"ผู้พิพากษา-อัยการ-นักวิชาการ-ทนายความ"ร่วมเวทีเสวนา"สิทธิผู้ต้องหา-จำเลย ในการได้รับความช่วยเหลือจากทนายความขอแรง" ชี้เป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และนโยบายประธานศาลฎีกา หลักความ"เท่าเทียม"พัฒนาประสิทธิภาพทนายขอแรงให้ดียิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง “สิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในการได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ” มีการเสวนาถึงสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งบางคนยังไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมายอย่างไร สิทธิที่มีอยู่นั้นดีพอและเพียงพอแล้วหรือไม่ ทนายความที่รัฐจัดหาให้สามารถช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย รวมไปถึงประชาชนได้มากน้อยเพียงใดมีประสิทธิภาพคุณภาพดีพอหรือไม่ เปรียบเทียบระบบของไทยกับต่างประเทศจะมีพัฒนาการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากทนายความของประชาชนอย่างไรให้ดีขึ้น บทบาทของศาลและอัยการ
ในการช่วยเหลือประชาชน ผู้ต้องหาและจำเลยเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้อย่างเสมอภาคและเที่ยงธรรมภายใต้หลักนิติธรรมซึ่งศาลยุติธรรมตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผู้ต้องหาและจำเลยให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันภายใต้หลักนิติธรรม ศาลยุติธรรมจึงจัดให้มีการพัฒนาระบบทนายขอแรงเพื่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง สอดคล้องกับนโยบายประธานศาลฎีกานางอโนชา ชีวิตโสภณ ข้อ 3 “เท่าเทียม” ศาลยุติธรรมอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยมีผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ และนักวิชาการร่วมเสวนา
ดร.พรภัทร์ ตันติกุลานันท์ รองเลขานุการศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าวว่า สิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในการต่อสู้คดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานนสำคัญ แต่ผู้ต้องหาและจำเลยจำนวนมากยังไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว ซึ่งได้แก่ 1.สิทธิในการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย 2.สิทธิที่รัฐต้องจัดหาทนายความมาให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย 3.สิทธิในการมีทนายความที่มีประสิทธิภาพในการช่วยผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้คดี
ศาลยุติธรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของสิทธิผู้ต้องหาและจำเลยในการต่อสู้คดี จึงมีการส่งเสริมพัฒนาระบบทนายขอแรง ซึ่งจะมีการพัฒนาในเรื่องต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าสู้ตำแหน่ง การทำหน้าที่ ผลงาน การอบรม การประเมินการทำหน้าที่สำหรับใช้ประกอบการต่ออายุการขึ้นทะเบียนทนายขอแรงในรอบถัดไป ซึ่งอาจจะพิจารณาโดยมีต้นแบบจากระบบการขึ้นทะเบียนผู้พิพากษาสมทบ ผู้ประนีประนอมประจำศาลอนุญาโตตุลาการ ผู้เชี่ยวชาญของ
ศาลยุติธรรมเป็นแม่แบบ และการกำหนดคุณสมบัติของทนายความที่จะมาทำหน้าที่โดยแยกความเชี่ยวชาญการทำคดีแต่ละประเภท สอบวัดความรู้ จัดอบรม ประเมินการทำหน้าที่ทนายขอแรงจากผู้พิพากษา ผู้ต้องหาหรือจำเลย จะส่งผลให้ประชาชนผู้ต้องหาและจำเลยสามารถใช้สิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เห็นว่าปัญหาหลัก คือ ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ทนายความขอแรงที่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ซึ่งทนายความที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในการต่อสู้คดีได้อย่างแท้จริง ควรจัดให้มีการพัฒนาระบบทนายขอแรงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ มีแนวคิดเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยกำหนดให้รัฐจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนด้วย
นายวิพล กิติทัศนาสรชัย ผอ.สำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่าผู้ต้องหาและจำเลยควรได้รับสิทธิในการจัดหาทนายความเข้าช่วยเหลือการต่อสู้คดีตั้งแต่ในชั้นสอบสวนซึ่งจะทำให้สำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่ต้องส่งต่อมายังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาประกอบพยานหลักฐานว่าจะส่งฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือไม่นั้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในประเทศไทยควรนำหลัก “Pro Bono” มาใช้ คือ หลักการทำงานโดยเน้นประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง โดยให้ทนายความทำหน้าที่ให้บริการทางกฎหมายซึ่งเป็นการอาสาสมัครโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ ถือเป็นการให้บริการทางสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
ดร.สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกากล่าวว่า เยอรมันนีใช้ระบบไต่สวน ศาลเข้ามามีบทบาทในการค้นหาความจริง ไม่ใช่พิจารณาเพียงแต่พยานหลักฐานที่คู่ความแต่ละฝ่ายนำเสนอ โดยศาลอาจเรียกให้พยานมาสืบเองก็ได้อย่างไรก็ตามทนายความก็ยังมีบทบาทในการเข้าไปทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในการต่อสู้คดีซึ่งยังคงเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานที่สำคัญซึ่งเหมือนกับที่กฎหมายของประเทศไทยกำหนดเรื่องสิทธิดังกล่าวไว้เช่นกัน แต่ประเทศไทยจะกำหนดสิทธิในการมีทนายความหรือการที่รัฐต้องจัดหาทนายความให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้เพียงแต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาลและคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือคดีที่มีอัตราโทษจำคุกเท่านั้น ตามปวิ.อาญา มาตรา 173 ศาลยุติธรรมคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในการต่อสู้คดีเป็นอย่างยิ่ง จึงเห็นควรให้มีการพัฒนา ปรับปรุงระบบทนายขอแรงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องมีมาตรฐานในการทำหน้าที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการอบรม ทดสอบความรู้ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ การเก็บข้อมูล ประวัติในการทำคดี การประเมินผลงานของทนายขอแรง เพื่อให้ผู้ต้องหา หรือจำเลย รวมไปถึงประชาชนได้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง
ผศ.ดร.เบญจวรรณ ธรรมรัตน์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเห็นว่า ทนายขอแรงได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่น้อย แต่มีภาระค่าใช้จ่ายในการทำคดีสูง ถ้าได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่สูงขึ้น อาจเป็นแรงจูงใจให้ทนายความเข้ามาทำหน้าที่ทนายขอแรงมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมและการพัฒนาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเฉพาะด้านนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญซึ่งทำให้ทนายความที่จะเข้ามาทำหน้าที่ทนายขอแรงนั้นทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี