ปลัด มท.เปิดอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น รุ่นที่ 4 เน้นย้ำ ร่วมกันสนองพระราชปณิธานฯ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" มีใจรุกรบมุ่งมั่นทำหน้าที่ "ครูจิตอาสา" ไปผลิตครู ข เพื่อช่วยกันสร้างความรักและความกตัญญูกตเวที ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในทุกพื้นที่ ทำให้ผืนแผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินแห่งความสุขอย่างยั่งยืน
วันนี้ (30 ม.ค.67) เวลา 09.00 น.ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการศึกษาอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 4 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ ดร.ลักษิกา เจริญศรี ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางวันเพ็ญ มังศรี นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ นายภคพัส ส่งวัฒนายุทธ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางสาวเบญจวรรณ มีเผือก หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ และผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจากจังหวัด 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และสมุทรสงคราม จำนวน 85 คน ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณคุณครูวิทยากรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ผู้เป็น "สามทหารเสือจิตอาสา" ในการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด ช่วยให้สังคมไทยเกิดความตื่นตัวและเกิดการเรียนรู้ เกิดสิ่งที่ดีที่เราเรียกว่า ครูประจำชุมชนหรือครูประจำท้องถิ่นที่เป็นจิตอาสาไปช่วยกันทำให้ลูกหลาน ผู้คนทั่วไป ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน ดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งมั่นแน่วแน่ในการ "สืบสาน รักษา และต่อยอด" พระราชปณิธานแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้คนไทยไม่ลืมกำพืด ไม่ลืมชาติกำเนิด และไม่ลืมประวัติศาสตร์ความเป็นมา อันมีนัยว่า เราจะไม่ลืมบรรพบุรุษผู้เสียสละของเรา ซึ่งในทางศาสนาพุทธหมายความว่า เราจะไม่ลืมความกตัญญูกตเวทีที่ถือเป็นเบื้องต้น เพื่อส่งผลให้เบื้องต่อไป คือ เราจะมีความรักและความหวงแหนในแผ่นดินไทย เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของบรรพบุรุษไทยที่เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อที่จะรักษาผืนแผ่นดินผืนสุดท้ายที่เป็นแผ่นดินไทยให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้อาศัยอยู่อย่างมีความสุข
"ความกตัญญูกตเวทีในเบื้องต้นและเบื้องกลางจะนำไปสู่การผลักดันที่ทำให้พวกเราทุกคนในที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเสียสละมาเป็นจิตอาสา สมดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านทรงอยากเห็นคนไทยมีจิตใจเสียสละ เป็นจิตอาสา โดยมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ เพื่อเชิญชวนให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงคำว่า "จิตอาสา" ช่วยกันบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์กับสังคมและผู้อื่น โดยหลังจากนี้ทุกท่านที่ผ่านการทดสอบการฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น นับตั้งแต่การอยู่ร่วมกัน 3 วัน 3 คืน ตลอดจนการทบทวน ซึมซับ รับรู้ เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เราเคยรู้อยู่แล้ว และบางเรื่องที่ยังไม่รู้มาก่อน อันจะเป็นประโยชน์และเป็นความทรงจำ ทำให้พวกเราสามารถนำเอาไปใช้สืบทอด ขยายผล เพื่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน กับพี่น้องประชาชนในตำบล/หมู่บ้าน ตลอดจนการตั้งวงสนทนาพูดคุยให้กับลูกหลานที่อยู่ในวัยเรียนได้มีโอกาสรับรู้รับทราบ เกิดความรักความสามัคคี เกิดความกตัญญู เสริมสร้างพลังแห่งความรักประเทศและผืนแผ่นดินอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ช่วยกันทำให้คนในบ้านเมืองนี้ไม่ลืมกำพืดของตนเอง ก็จะทำให้ประเทศนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่รับรู้เรื่องราวของบรรพบุรุษของพวกเราชาวไทย บังเกิดสิ่งที่เรียกว่าความกตัญญูกตเวที และร่วมการสืบทอดเจตนารมณ์การดูแลรักษาประเทศนี้ให้มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้นไป" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกเราสามารถทำได้มากมายหลายวิธี เริ่มตั้งแต่ทำหน้าที่ของตนเองและหน้าที่ต่อครอบครัวให้ดี จากนั้น คือ การทำหน้าที่ต่อประเทศชาติ ซึ่งต้องอาศัยหัวใจและความมุ่งมั่นตั้งใจ โดยประยุกต์นำเอาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่การค้นคว้า สืบหาหลักแห่งการดับทุกข์ตามหลักของธรรมชาติ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คนที่เป็นบัวพ้นน้ำ คือ การโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผู้มีจิตอาสาในการหาแนวทางการจะดับทุกข์ แล้วไปแผ่ขยายสาขา ทำให้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาได้รับการขยายไปทั่วแคว้นดินแดนชมพูทวีป และดินแดนอันไกลโพ้น เฉกเช่นเดียวกันกับพวกเราทุกคนที่จะนำเอาองค์ความรู้ไปช่วยกันขยายผลทำให้เกิด "ครู ข" โดยมี "ผู้นำ" คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปเชื้อเชิญผู้มีจิตอาสา มีใจรักชาติเสียสละเพื่อชาติ มีสติปัญญา มาช่วยพูดคุยถ่ายทอด เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกับสังคมของเรา ร่วมกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มุ่งมั่นแน่วแน่ทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งไม่ว่าพวกเราจะอายุเท่าไหร่ ทำอาชีพอะไร ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือผู้คนทั้ง 85 คนที่อยู่ ณ ที่แห่งนี้ ท่านมาด้วยความเสียสละ ด้วยความสมัครใจที่จะได้กลับไปช่วยกันทำในสิ่งที่ดี ช่วยกันทำให้องค์ความรู้เรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของบ้านท่าน ได้รับการเผยแพร่ ขยายไปสู่พี่น้องในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน โดยมีผู้นำชุมชนและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาทั้งในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงศึกษาธิการ จะได้ไปช่วยกันขับเคลื่อนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงตรัสในหลายครั้งหลายคราว่า “ประเทศไทยจะต้องมีผู้มีความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย อันจะทำให้ประเทศชาติมั่นคงได้ เพราะวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยจะทำให้เรารู้รากเหง้า ที่มาที่ไปของบรรพบุรุษของเรา และจะได้รู้สิ่งที่หาได้ยากในปัจจุบัน นั่นคือ ความภาคภูมิใจและความกตัญญูกตเวที”
"ขอให้ทุกท่านจงมั่นใจว่า "วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย" จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง ทำให้ผู้คนได้รู้รักสามัคคี เกิดความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอน หล่อหลอมจนเป็นผู้มีจิตอาสาดูแลครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ ยังประโยชน์ให้ให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอฝากความหวังไว้กับผู้เข้ารับการศึกษาอบรมทุกคน ไปร่วมกันเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ใช้โอกาสในชีวิตไปถ่ายทอดพูดคุย โดยอาจจะเป็นลักษณะสภากาแฟ พูดคุย บอกเล่า ทำให้วงสนทนาเป็น "ห้องเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย" ตลอดไปจนถึงการไปทำหน้าที่เป็นวิทยากรจิตอาสาบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ขณะเดียวกันท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัดต้องผลักดันส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกสังกัดในพื้นที่จังหวัดได้มีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยมีวิทยากรผู้ผ่านการศึกษาอบรมเหล่านี้ เป็นครู ก ไปบอก ไปเล่า ไปสร้าง ครู ข ทั้งผู้เป็นครูบาอาจารย์ ตลอดจนถึงผู้ปกครอง และนักเรียนทุกคน เพราะทุกท่านเป็นความหวังของชาติ ผู้ที่ต้องทำให้คนไทยได้รู้จักและภูมิใจในคุณค่าของความเป็นไทย มีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ช่วยกันทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย และมีจิตใจรุกรบในการทำหน้าที่ "ผู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น" เพื่อประเทศชาติสืบไป" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า การศึกษาอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทรงงานและการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาปรับใช้ให้เป็นวิถีในการดำเนินชีวิต เป็นผู้มีจิตอาสา จิตสาธารณะ เสียสละ เอื้อเฟื้อแบ่งปันแก่ผู้อื่น มีค่านิยมของการเป็นผู้มีจิตสำนึกรักและหวงแหน มุ่งจงรักภักดี พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดจนนำความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอด ขยายผล เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ตามบริบทของภูมิสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน โดยได้รับความอนุเคราะห์คณะครูผู้ทรงคุณวุฒิจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานมาบรรยายให้ความรู้ทางวิชาการ การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนการทดสอบเพื่อวัดมาตรฐานของผู้เข้ารับการศึกษาอบรม โดยมีผู้เข้ารับการศึกษาอบรมโครงการฯ รวม 18 รุ่น จำนวน 2,180 คน โดยจะฝึกอบรมระหว่างวันที่ 8 มกราคม - 18 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ทั่วประเทศ
"สำหรับการศึกษาอบรมในครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 4 มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 85 คน ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 5 วัน โดยผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เสาหลักและหลักการดำรงอยู่ได้ของชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทย ความเสียสละของบูรพมหากษัตริย์ไทยในยุคกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ และพระราชประวัติ พระบุญญาธิการ พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนจะมีการเสริมทักษะการสอนในแต่ละหัวข้อของผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอด ขยายผล พบปะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกันในการพัฒนาเครือข่ายในลักษณะการทำงานเป็นทีม นำไปสู่การขับเคลื่อนและสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ตามบริบทของภูมิสังคมและสร้างความรักความสามัคคีในพื้นที่อย่างยั่งยืน" ร้อยตรี สรมงคลฯ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี