สพฐ.กางปฏิทินรับ‘ม.1และม.4’ ยันตรวจสอบเข้ม ไร้‘ใต้โต๊ะ’แลกที่นั่งเรียน
6 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศปฏิทินรับนักเรียน และนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2567 โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) และ ม.4 วันที่ 9-13 มีนาคม นี้
ทั้งนี้ สพฐ. มอบอำนาจให้กรรมการเขตพื้นที่การศึกษา กรรมการสถานศึกษา และโรงเรียน เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ เพราะต้องการกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีความเข้มแข็ง เพราะเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียน จะรู้รายละเอียดว่าสามารถรับนักเรียนได้กี่คน เพิ่มห้องเรียนได้จำนวนเท่าไร แต่ทั้งหมดจะต้องไม่เกินเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนด ส่วน สพฐ. จะทำหน้าที่ให้แนวทางในการดำเนินการ ส่วนหลักการจะให้โรงเรียนและกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้ตัดสินใจ และจะเข้าไปช่วยเฉพาะกรณีที่มีปัญหาจริง ๆ เท่านั้น
“สพฐ.พร้อมรับนักเรียนปี 2567 มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการทุจริต หรือการเรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียนอย่างแน่นอน เพราะมีหน่วยงานตรวจสอบเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ทั้งหน่วยงานภายนอก ที่คอยเฝ้าระวัง รวมถึงผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษา ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เชื่อว่าจะไม่ยอมให้เสียชื่อเสียงอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงไม่กังวล แต่ถ้าโรงเรียนใดมีปัญหา สพฐ.ก็พร้อมเข้าไปช่วยแก้ไข” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว
เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการจัดสอบครูผู้ช่วยตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว16) และในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ว17) นั้น ขณะนี้ สพฐ. ได้จัดทำปฏิทินการสอบ รวมถึงจัดทำตัวชี้วัดการประเมินการสอบสัมภาษณ์ ภาค ค ตามที่ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มอบหมายมาเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ที่มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เป็นประธาน พิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ หลังจากการสอบครูผู้ช่วย ว16 และว17 เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป ว14 และสอบผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ตามลำดับ โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ. สำรวจอัตราว่างก่อนประกาศรับต่อไป
“การสอบครูผู้ช่วยปีนี้ สพฐ. จะเป็นผู้บริหารจัดการข้อสอบเอง จากเดิมมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่ เป็นผู้ดำเนินการ โดยจะมอบให้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เป็นผู้ออกข้อสอบ ซึ่งใครที่มีคุณสมบัติครบ ก็ขอเตรียมความพร้อมอ่านหนังสือเตรียมสอบ ที่สำคัญอย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างว่า ช่วยให้สอบได้ เพรา สพฐ.จะคัดเลือกมหาวิทยาลัยที่เป็นกลาง ได้รับการยอมรับเพื่อให้การจัดสอบเป็นไปด้วยความโปร่งใส และไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี