มท.1 มอบผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเตรียมการรับพายุฤดูร้อน ป้องกันความสูญเสียชีวิตทรัพย์สินประชาชน เผย บกปภ.ช.ร่วมกับกรมอุตุฯ คาดกลาง ก.พ.- มี.ค. อากาศร้อนจัดเพิ่มโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมแรง ลูกเห็บตก
7 กุมภาพันธ์ 2567 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้มีข้อสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมและจัดให้มีแผนเผชิญเหตุสำหรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน ปี 2567
ทั้งนี้ เนื่องจาก บกปภ.ช. ได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงกลางเดือน ก.พ. และ เดือนมี.ค. จะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ร้อนจัดเป็นบางวัน ขณะที่บางช่วงมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปะทะกับมวลความร้อนที่ปกคลุมประเทศไทย ทำให้เกิดอายุฤดูร้อนได้ โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน จะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง บางแห่งจะมีลูกเห็บตก ซึ่งภาวะดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอันตราย ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินประชาชนได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและลดผลกระทบต่อประชาชน ในด้านการเตรียมความพร้อมนั้นให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับกำชับให้ผู้มีหน้าที่ในแต่ละระดับ เร่งตรวจสอบอาคาร สถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้างรวมถึงไม้ยืนต้นตามที่สาธารณะ หากพบว่าไม่อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงต้องเร่งแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าดำเนินการซ่อมแซม ตลอดจนให้เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ ทรัพยากรเครื่องจักรสาธารณภัย เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที
นอกจากนี้ ในคำสั่งยังได้กำชับในเรื่องการให้ความรู้ประชาชนให้ทราบถึงแนวปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย อาทิ การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของที่พัก การป้องกันอันตรายจากกรณีฟ้าผ่า และกรณีต้นไม้ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงล้มทับ รวมทั้งแจ้งช่องทางการขอรับความช่วยเหลือ ตลอดจนมาตรการในการดูแลประชาชน ช่องทางการสื่อสารต่างๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในด้านการเผชิญเหตุนั้น เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดวาตภัยจากพายุฤดูร้อน ให้ดำเนินการเร่งสำรวจความเสียหาย ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรณีที่บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้แบ่งภารกิจพื้นที่รับผิดชอบและบูรณาการหน่วยงาน เพื่อจัดทำปฏิบัติการเร่งเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร่งด่วน ส่วนกรณีที่เกิดป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้นหรือโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการแก้ไข ไม่ให้กีดขวางพื้นที่สาธารณะ และซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว และหากเกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรให้ อปท. และอำเภอร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายต่อไป
“ระยะนี้อยู่ในช่วงกำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูร้อน ท่านอนุทินมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงกำชับทุกจังหวัดให้เตรียมการทั้งด้านป้องกันและมีแผนดำเนินงานเมื่อเกิดเหตุขึ้น เพื่อให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามวงรอบธรรมชาติอย่างอายุฤดูร้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชนน้อยที่สุด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี