ก่อนหน้านี้ “ทีมงาน นสพ.แนวหน้า” ได้นำเสนอสรุปการบรรยายหัวข้อ “ผลกระทบของเงินอุดหนุนเด็กยากจนพิเศษต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพ” โดยผู้บรรยายคือ รศ.ดร.ภัททา เกิดเรือง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (‘เงินอุดหนุนเด็กยากจนพิเศษ’ ผลกระทบต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพ : หน้า 17 ฉบับวันจันทร์ที่ 26 ก.พ. 2567 หน้าเว็บไซต์หมวดในประเทศ-การศึกษา-ศิลปวัฒนธรรม)ไปแล้ว ส่วนฉบับนี้จะเรียกว่าเป็นตอนที่ 2 ก็ได้ โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงเป็นเจ้าภาพจัดบรรยายเช่นเดิม
ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายเรื่อง “ผลกระทบของทุนเสมอภาคต่อการมาเรียนและการเรียนต่อ” โดยทุนเสมอภาคนั้นเป็นเงินสนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บนความคาดหวังว่าเมื่อเด็กซึ่งอยู่ในครัวเรือนยากจน-เปราะบาง-ด้อยโอกาส ได้รับเงินสนับสนุนไปแล้ว จะสามารถมาเรียนหนังสือจนจบในระดับการศึกษาต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน ซึ่งเด็กที่เข้าข่ายต้องได้รับความช่วยเหลือจาก กสศ. จะมีลักษณะดังนี้
1.อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งถือเป็นครัวเรือนยากจน กับ 2.สภาพความเป็นอยู่ในครัวเรือนที่เข้าข่ายยากลำบากต้องได้รับความช่วยเหลือ เช่น เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้มีภาระพึ่งพิง (ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียง) สภาพที่อยู่อาศัยไม่เอื้ออำนวยต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (โดยครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและถ่ายรูปบ้านของนักเรียน) การเข้าถึงแหล่งน้ำดื่ม การมีไฟฟ้าใช้ เครื่องใช้จำเป็นต่างๆ ในครัวเรือน เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลแล้วจะนำมาจัดเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มยากจนพิเศษ กลุ่มยากจน และกลุ่มใกล้ยากจน
สำหรับเด็กที่ผ่านการคัดกรองว่าสมควรได้รับทุนเสมอภาค จะได้รับเงิน 3,000 บาทต่อปี ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2561-2565 กสศ. ได้สนับสนุนนักเรียนกลุ่มนี้ไปแล้ว 2,217,517 คน ในสถานศึกษา 31,175 แห่ง จึงเป็นที่มาของการวิจัยครั้งนี้ กับ 2 คำถามที่ว่า “เงินสนับสนุน 3,000 บาท/คน/ปี จาก กสศ. ช่วยเพิ่มอัตราการมาเรียนของนักเรียนได้หรือไม่?” และ “เงินสนับสนุนจาก กสศ. ช่วยเพิ่มอัตราการมาเรียนของนักเรียนที่มีอัตราการมาเรียนต่ำได้หรือไม่?”
งานวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับ ป.1-ม.3 ทั่วประเทศที่เคยสมัครขอรับความช่วยเหลือจาก กสศ. ช่วงปีการศึกษา 2563-2565 ทั้งกลุ่มที่ผ่านและไม่ผ่านการคัดกรอง (ได้รับและไม่ได้รับทุน) โดยจะนำทั้ง 2 กลุ่มมาเปรียบเทียบกัน ดูตัวชี้วัดจากวันมาเรียนของนักเรียน ใน 5 ภาคเรียน (1/2563-1/2565) และข้อมูลอื่นๆ ในครัวเรือนของนักเรียน ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้จะมาจากแบบประเมิน นร.01 ที่จัดทำโดย กสศ.
ทั้งนี้ “สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นข้อจำกัดสำคัญในการนำข้อมูลมาใช้” เนื่องด้วยการเรียนการสอนต้องทำผ่านระบบออนไลน์ จึงเป็นเรื่องยากมากที่ครูจะ “เช็คชื่อ” ใครมาหรือไม่มาเรียนท้ายที่สุดจึงจำเป็นต้องตัดโรงเรียนที่ลงรายงานว่ามีอัตราการมาเรียน 100% แม้เพียงภาคการศึกษาเดียวจาก 5 ภาคการศึกษาออกไป เพื่อให้ข้อมูลใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ทำให้จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมด 27,772 แห่ง มีการดึงข้อมูลมาใช้ศึกษาเพียง 7,283 แห่งเท่านั้น เพราะเป็นกลุ่มโรงเรียนที่่ไม่มีภาคการศึกษาใดเลยที่มีอัตราการมาเรียนครบ 100%
และด้วยความที่ช่วงภาคเรียนที่ 1/2563-2/2564 ซึ่งเน้นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ การเช็คชื่อว่าใครมาหรือไม่มาเรียนอาจไม่สะท้อนความจริงอีก สรุปแล้วจึงเลือกใช้เฉพาะข้อมูลภาคเรียนที่ 1/2565 ซึ่งเป็นภาคเรียนเดียวที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน (On Site) อย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งการเลือกศึกษาการเรียนการสอนแบบ On Site ยังสอดคล้องกับแนวโน้มการเรียนการสอนหลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง
“ข้อค้นพบของการวิเคราะห์ตัวแปรต่างๆ” มีดังนี้ 1.การได้รับทุนจะเพิ่มวันมาเรียน 1.225 วันโดยเฉลี่ยต่อ 100 วัน แต่เมื่อดูตามเพศ พบว่ามีผลต่อเพศชายมากกว่า ที่เพิ่มได้ 1.657 วัน ส่วนเพศหญิงเพิ่มได้ 0.742 วัน 2.ด้วยความที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แม้จะเป็นนักเรียนยากจนแต่ก็มีอัตราการมาเรียนสูงอยู่แล้ว (เฉลี่ยราวร้อยละ 97 ของวันที่มีการเรียนการสอน) เงินทุนจึงเพิ่มการมาเรียนได้ไม่มากนัก (เฉลี่ย 1 วันโดยประมาณ) แต่จะมีผลมากกับนักเรียนที่มีอัตราการมาเรียนต่ำ (น้อยกว่าร้อยละ 85 ของวันที่มีการเรียนการสอน) โดยเฉลี่ยเพิ่มร้อยละ 13.53 เช่น หากเดิมมีอัตราการมาเรียนร้อยละ 50 ก็จะเพิ่มเป็นร้อยละ 63.53
3.ยิ่งยากจนมากยิ่งมีอัตราการมาเรียนน้อย โดยกลุ่มที่อัตราการมาเรียนน้อยกว่าร้อยละ 85 ดัชนีความยากจนอยู่ที่ -0.491 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างในภาพรวมอยู่ที่ -0.0241 4.เพศชายมีแนวโน้มมีอัตราการมาเรียนต่ำกว่าเพศหญิง ซึ่งอธิบายได้ว่าอาจมีสิ่งอื่นให้ต้องไปทำมากกว่า 5.ระดับการศึกษาของผู้ปกครองมีผลต่อการมาเรียนของบุตรหลาน ยิ่งผู้ปกครองมีการศึกษาสูงก็จะยิ่งสนับสนุนให้บุตรหลานมาเรียนอย่างสม่ำเสมอ 6.เด็กที่มีอัตราการขาดเรียนสูงอยู่เดิม ยิ่งเรียนสูงขึ้นก็พบการขาดเรียนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยพบการขาดเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมากในชั้น ม.2-ม.3
7.นักเรียนที่มีอัตราการมาเรียนไม่ถึงร้อยละ 85 มีไม่มาก (ประมาณร้อยละ 2.5) แต่มีการกระจายตัวมาก ตั้งแต่ร้อยละ 10 ของกลุ่มนี้ มีอัตราการมาเรียนร้อยละ 12.5 หรือน้อยกว่า หรือร้อยละ 25 มีอัตราการมาเรียนร้อยละ 21.1 เป็นต้น โดยมากที่สุดคืออัตราการมาเรียนอยู่ที่ร้อยละ 83.8 (จำนวนในกลุ่มตัวอย่างคือประมาณ 3.6 พันคน และหากคำนวณกับนักเรียนจริงในประเทศจะอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นคน) ส่วนค่าเฉลี่ยอัตราการมาเรียนของเด็กกลุ่มนี้คือร้อยละ 55.83 โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาทั้งการเรียนไม่ทันเพื่อน หรือมีปัญหาทางบ้าน
โดยสรุปแล้ว “เงินทุนสนับสนุนของ กสศ. ไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการมาเรียนของนักเรียนส่วนใหญ่ เพราะเดิมโดยเฉลี่ยอัตราการมาเรียนก็สูงอยู่แล้ว (เฉลี่ยราวร้อยละ 97 ของวันที่มีการเรียนการสอน) แต่จะช่วยเพิ่มสำหรับนักเรียนในกลุ่มที่มีอัตราการมาเรียนต่ำ (น้อยกว่าร้อยละ 85ของวันที่มีการเรียนการสอน)” เช่นในกลุ่มที่อัตราการมาเรียนร้อยละ 12.5จะเพิ่มได้อีกร้อยละ 5.2 , อัตราการมาเรียนร้อยละ 21.1 เพิ่มได้อีกร้อยละ 14.4 และอัตราการมาเรียนร้อยละ 69.8 เพิ่มได้อีกร้อยละ 13.6
“กลุ่มนักเรียนที่มีอัตราการมาเรียนต่ำ ซึ่งจำนวนเด็กในกลุ่มนี้มีไม่ถึงร้อยละ 3 ของนักเรียนทั้งหมด ก็คือมีเพียงหลักหมื่น ดังนั้น การช่วยเด็กกลุ่มนี้จะช่วยเขาได้มาก แล้วการเพิ่มเงิน นัยของผลอาจจะส่งผลไปถึงว่าสำหรับเด็กกลุ่มนี้ถ้าเราเพิ่มเงินให้เขาอีก เกินกว่า3,000 บาทต่อปี เป็นเช่น 6,000 บาทต่อปีอะไรอย่างนี้ มันจะเพิ่มให้เขามาเรียนได้เพิ่มกว่านั้นอีกไหม? ก็คือเข้ามาถึงแบบใกล้ๆ เพื่อนๆ เลยไหม?
จากเดิมที่เขามาร้อยละ 21.1 เพิ่มมาร้อยละ 14.4 มันก็ยังเป็น 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเกิดเราอยากให้เขามาเกือบทุกวันเหมือนเพื่อนๆ เราให้เขาปีละมากขึ้น มันจะเป็นไปได้ไหม? อันนี้มันก็จะเป็นในส่วนหนึ่งที่นโยบายสามารถจะเจาะกลุ่มได้แล้วช่วยแก้ปัญหาของเด็กที่มีปัญหาจริงๆ” ผศ.ดร.วรรณวิภางค์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี