‘ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ’ชง 5 ข้อถึง‘บิ๊กต่อ’หวังยกระดับงานสอบสวน ด้าน‘ผบ.ตร.’ขีดเส้น 15 วัน เสนอแนวทางแก้วิกฤตขาดแคลนพนักงานสอบสวน ย้ำห้ามช่วยราชการ หากถูกร้องเรียนผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ
21 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ได้มีการจัดตั้ง “ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ” ขึ้นมา เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนางานสอบสวน และพนักงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยมี พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ เป็นประธานชมรม , พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ (ผู้ริเริ่มก่อตั้ง) , พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ , พล.ต.อ.วินัย ทองสอง , พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร , พล.ต.อ.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ , พล.ต.ท.วุฒิ วิทิตานนท์ และ พล.ต.ท.วสันต์ วัสสานนท์ เป็นที่ปรึกษา
ในส่วนของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย พ.ต.อ.ดร.มานะ เผาะช่วย , พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ , พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล , พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ นิตยวิมล , พล.ต.ต.เจนกมล คํานวล , พล.ต.ต.เศรษฐศักดิ์ ยิ้มเจริญ , พล.ต.ต.ดร.ศิริวัฒน์ ดีพอ , พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ , พ.ต.อ.กีรติ ตรีวัย , พ.ต.ท.ภูมิรพี ผลาภูมิ และผู้แทนจากกองบัญชาการที่มีอำนาจสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการบริหาร และคณะที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหางานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วน มีมติในเสนอมาตรการถึงท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดังนี้
1. เรื่องระบบตำแหน่งควบ สายงานสืบสวนสอบสวน โดยแบ่งเป็น “พนักงานสอบสวนปกติ” ที่มีการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เหมือนกับตำรวจสายงานอื่นทั่วไป และ “พนักงานสอบสวนตำแหน่งควบ” ที่มีตำแหน่งปรับระดับเพิ่มลดได้ในตัวเอง มีแท่งเลื่อนไหลตั้งแต่ระดับ รองสารวัตร ถึงระดับรองผู้บังคับการ โดยใช้การประเมินเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น
2. เรื่องการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกวดขัน ห้ามพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการในสายงานอื่น
3. เรื่องการเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนการทำสำนวนการสอบสวน โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน และการดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมได้อย่างมีเกียรติ โดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนที่รัฐจ่ายให้แก่ข้าราชการฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
4. เรื่องการแก้ไขคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 และระเบียบคำสั่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน
5. เรื่องการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำช่วยเหลือประชาชนและพนักงานสอบสวน ในการอำนวยความยุติธรรม เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนและพนักงานสอบสวนสอบถามปัญหา หรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน
พล.ต.อ.วุฒิชัย กล่าวว่า ในวันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2567) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจได้เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตลอดจนผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล , ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี , ผู้บังคับการกองอัตรากำลัง และผู้บังคับการกองทะเบียนพล เพื่อร่วมหารือและยื่นหนังสือถึงท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขและพัฒนางานสอบสวนตามมาตรการดังกล่าว เบื้องต้น ผบ.ตร. มีความยินดีและเห็นชอบกับมาตรการดังกล่าว โดยหลังจากนี้ชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหางานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับงานสอบสวน พัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานสอบสวน และแก้ไขปัญหาในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนต่อไป
“วันนี้ได้เข้ามาหารือร่วมกับ ผบ.ตร. พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหามีทั้งเรื่องของระบบตำแหน่งควบในสายงานสืบสวนสอบสวน การแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลน การเพิ่มเงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนให้เหมาะสม การแก้ไขคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 และระเบียบคำสั่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวน และการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำช่วยเหลือประชาชนและพนักงานสอบสวนในการอำนวยความยุติธรรม” พล.ต.อ.วุฒิชัย กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ผบ.ตร. มีแนวคิดและนโยบายในการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานสอบสวนให้มีเกียรติและศักดิ์ศรี ตามแนวทางที่ได้รับการเสนอให้แก้ไข ทั้งในเรื่องของการปรับเปลี่ยนตำแหน่งและค่าตอบแทนให้เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพนักงานสอบสวน รวมไปถึงการเรียกพนักงานสอบสวนที่มีคำสั่งในการช่วยราชการ ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่เดิม เพื่อเพิ่มกำลังพนักงานสอบสวนในแต่ละโรงพักอย่างเท่าเทียม หลังมีการร้องเรียนกรณีที่พบว่าแต่ละโรงพักมีจำนวนพนักงานสอบสวนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างไม่เต็มศักยภาพ
ขณะที่ พล.ต.ต.กมลเจน คำนวล ผู้บังคับการกองตรวจราชการ 8 สำนักงานจเรตำรวจ กล่าวว่า จเรตำรวจในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจปีที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนประมาณ 5,000 เรื่องซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพนักงานสอบสวนประมาณ 4,000 เรื่อง โดยส่วนใหญ่ได้รับการร้องเรียนในเรื่องของการไม่ได้รับความสะดวก หรือไม่มั่นใจว่าจะได้รับการบริการที่ดี จากพนักงานสอบสวน พร้อมกันนี้ แนวทางในเรื่องการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำช่วยเหลือประชาชนและพนักงานสอบสวน ในการอำนวยความยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยเสริมสร้างลดช่องว่างให้ประชาชนและพนักงานสอบสวนสามารถสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่สามารถกลับมาพึ่งพาพนักงานสอบสวน ในการขอความเป็นธรรมได้มากขึ้นในอนาคต
ด้าน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เปิดเผยว่าได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตพนักงานสอบสวนที่ถือเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมคือ ปัญหาการขาดแคลนพนักงานสอบสวน, การกำหนดตำแหน่งเลื่อนไหลให้พนักงานสอบสวน รวมทั้งเงินประจำตำแหน่งของพนักงานสอบสวน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันได้มีข้อสั่งการไปแล้วว่าได้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการในการเกลี่ยกำลังพล ไปช่วยในสถานีตำรวจที่มีปัญหา ไม่ให้ไปกระจุกอยู่ในกองบัญชาการหรือกลุ่มงานสืบสวน โดยสั่งการให้รายงานผลการดำเนินการที่เป็นตัวเลขจริง มายังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งตนเองจะตรวจสอบซ้ำอีกครั้งด้วย
ผบ.ตร. กล่าวว่า ในครั้งนี้ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 15 วัน เพื่อให้ตนเองสามารถดำเนินการได้ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ โดยจะต้องย้ำกำชับเรื่องการห้ามนำพนักงานสอบสวนไปช่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานของผู้ใดก็ตาม เพราะถือว่าเป็นการทำผิดตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 หากจะนำ พนักงานสอบสวนไปช่วยราชการจะต้องมีบุคคลมาทดแทน โดยข้อสั่งการนี้จะเน้นไปที่สถานีตำรวจโรงพักต่างๆ หากมีการร้องเรียนในลักษณะดังกล่าวจะถูกส่งมาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยตรง และผู้บังคับบัญชาจะถูกดำเนินมาตรการทางปกครอง 1212 ด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเสริมอัตราพนักงานสอบสวนอีก 900 คน โดยวานนี้ได้มีการเลือกตำแหน่งที่จะลงไปช่วยอีกประมาณ 300 ถึง 400 คน ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีกำลังในการผลิตบุคลากรในแต่ละปี จากที่ขาดแคลนอยู่ทั้งหมดประมาณ 2,000 คน รวมทั้งจะมีนโนบายให้นายตำรวจชั้นประทวนที่จบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ ให้ขึ้นทะเบียนรอการอบรมเป็นพนักงานสอบสวน หรือให้เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนก่อน เพื่อแบ่งเบาภาระให้พนักงานสอบสวนด้วยการมีผู้ช่วยที่มีองค์ความรู้ และผ่านการอบรมแล้วก็จะมีพนักงานสอบสวนเพิ่มขึ้น
ส่วนการเพิ่มแรงจูงใจให้กับพนักงานสอบสวนนั้น พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ยอมรับว่า ค่าตอบแทนยังคงน้อยเมื่อเทียบกับพนักงานอัยการหรือศาล โดยได้สั่งการให้ศึกษาเปรียบเทียบค่าตอบแทนเพื่อนำไปหารือกับคณะกรรมาธิการงบประมาณหรือสำนักงบประมาณเพื่อขอเพิ่มค่าตอบแทนให้กับพนักงานสอบสวน เช่น เพิ่มเพดานค่าตอบแทนของพนักงานสอบสวนจาก 20,000 ถึง 40,000 บาทให้มากขึ้นไปอีก
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี