“นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ทาง กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ได้ริเริ่มโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ซึ่งรู้จักกันในนามทุนเสมอภาค ซึ่งในงานนี้อาจกล่าวสลับไป-มาระหว่างทุนเสมอภาคกับนักเรียนยากจนพิเศษ โดยกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนพิเศษจะระบุด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม ที่เรียกว่า Proxy Means Test ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้ก็คือเพื่อที่จะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียน ของครัวเรือนของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์”
รศ.ดร.ภัททา เกิดเรือง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในการบรรยาย (ออนไลน์) หัวข้อ “ผลกระทบของเงินอุดหนุนเด็กยากจนพิเศษต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพ” จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงที่มาที่ไปของการศึกษาในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการศึกษา เป็นนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่ม “ยากจน” ซึ่งเข้าเกณฑ์ได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน
อย่างไรก็ตาม ในบรรดาเด็กกลุ่มนี้ก็ยังมีกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ยากจนพิเศษ” ซึ่งก็จะได้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเข้าไปอีกนอกจากเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน เรียกว่า“ทุนเสมอภาค” โดยเงื่อนไขของทุนเสมอภาคคือนักเรียนต้องมีอัตราการมาเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80-85 และมีน้ำหนัก-ส่วนสูงตามเกณฑ์การเจริญเติบโต ต่อมายังมีการเพิ่มเงื่อนไขเรื่องผลการเรียนเข้ามาด้วยอีกประการหนึ่ง
ทั้งนี้ เคยมีการประเมินผลโครงการโดยใช้ข้อมูลของช่วงปี 2562-2563 พบว่า เงินทุนเสมอภาคส่งผลให้การเติบโตของนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (เมื่อเทียบกับนักเรียนกลุ่มยากจน และนักเรียนกลุ่มไม่ยากจน) แต่ค่าประมาณการที่ได้มีน้อยมาก และพบว่าเป็นค่าที่ชัดเจนที่มีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา หรือช่วงอายุระหว่าง 12-14 ปี และเนื่องจากที่มีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมอีกในช่วงปี 2563-2565 การศึกษาล่าสุดจึงมีจุดประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสุขภาพว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มทุพโภชนาการ
ตัวชี้วัดการเจริญเติบโตนั้นจะใช้สิ่งที่เรียกว่า Anthropometric Measurement (ตัวชี้วัดในเชิงมานุษยวิทยา) เพราะใช้ง่ายและมีเกณฑ์เปรียบเทียบที่ชัดเจน เช่น เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรือของแต่ละประเทศ ประกอบด้วย 1.ส่วนสูงเทียบกับอายุ (Height-for-Age) เป็นการแสดงว่าภาวะโภชนาการในอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เช่น หากส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุก็แสดงว่าเด็กมีปัญหาภาวะเตี้ย ซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากการบริโภคในเดือนหรือในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เป็นผลจากการบริโภคในระยะยาว
2.น้ำหนักเทียบกับอายุ (Weight-for-Age) บ่งชี้ภาวะโภชนาการในระยะสั้นอาจบอกถึงการขาดสารอาหารหรือการเจ็บป่วยที่เป็นในระยะนั้น ตัวชี้วัดนี้จะบอกว่า อายุใดควรมีน้ำหนักเท่าใด และ 3.น้ำหนักเทียบกับส่วนสูง (Height-for-Weight) เป็นการวัดความสมส่วนของร่างกายโดยไม่นำเรื่องอายุมาพิจารณา สำหรับตัวชี้วัดนี้บางแห่งจะใช้คำว่า BMI (Body Mass Index : ดัชนีมวลกาย) ซึ่งจะมีค่าคำนวณที่ใกล้เคียงกัน โดยเป็นการเทียบระหว่างส่วนสูงเท่านี้กับน้ำหนักเท่านี้แล้วสรุปว่าเข้าข่ายผอมหรืออ้วนเกินไปหรือไม่
สำหรับกลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนที่ถูกระบุว่ามีสถานะความยากจน ระหว่างปีการศึกษา 2563-2565 จำนวน 893,805 คนคัดเลือกกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักช่วง 10-100กิโลกรัม และส่วนสูงช่วง 85-185 เซนติเมตร ตัดข้อมูลที่ไม่สมเหตุสมผลออกเช่น ในช่วง 3 ปี มีเด็กที่มีส่วนสูงลดลงหรือเพิ่มขึ้น 10 ซม./ปี หรือมีน้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ตัดข้อมูล Z-Scores ตามเกณฑ์มาตรฐาน คือ ส่วนสูงเทียบกับอายุ (ตัดกลุ่มต่ำกว่า -5 และสูงกว่า 3) น้ำหนักเทียบกับอายุ (ตัดกลุ่มต่ำกว่า -5 และสูงกว่า 5) น้ำหนักเทียบกับส่วนสูง (ตัดกลุ่มต่ำกว่า -4 และสูงกว่า 5)
การศึกษานี้แบ่งเป็น 1.ภาวะทุพโภชนาการ (กลุ่มอายุ 6-11 ปี) เช่น 1.1 เตี้ยแคระแกร็น (Stunting) พบสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทั้ง 3 กลุ่ม (ไม่ยากจน, ยากจน, ยากจนพิเศษ) แต่ที่เพิ่มมากอย่างมีนัยสำคัญคือกลุ่มยากจนพิเศษ จึงควรได้รับความช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่น อย่างไรก็ตาม ในด้านนี้มีข้อสังเกตจากทีมวิจัยว่า อาจเป็นเพราะระหว่างปี 2563-2565 มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งมีมาตรการปิดโรงเรียนในบางช่วง ทำให้การวัดอาจคลาดเคลื่อนได้ 1.2 ผอมเกินไป (Wasting) พบน้อยลงทั้ง 3 กลุ่ม แต่กลุ่มยากจนพิเศษก็ยังมีปัญหามากกว่ากลุ่มอื่น
1.3 น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน (Underweight) พบด้านนี้เพิ่มขึ้นทั้ง3 กลุ่ม แต่มีข้อสังเกตว่า ทั้งการเทียบส่วนสูงกับอายุ และเทียบน้ำหนักกับอายุ หากใช้เกณฑ์นี้จะพบปัญหา แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กนั้นอ้วนหรือผอมเกินไป หมายถึงเด็กมีรูปร่างเล็กหากเทียบกับเกณฑ์อายุ แต่หากเทียบน้ำหนักหรือส่วนสูงก็จะไม่ใช่ปัญหา และ 1.4น้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน (Overweight) และภาวะอ้วน (Obese) แม้จะพบเพิ่มขึ้นทั้ง 3 กลุ่ม แต่กลุ่มเด็กที่ไม่ยากจนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนกว่ากลุ่มอื่นๆ
2.ภาวะทุพโภชนาการ (กลุ่มอายุ 12-14 ปี) ไล่ตั้งแต่ 2.1 เตี้ยแคระแกร็น (Stunting) น่าสนใจว่า ในขณะที่เพศหญิงพบปัญหานี้ลดลงแต่เพศชายกลับพบมากขึ้น และเป็นแบบนี้เหมือนกันทั้งกลุ่มไม่ยากจน ยากจนและยากจนพิเศษ 2.2 ผอมเกินไป (Wasting) และน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน (Underweight) สำหรับกลุ่มไม่ยากจนกับกลุ่มยากจน หากเป็นเพศหญิงจะไม่พบความแตกต่างมากนัก
โดยกลุ่มยากจนพบมากกว่ากลุ่มไม่ยากจนเล็กน้อยในปี 2563 และพบใกล้เคียงกันช่วงปี 2564-2565 แต่หากเป็นเพศชาย พบมากขึ้นอย่างชัดเจนทั้ง 3 กลุ่ม อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม ยากจนพิเศษก็ยังพบมากกว่าอีก 2 กลุ่มที่ เหลือ และ 2.3 น้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน (Overweight) และภาวะอ้วน (Obese) มีแนวโน้มลดลงทั้ง 3 กลุ่ม แต่ในกลุ่มเด็กที่ไม่ยากจนจะลดลงน้อยกว่ากลุ่มอื่น
“สรุปข้อค้นพบจากการศึกษา” มีดังนี้ 1.นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ อายุ 6-11 ปี ก่อนได้รับเงินอุดหนุน พบมีภาวะทุพโภชนาการมากกว่ากลุ่มอื่น (กลุ่มไม่ยากจน และกลุ่มยากจน) แต่เมื่อได้รับเงินอุดหนุน พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น 2.อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มยากจนพิเศษ อายุ 12-14 ปี แม้ได้รับเงินอุดหนุนผลที่ออกมาก็ยังติดลบ หมายถึงน้ำหนัก-ส่วนสูง ไม่ได้เติบโตแบบสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่น และเงินอุดหนุนที่ได้อาจไม่เพียงพอ
3.การได้รับเงินอุดหนุนมากกว่า 1 ครั้ง (2563-2565) ดีกว่าได้เพียง1 ครั้ง (2563-2564) ซึ่งพบในนักเรียนระดับประถมศึกษา 4.นักเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลจากทุนเสมอภาคมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งต้องทำการศึกษาต่อไปว่ามีปัจจัยใดบ้าง 5.ทุนเสมอภาคทำให้ภาวะเตี้ยและน้ำหนักน้อยลดลงในกลุ่มอายุ 6-11 ปี แต่ก็ไม่ได้ลดลงมาก แต่ภาวะอื่นๆ ไม่ได้มีนัยสำคัญในทางสถิติ 6.ทุนเสมอภาคส่งผลเชิงบวกกับเด็กวัยประถมศึกษา (อายุ 6-11 ปี) โดยเฉพาะเรื่องของน้ำหนัก ซึ่งหมายถึงการเห็นผลในระยะสั้น ส่วนระยะยาวต้องเก็บข้อมูลมากกว่านี้ เช่น 3 ปีขึ้นไป
“การที่เขาได้รับทุนเสมอภาคมันจะส่งผลอย่างไรกับสุขภาพของเด็ก? ทางหนึ่งก็คือมันมี Income Effect (ผลกระทบด้านรายได้) ครัวเรือนอาจเอาเงินทุนนี้ไปใช้ในการบริโภคมากขึ้น แต่เนื่องจากทุนเสมอภาคให้ 1 ครั้งต่อ 1 ปี มันอาจไม่ได้มีผลที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค อีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือการที่เขาได้ทุนเสมอภาคและมีเงื่อนไขว่าต้องไปโรงเรียน เป็นไปได้ว่าการที่เขาต้องไปโรงเรียนทำให้เขาได้รับผลทางบวกจากการรับประทานอาหารที่โรงเรียน เช่น โครงการอาหารกลางวัน
เพราะฉะนั้นอันนี้ชี้ให้เห็นว่า การให้เงินเพื่อให้เด็กได้รับ ที่เฉพาะเจาะจงกับการบริโภคอาหารของเด็ก อาจส่งผลที่ตรงกับผลลัพธ์ทางสุขภาพมากกว่าการให้ไปยังครัวรือน เพราะการให้เงินไปยังครัวเรือน เราต้องไปดูว่าเขาใช้เงินทางด้านไหน ซึ่งเข้าใจว่างานในอดีตประเมินที่ผ่านมา พบว่าครัวเรือนจำนวนมากเอาเงินไปใช้ในการซื้อเสื้อผ้าเด็ก ซึ่งมันก็ดีตรงนี้เขาสามารถที่จะเอาเงินที่เมื่อก่อนอาจจะลดการบริโภคเรื่องเงินซื้อเสื้อผ้า กลายเป็นว่าเอาเงืนไปซื้อเสื้อผ้า และมีเงินเดิมเอามาใช้บริโภคอาหารได้” รศ.ดร.ภัททา กล่าว
รศ.ดร.ภัททา ยังกล่าวอีกว่า “เงินอุดหนุนจะมีผลต่อเมื่อไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ครัวเรือน” ดังนั้นทางเลือกในการพิจารณาคือ จะเพิ่มจำนวนเงินอุดหนุนหรือไม่? หรือจะเพิ่มเงินอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม? เช่น มีกลุ่มยากจนพิเศษในบางภูมิภาค ซึ่งการให้เงินอุดหนุนอาจไม่จำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขว่ามีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์เท่านั้น เพราะหากตั้งเงื่อนไขว่าเด็กต้องโตตามเกณฑ์ ก็อาจไม่ครอบคลุมเด็กที่ไม่โตตามเกณฑ์ และกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มยากจนกว่ากลุ่มอื่น
อนึ่ง ด้วยความที่งานศึกษาชิ้นนี้ใช้ข้อมูลที่คาบเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จึงอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ เช่น เด็กวัดส่วนสูง-ชั่งน้ำหนักเองแล้วส่งผลมาเพราะเวลานั้นโรงเรียนถูกสั่งปิดรวมถึงไม่สามารถทราบได้ว่า การมาโรงเรียนมีผลต่อสุขภาพอย่างไร หรือเงินที่ได้ถูกใช้ไปอย่างไรในช่วงที่ไม่ได้มาโรงเรียน!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี