รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า จากการที่ มทร.ธัญบุรี มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้พัฒนางานวิจัยเพื่อสนองตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและประเทศอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุด ผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน ผลิตจากน้ำยางพาราและผักตบชวาของนักศึกษา นายภพธร คล้ายเข็ม นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ และนายพฤติพงศ์ พันธมนัสโสภา นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โดยมี รศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ จาก มทร.ธัญบุรี และ ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Awards) ระดับอุดมศึกษา กลุ่มพลังงงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ จากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับชาติ - Thailand New Gen Innovators Award 2024 (I-New Gen Awards 2024) ที่จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในงานวันนักประดิษฐ์ 2567 โดยรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของ มทร.ธัญบุรี เพราะมหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแนวทางในการดำเนินงานวิจัยของนักศึกษาจากความรู้พื้นฐานของนักศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้ให้ได้ประโยชน์จริง ผลงานชิ้นนี้ที่จะมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
ด้าน นายภพธรกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน มาจากการตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล และชายหาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเฉียบพลันและในระยะยาวต่อมนุษย์ สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตในทะเลและบนบก สิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดูดซับน้ำมันจึงมีความสำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมกันหาวัสดุรอบตัวเพื่อนำมาจัดการกับปัญหาดังกล่าว
ขณะที่ นายพฤติพงศ์กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเริ่มต้นจากการนำผักตบชวาไปตากแดดหรืออบให้แห้ง จากนั้นบดให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นเส้นใย แล้วนำไปทำความสะอาดด้วยวิธีการฟอกจนได้เป็นสีขาว ขั้นตอนต่อไปคือการบดให้ละเอียด แล้วสกัดจนออกมาเป็นผลึกนาโนเซลลูโลส จากนั้นนำไปผสมกับน้ำยางพาราบริสุทธิ์ ขึ้นรูปจนได้โฟมยาง และได้ศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับน้ำมัน ประสิทธิภาพการนำกลับมาใช้ซ้ำร่วมด้วย ที่ได้ทดสอบกับน้ำมันชนิดต่างๆ ร่วมด้วย จุดเด่นของผลงานนี้ หากน้ำมีน้ำมันปะปนกันอยู่โฟมจะทำหน้าที่ดักจับเฉพาะน้ำมัน และเมื่อรีดน้ำมันออกสามารถนำโฟมไปใช้ซ้ำได้อีกมากกว่า 40-50 ครั้ง รวมถึงน้ำมันที่ดักจับได้ สามารถนำไปใช้งานต่อได้ด้วย ขณะเดียวกับโฟมยางที่พัฒนาขึ้นนี้มีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ เคลื่อนย้ายได้ง่ายทำให้สะดวกต่อการนำไปใช้งาน และยังสามารถขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆ ได้อีกด้วยเพื่อให้ง่ายและเข้าถึงต่อพื้นที่ และผลงานดังกล่าวยังถือเป็นการแก้ปัญหาใน 2-3 มิติ กล่าวคือการลดปัญหาวัชพืชของผักตบชวา และสนับสนุนการใช้ยางพาราให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์
รศ.ดร.วารุณีกล่าวว่า หลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เน้นการทำงานวิจัยที่นอกจากจะตีพิมพ์ได้ระดับฐานข้อมูลสากลแล้วยังพยายามออกแบบแนวคิดให้นักศึกษาได้หันมาสนใจการทำนวัตกรรมควบคู่กันโดยมีต้นแบบจากรุ่นพี่ในแล็บ และส่งเสริมให้เข้าร่วมการประกวดผลงานทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยเน้นผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงเป็นที่มาของผลงานดังกล่าว ผลงานเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมันนี้ช่วยแก้ปัญหาที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ทั้งนี้เตรียมขยายสเกลและนำไปทดลองจริง ควบคู่กับการพัฒนาคุณสมบัติที่มากยิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้มีสภาพพร้อมใช้ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-25493400
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี