น.ส.ขนิษฐ์ หว่านณรงค์ ผอ.กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาระบบให้น้ำทุเรียนพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน โดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ได้พัฒนาเทคโนโลยีการให้น้ำสำหรับระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) เพื่อเป็นพลังงานทดแทนทางการเกษตรควบคุมปริมาณการให้น้ำต่อวันตามความต้องการของพืชอย่างแม่นยำ เพราะในปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลง อีกทั้งยังสามารถใช้ในแปลงที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง โดยระบบให้น้ำทุเรียนพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะไม่ต้องลงทุนสร้างหอสูงวางถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ และสามารถปรับใช้กับทุกสภาพการดำเนินการทางการเกษตร ถ้าเปลี่ยนชนิดพืช ระยะปลูก ภูมิภาค ก็สามารถทำได้ง่าย
รูปแบบเทคโนโลยีนี้ควบคุมการจ่ายน้ำด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว Arduino Mega 2560 และเขียนโปรแกรมควบคุมด้วยภาษา Matlab Simulink เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ และยังลดต้นทุนในการสร้างหอสูงโดยจะใช้ถังน้ำขนาดเพียง 200 ลิตร ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นไปเก็บไว้ และยังไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่มากเพื่อใช้ในการสูบน้ำจากสระ ช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ระบบให้น้ำพลังแสงอาทิตย์อัจฉริยะได้นำไปใช้ควบคุมการให้น้ำแปลงทุเรียนในแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา ซึ่งปลูกทุเรียน 1 ไร่ 24 ต้น ระยะปลูก 8x9 เมตร สามารถควบคุมการให้น้ำทุเรียนได้อย่างถูกต้อง โดยระบบควบคุมด้วยสมองกลฝังตัวจะควบคุมการทำงานของวาล์วไฟฟ้าให้จ่ายน้ำครั้งละ 50 ลิตร ส่วนจำนวนครั้ง ขึ้นอยู่กับความต้องการน้ำของทุเรียน ในภาคปฏิบัติถ้าแสงแดดเพียงพอจะให้น้ำอย่างต่อเนื่อง ถ้าแสงแดดน้อยก็จะหยุดการให้น้ำ และจะกลับมาให้น้ำใหม่เมื่อแสงแดดเพียงพออีกครั้ง การให้น้ำทุเรียนตามความต้องการของทุเรียนในแต่ละวัน จะใช้ข้อมูลจากการทดลองของนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะต่างกันไปตามช่วงอายุของทุเรียน และช่วงพัฒนาการของทุเรียน ตั้งแต่การเตรียมต้นจนการเก็บเกี่ยวและจะต่างกันตามภูมิภาค
“ระบบให้น้ำทุเรียนพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะ เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหาการจัดการน้ำในการเกษตร ซึ่งจะส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกรมวิชาการเกษตร มีแผนการนำระบบให้น้ำทุเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ในพื้นที่การเกษตรอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำและพลังงานในการเกษตรเป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจสีเขียว ตามโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน (BCG Economy Model)” ผอ.กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี