กลุ่มศิลปิน"สตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล" เล่าย้อนจุดเริ่มต้นการทำงานศิลปะ สะท้อนหัวใจคนไทยรำลึกถึง"ในหลวง ร.9"
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 กลุ่มศิลปินผู้ดำเนินโครงการ “สตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล” นำโดย นายชวัส จำปาแสน ประธานโครงการ , นางภัทรา วิทยวีระชัย เลขานุการโครงการ , นายสรรเพชญ ศรีทอง โฆษกโครงการ ร่วมให้สัมภาษณ์ในรายการ “แนวหน้า Talk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ ซึ่งขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสานต่อที่พ่อทำ โดยกลุ่มดังกล่าวจะเดินทางไปทำงานศิลปะ สะท้อนความระลึกถึง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โดย นายชวัส เปิดเผยว่า สำหรับโครงการ สตรีทอาร์ต คิง ภูมิพล ต้องย้อนไปเมื่อปี 2561 หรือ 2 ปีหลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตนกับกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มวาดภาพพระองค์ท่าน ขนาด 2x2 เมตร ที่ ม.ศิลปากร ก็มีผู้สนใจมาชมผลงานเป็นจำนวนมาก แต่ก็เห็นว่าอยากทำภาพสตรีทอาร์ทที่ขนาดใหญ่กว่านี้ ต่อมาจึงเดินทางไปที่ อ.เบตง จ.ยะลา ไปพบกับ “โกเอ็ก” ผู้จัดหาศิลปินไปทำผลงานแนวสตรีทอาร์ต คราวนี้จึงได้วาดภาพบนผนังของตึก 3 ชั้น ขนาด 6x10 เมตร เป็นอาคารของโรงเรียน และตนเป็นผู้ลงมือวาดเพียงคนเดียว
“ใช้รถกระเช้าของเทศบาล เป็นแบบรถกระเช้าน้ำมัน แล้วก็เสียงดังมาก เราก็จะต้องใช้รหัสมือบอกให้เขาขยับ มีเวลาเพียง 4 วัน ทำเสร็จแต่ก็ยกแขนไม่ขึ้นเลย ผลออกมาดี เพราะผมไม่ใช่จะแค่วาดรูปภาพอย่างเดียว บันทึกวีดีโอด้วย ก็คือเราอยู่ในยุคที่มันเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คแล้ว เราต้องใช้ให้เป็น ก็จะมีผู้ช่วยมาตั้งกล้องถ่ายรูปให้ แล้วผมก็เอาวีดีโอเหล่านั้นมาตัดต่อเอง ใส่เพลง แล้วก็เขียนบทความว่าเรามีความรู้สึกอย่างไรที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 คลิปวีดีโอนั้นยอดคนดูไป 1.3 ล้าน วิว” นายชวัส กล่าว
นายชวัส กล่าวต่อไปว่า เมื่อคลิปวีดีโอผลงานสตรีทอาร์ต รำลึกถึงในหลวง ร.9 ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ถูกเผยแพร่ ก็มีความคิดเห็นจำนวนมากเข้ามาบอกว่าอยากให้ไปวาดที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง และมีความเห็นหนึ่งบอกว่าอยากให้ไปทุกจังหวัด ตนก็ตั้งมั่นว่าจะลองดู หากมีปัจจัยที่ทำให้ตนสามารถเดินทางไปทำผลงานศิลปะแบบนี้ได้อีกตนก็ยินดีที่จะไป แล้วค่อยมาดูกันว่าท้ายที่สุดแล้วจะไปได้ครบ 77 จังหวัดหรือไม่ โดยล่าสุดจนถึงปัจจุบัน วาดภาพบนผนังไปแล้ว 22 ภาพ ใน 22 จังหวัด
ทั้งนี้ ในปี 2565 - 2566 เป็นช่วงที่ทำผลงานได้มาก เพราะทางกลุ่มได้ไปเป็นพาร์ทเนอร์กับสำนักข่าวท็อปนิวส์ โดยทางท็อปนิวส์จะช่วยประชาสัมพันธ์และระดมทุนให้ ทำให้สามารถทำงานสตรีทอาร์ตได้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ตนต้องระดมทุนเองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ขายเสื้อบ้าง วาดรูปขายบ้าง กระทั่งในปี 2567 ทราบว่าทางท็อปนิวส์จะหันไปทำโครงการสนับสนุนเกี่ยวกับโรงพยาบาล ซึ่งพวกตนก็จะยืนต่อด้วยมูลนิธิสานต่อที่พ่อทำ
อนึ่ง โครงการนี้ตนต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมโดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักวาดภาพที่เชี่ยวชาญ เช่น ในการบูรณาภาพที่ 3 ที่ปิ่นเกล้า ซึ่งตนได้ออกแบบให้ทุกคนสามารถวาดภาพของตนเองได้ โดยมีลักษณะล้อมรอบรูปของในหลวง ร.9 เพื่อให้เป็นเหมือนว่าเราเป้นพสกนิกรตัวเล็กๆ ที่มาช่วยกันเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ไม่ใช่ทุกคนที่วาดภาพเก่ง แต่เมื่อผลงานออกมาแล้วก็ดูสวย ซึ่งหากนับจำนวนคนที่มาร่วมกิจกรรมแล้วก็น่าจะแตะ 100 คนได้ ที่แวะเวียนกันมา แต่อาจจะไม่ได้มากันทีเดียวทั้ง 100 คน
ขณะที่ นางภัทรา เปิดเผยว่า ตนเข้ามาร่วมโครงการ เพราะลูกสาวของตนเป็นลูกศิษย์ของนายชวัส และนายชวัสได้ให้โอกาสลูกสาวตนออกแบบผลงานของผนังที่ 11 ตนก็ต้องไปดูแลลูกด้วยเพราะลูกเพิ่งอายุ 9 ขวบ จากนั้นก็ได้มาอีกตอนผนังที่ 12 ซึ่งก็เห็นว่า นายสรรเพชญ เริ่มรับแขกไม่ได้ มีคนเอาสิ่งของมาสนับสนุนการทำงานเป็นจำนวนมาก เมื่อถามว่าประทับใจผลงานชิ้นใด ก็ต้องเป็นผนังที่ 11 ที่ จ.นครพนม เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นว่ากลุ่มศิลปินทำงานกันอย่างไร แล้วพอเห็นพ่อแม่พี่น้องเข้ามาให้กำลังใจ ตนก็รู้สึกอิ่มใจไปด้วย ทั้งที่เวลานั้นตนเพียงไปดูแลลูก
“ขนาดเราเพิ่งมาแค่ครั้งแรก แล้วทุกๆ ศิลปินที่เขาไปทุกๆ กำแพง เขาน่าจะมีกำลังใจแบบนี้มากๆ เขาถึงไปต่อได้โดยไม่เหนื่อย น้องลิตา (ลูกสาว) เขาดีใจ อย่างแรกเขาดีใจที่ครูอะไหล่ (นายชวัส) ให้โอกาสเขา แล้วเขาก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะมีโอกาสได้ทำอะไรบนกำแพงใหญ่ขนาดนี้ หลังทำเสร็จน้องก็เปลี่ยนไป เดิมที่เขาไม่ค่อยคุย พูดน้อย แต่พอมาทำงานกับพี่ๆ ที่กำแพง พูดเยอะมาก พูดเก่งมาก บางทีเขาเจอพ่อแม่พี่น้องที่เข้ามาทักทาย เขาบอกหนูไม่อยากคุยเลย ไม่รู้จะพูดอย่างไร ก็บอกว่าเขามาให้กำลังใจนะ ยิ้มแย้มนะ คุยกับคุณลุงคุณป้าดีๆ นะ เขาก็ปรับตัว ก็ทำได้ดี ตอนนี้อายุ 11 ขวบ อยู่ชั้น ป.5” นางภัทรา กล่าว
ด้าน นายสรรเพชญ เล่าว่า ตนเริ่มช่วยงานครั้งแรกที่ผนังที่ 9 เมื่อปี 2565 ซึ่งหลายครั้งที่ทางกลุ่มเดินทางไปทำผลงานสตรีทอาร์ต ก็มีประชาชนที่ผ่านไป-มาหยุดดู บางคนมาดูตั้งแต่ช่วงสายๆ กว่าจะกลับบ้านก็เป็นเวลาดึกแล้ว ตนเริ่มทำงานนี้ที่ จ.หนองคาย แต่เริ่มเห็นคนให้ความสนใจมาดูการทำงานกันเยอะที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผนังที่ 10 โดยในกลุ่มจะมีทีมศิลปินที่ลงมือวาดภาพ คนบันทึกวีดีโอ ส่วนตนเป็นเบื้องหลังทำหน้าที่สนับสนุนจิปาถะ เช่น เสบียงอาหาร ช่วยพูดคุยต้อนรับคนที่มาดูการทำงาน
“ผมประทับใจตอนหลังจากที่ผนังสามชุก-สุพรรณบุรีจบ คือเป็นครั้งแรกที่ผมช่วยหาข้อมูลให้ครูอะไหล่แบบเต็มๆ แล้วก็เราก็มีส่วนร่วมมาก คือเหมือนกับว่าช่วงโควิด สตรีทอาร์ตขาดไปคนหนึ่ง เป็นเบื้องหลังไป เรามาริ่มทำช่วยตรงนั้นเต็มๆ ทั้งๆ ที่ผมต้องกลับมากรุงเทพฯ ก่อนเพื่อมาสอน เป็นติวเตอร์ แต่พอครูอะไหล่อัปรูปในกลุ่ม เริ่มอัปรูปในเฟซบุ๊ก พอเราเห็นว่าทุกอย่างมันสมบูรณ์ เหมือนตอนนั้นเราอยู่ที่ทำงานแล้ว เหมือนน้ำตาเราจะไหล มันซึมๆ ออกมา” นายสรรเพชญ กล่าว
ชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=whyx0rbqRlQ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี