‘นามสกุล’นั้นสำคัญไฉน? นักวิชาการชี้อยู่ในสังคมไทยมีข้อได้เปรียบ-คนตระกูลไม่ดังต้องพยายามหนักกว่า
เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2567 ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ เขียนบทความ “นามสกุลนั้นสำคัญไฉน” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก “Nattavudh Powdthavee - ณัฐวุฒิ เผ่าทวี” เนื้อหาดังนี้
"นามสกุลนั้นสำคัญไฉน
สองวันที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ไผ่ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหนี้ครัวเรือนจากคณะบริหารธุรกิจจุฬา และอาร์ม เจ้าของบริษัท Brandi ในเรื่องหลายๆเรื่อง แต่มันมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมเล่าให้เขาทั้งสองฟังว่าผมกำลังมีความสนใจอยู่ในเชิง academic เรื่องนั้นก็คือพลังของนามสกุลไทย
ผมได้ตั้งข้อสมมติฐานขึ้นมาว่า นามสกุลไทยของเรานั้นเป็นสัญญานของต้นตระกูล หรือจะเรียกได้ว่าเป็นสัญญานของ legacy ที่ดีมากในสังคมไทยของเรา ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนสองคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางต้นตระกูลอะไรเลย นามสกุลของพวกเขาจะซ้ำกันไม่ได้ (อาจจะเขียนคล้ายๆกันได้แต่ต้องไม่ซ้ำ) ซึ่งก็หมายความว่าสำหรับคนสองคนที่อาจจะไม่รู้จักกันมาก่อนแต่พวกเขาทั้งสองต่างก็มีนามสกุลที่เหมือนกัน เขาสองคนจะต้องมี link กันในเชิงของต้นตระกูล หรือว่าอาจจะมีใครที่เคยแต่งงานกับคนที่มีนามสกุลนั้นๆมาก่อนแน่ๆ เพราะนามสกุลไทยแต่ละนามสกุลมีความเป็น unique ในตัวของมัน ไม่เหมือนกันกับนามสกุลในประเทศตะวันตก เช่น Smith หรือ Bakers ที่นามสกุลมักจะสะท้อนอาชีพของบรรพบุรุษมากกว่า
และด้วยความเป็น unique ของนามสกุลไทยตัวนี้นี่เอง โอกาสที่คนที่มีนามสกุลเดียวกันกับนามสกุลคนใหญ่คนโตในสังคม หรือคนที่เป็นเศรษฐีที่มีคนรู้จักเยอะจะได้ benefits และ treatments ที่ดีกว่าจากการมีนามสกุลที่เขามีมากกว่าคนที่อาจจะมีความสามารถเท่าๆกันแต่มีนามสกุลโนเนมก็จะสูง พูดง่ายๆก็คือ ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมที่ค่อนข้าง homogenous ในเชิงสีผิวหรือชนชาตื แต่เราก็อาจจะมี discrimination ที่มาจากสัญญานของนามสกุลของคนเราอย่างที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วทำไมเราต้องแคร์ด้วย
สาเหตุที่เราต้องแคร์นั้นเป็นเพราะว่า ในตลาดที่คนที่มีนามสกุลหลากหลายต้องแข่งขันกัน โอกาสที่คนที่มีนามสกุลธรรมดาๆทั่วไปจะได้รับโอกาสในการที่จะไต่เต้าขึ้นไปให้มีรายได้สูงๆก็จะน้อยกว่าคนที่มีนามสกุลดังๆมาก ถึงแม้ว่าคนสองคนนั้นจะมีความสามารถและคุณวุฒิเท่าๆกันก็ตาม และมันก็อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไม social mobility ในประเทศไทยของคนจนๆที่ไม่มีนามสกุลใหญ่โตถึงน้อยมากๆ
แต่ถ้าเราลองมานั่งคิดกันใหม่ล่ะก็ เราก็อาจจะตั้งข้อสมมติฐานใหม่ว่าคนที่เก่งๆแต่ไม่ได้มีนามสกุลดังๆในสังคมเรา ที่จริงแล้วพวกเขาอาจจะมีความสามารถมากกว่าคนที่เก่งๆเหมือนกันที่มีนามสกุลที่โด่งดังก็ได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนเก่งๆที่ไม่ได้มีนามสกุลดังๆ พวกเขาอาจจะต้องเผชิญหน้ากับโอกาสที่น้อยกว่าคนเก่งๆที่มีนามสกุลดังๆเยอะ เพราะฉะนั้นการที่เขาได้มายืน ณ ที่จุดเดียวกันกับคนที่มีนามสกุลดังๆได้นั้น พวกเขาน่าจะต้องพยายามมากกว่าคนที่มีนามสกุลดังๆเยอะมากๆ"
ทั้งนี้ บทความดังกล่าวมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นพอสมควร ซึ่งในภาพรวมแม้จะเห็นตรงกันว่านามสกุลเป็นต้นทุนทางสังคมอย่างหนึ่ง แต่อีกด้านก็ชี้ว่าสังคมไทยเปิดโอกาสให้คนธรรมดานามสกุลไม่เด่นไม่ดังไต่เต้าประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้นแทนที่จะตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียม สู้ไปวางแผนพัฒนาชีวิตตนเองจะดีกว่า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี