"พ.ต.ต.ณฐพล"เผยสอบปากคำดุเดือด 10 ชั่วโมง ขณะที่สองผู้บริหารบริษัทเอกชน สารภาพจ่ายส่วยตู้หมูเถื่อนออกจากท่าเรือให้เจ้าหน้าที่กว่า 20 ราย รอนัดสอบเพิ่มอีก 20 ประเด็น มี.ค.-เม.ย.
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับแก่บุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดมายังราชอาณาจักรไทย ในคดีพิเศษที่ 127/2566
วันนี้ (1มี.ค.) ที่ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า จากผลการสอบปากคำผู้ต้องหา 2 ราย ซึ่งเป็นผู้บริหารของสองบริษัทเอกชน ซึ่งเมื่อวานนี้ ( 29 ก.พ.) ตนสอบปากคำรายแรกจนถึงเวลา 00.00 น. ขณะที่รายที่สองสอบปากคำเสร็จสิ้นราวๆ 21.00 น.
ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนค่อนข้างได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกอบธุรกิจภายในพื้นที่เขตปลอดอากร หรือ Free Zone ว่าดำเนินการอย่างไร เริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ. ใด และเรายังพบบัญชีส่วยที่กลุ่มผู้ต้องหาจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผู้ต้องหายังไม่ได้ให้การในส่วนนี้ โดยทั้งคู่ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก่อนได้รับการประกันตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนโดยการวางหลักทรัพย์ จำนวน 200,000 บาท แต่จะต้องเข้าให้การอีกครั้งในวันที่ 28 มี.ค. โดยจะต้องกลับไปรวบรวมพยานเอกสาร หลักฐานต่างๆ เพื่อกลับมาตอบ 20 ประเด็น ทั้งนี้ ยังเหลือผู้ต้องหาอีก 3 ราย ที่จะต้องเข้ามอบตัวและให้ปากคำ
ส่วนบทบาทของผู้บริการของทั้งสองบริษัทนั้น มีบทบาทในการทำสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Zone) โดยการนำเข้าเนื้อสัตว์ ชิ้นส่วนสัตว์แช่แข็งจากต่างประเทศแล้วนำมาไว้ในพื้นที่ปลอดอากร ก่อนส่งจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนรายหลังก็มีบริษัทของตัวเอง แต่ก็มาประกอบธุรกิจร่วมกันกับรายแรก จากนั้นก็มีการขออนุมัติจากกรมศุลกากรเพื่อประกอบธุรกิจ
พ.ต.ต.ณฐพล ระบุอีกว่า สำหรับการจ่ายส่วยของกลุ่มผู้ต้องหา เราพบจากการเข้าตรวจค้นบริษัทของพวกเขาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 และแม้ทั้งคู่จะยังไม่ได้ให้การ แต่มีการให้ถ้อยคำสารภาพถึงเรื่องการจะนำตู้ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จะต้องมีการจ่ายเป็นเงินสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน ไม่ต่ำกว่า 20 ราย มีทั้งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานบริเวณชายแดน และยังมีนักข่าวท้องถิ่น ตำรวจ และปลัด เป็นต้น โดยดีเอสไอจะต้องไปตรวจสอบว่ารายชื่อที่ปรากฏในบัญชีส่วยเป็นรายชื่อนามสกุลจริง มีตัวตนจริงหรือไม่ หรือว่าถูกแอบอ้างขึ้นมา เพราะมีการพฤติการณ์จ่ายเงินทั้งแบบเงินสดและจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร และเราได้ตรวจสอบแล้วว่าเจ้าของบัญชีธนาคารคือใครบ้าง
"เบื้องต้นพบว่ากลุ่มผู้ต้องหามีการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ อัตราเดือนละ 20,000 - 50,000 บาท และยังมีการจ่ายแบบเป็นรายตู้คอนเทเนอร์ ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าเราจะเชิญตัวกลุ่มเจ้าหน้าที่และบุคคลที่ปรากฏชื่อในบัญชีส่วยมาสอบปากคำในฐานะพยานทั้งหมด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา"พ.ต.ต.ณฐพล กล่าว
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า ภายในสัปดาห์นี้คณะพนักงานสอบสวนมีการนัดหมายประชุมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรถึงเรื่องการรับผิดชอบพื้นที่ปลอดอากร (Free Zone) อีกทั้งภายหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนได้ขยายผลมาอย่างต่อเนื่องในคดีพิเศษที่ 127/2566 จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหา 5 รายดังกล่าว ถือว่าเป็นกลุ่มที่ 2 และในคดีนี้เราจะมีกลุ่มผู้ต้องหากลุ่มที่ 3 เพิ่มเติมเข้ามาโดยเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ขณะนี้คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารข้อมูลซึ่งได้ขอจากกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เพื่อที่จะมาดูว่าการนำตู้คอนเทเนอร์ จำนวน 10,000 ตู้ เข้ามาในไทยและนำออกจากท่าเรือฯ มีขั้นตอนอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา น.ส.ชนิสรา ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีตีนไก่สวมสิทธิ ภรรยาของผู้บริหารของบริษัทเอกชนโดยมีพฤติการณ์เป็นหุ้นส่วน ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับดีเอสไอตามหมายจับศาลอาญาที่ 770/2567 และให้ปากคำกับพ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าพนักงานสอบสวนและคณะทำงาน
ต่อมาพบว่าเจ้าหน้าที่ชุดศูนย์สืบสวนสอบสวนสะกดรอยและการข่าว ดีเอสไอ ได้นำตัวนายภูวดล เข้าพบพนักงานสอบสวนและทำการสอบปากคำนานกว่า 4 ชม. น.ส.ชนิสรา ผู้ต้องหา ได้ให้การพนักงานสอบสวนเสร็จสิ้น และวางหลักทรัพย์เงินสด 200,000 บาท ขอประกันตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน พร้อมกับปฏิเสธทุกข้อหา ก่อนเตรียมเข้ารายงานตัวและให้ปากคำในประเด็นตกค้างอีกครั้งในวันที่ 1 เม.ย.
ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณฐพล หัวหน้าพนักงานสอบสวน ระบุว่า สำหรับกรณีของ น.ส.ชนิสรา เบื้องต้นผู้ต้องหาได้ให้ข้อมูลเรื่องกระบวนการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศมายังเขตปลอดอากร (Free Zone) ซึ่งเจ้าตัวให้การสารภาพเพียงแค่ว่าเป็นคนขอจดการจัดตั้งเขตปลอดอากร และขอจดสูตรในการทำพื้นที่ปลอดอากร ส่วนเรื่องบัญชีส่วยต่าง ๆ ผู้ต้องหาให้การว่าไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบประเด็นคำถามให้ น.ส.ชนิสรา กลับไปรวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารเพื่อมาให้ปากคำอีกครั้ง อาทิ สูตรอย่างยากสำหรับการทำสินค้าสำหรับพื้นที่ปลอดอากร การขออนุมัติกรมศุลกากรในการทำธุรกิจของบริษัท เอกสารเกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนและกรรมการบริษัทต่าง ๆ เอกสารการเงินย้อนหลังปี 64 - ปีจจุบัน เป็นต้น
พ.ต.ต.ณฐพล ระบุอีกว่า สำหรับประเด็นการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย พนักงานสอบสวนใช้คำถามคล้ายกันทั้งหมด เพราะทุกคนรู้จักกัน แต่ส่วนใหญ่ล้วนให้การปฏิเสธไม่ตอบคำถามเรื่องบัญชีการจ่ายส่วยกับเจ้าหน้าที่รัฐหลากหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ เมื่อเวลา 15.50 น. เจ้าหน้าที่ชุดศูนย์สืบสวนสอบสวนสะกดรอยและการข่าว โดยนายวุฒิไกร ศรีธวัช ณ อยุธยา ผอ.ส่วนสะกดรอยและการข่าว ได้ควบคุมตัวนายกิตติ ผู้ต้องหารายที่ 5 (รายสุดท้าย) เข้าพบและให้ปากคำตามขั้นตอนต่อไป
-001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี