฐาน แต่มองว่าในบริเวณที่เกิดเหตุไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้อยู่ โดยจะให้นายอำเภอ เข้าตรวจสอบทุกแห่งที่มีการทำพลุ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน บางที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพราะคิดว่าใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผลิตพลุ ขณะที่โรงงานขนาดเล็กกฎหมายก็เอื้อมไม่ถึง ก็ต้องไปแก้กฎหมาย ส่วน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการแก้ไข ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาตและการเพิ่มบทลงโทษ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี