นักวิจัย มช.สวน ทีม EIA มน.ระบุผลการประเมินผลกระทบโครงการผันน้ำยวมไร้รายละเอียดชาติพันธุ์วรรณนา-ขาดมิติทางประวัติศาสตร์-ไม่ให้ความสำคัญภูมิปัญญา ชาวบ้านสำรวจพื้นที่พบหินงามหลากหลายสวยงาม
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะวิจัยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มี ผศ.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
และดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ เป็นที่ปรึกษา ได้จัดทำข้อคิดเห็นต่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ในโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นต่อ EIA (อีไอเอ) ระบุว่าข้อคิดเห็นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่โครงการเพิ่มปริมาณน้ำฯซึ่งใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการทำแผนที่ทางวัฒนธรรม เป็นงานวิจัยที่ใช้กระบวนการร่วมผลิตสร้างความรู้ (Co-production of knowledge) ระหว่างนักวิจัย/นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับชาวกะเหรี่ยงจาก 2 ชุมชนคือ ชุมชนบ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่องค์ประกอบโครงการฯคือ สถานีสูบน้ำ ถังพักน้ำ และจุดกองดิน และชุมชนบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ชุมชนนี้อยู่ในพื้นที่องค์ประกอบโครงการฯคือ ปลายอุโมงค์ส่งน้ำที่รับน้ำจากอุโมงค์ที่มีความยาว 62 กิโลเมตรจากบ้านแม่เงามายังบ้านแม่งูด ระยะเวลาดำเนินการโครงการฯตั้งแต่มีนาคม 2565 ถึง ธันวาคม 2566 ปัจจุบันนี้โครงการวิจัยฯอยู่ในขั้นตอนการเขียน วิเคราะห์รายงาน
ข้อคิดเห็นต่ออีไอเอ ซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) ระบุว่า พื้นที่ที่อยู่ในแนวเขตการดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนฯนั้น เกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 95 เป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์และสกอร์ ซึ่งมีระบบวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ไม่ใช่ “คนป่า (savage)” ที่หาของป่ากิน และอยู่กับวัฒนธรรมแบบหยุดนิ่ง แต่ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่เงาและแม่งูดได้สั่งสมความรู้ และประสบการณ์การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ กรณีบ้านแม่เงาจะเห็นได้ว่า มีวิถีการพึ่งพิงป่าและแม่น้ำอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน ชาวบ้านได้เรียนรู้การทำเกษตรแผนใหม่ เช่น การปลูกบุก ถั่วเหลือง และอื่น ๆ มีการติดต่อกับสังคมภายนอก เช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่งูดที่เผชิญกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพล และย้ายถิ่นฐานมายังที่อยู่ปัจจุบัน ได้เรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุงการทำสวนลำไยให้สอดคล้องกับแม่น้ำงูดที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นแม่น้ำทราย ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันได้ว่า ชุมชนทั้งสองได้นำเอาภูมิปัญญาชาติพันธุ์มาปรับใช้ในบริบทใหม่
ข้อสังเกตหนึ่งคือ การทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯนั้น แม้จะกล่าวว่าดำเนินการวิจัยตามกรอบทางมานุษยวิทยา แต่กลับพบว่า ข้อมูลเชิงชาติพันธุ์วรรณนาขาดรายละเอียดที่สำคัญ (thin description) คือ ขาดบริบททางประวัติศาสตร์ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองชุมชนนี้ซึ่งเป็นพื้นที่สถานีสูบน้ำ ปากอุโมงค์ และท้ายอุโมงค์
“การมีส่วนร่วมของชุมชน พบว่า นักวิจัยชุมชน/ชาวบ้านมีความกระตือรือร้นร่วมให้ข้อมูล ค้นหาข้อมูล ร่วมผลิตสร้างข้อมูลเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของพวกเขาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด ทั้งนี้เพราะพวกเขาได้รับรู้ว่า รายงานอีไอเอไม่ได้กล่าวถึงพวกเขาในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมและรอบด้าน อีกทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง”
ด้านความหลากหลายของทรัพยากรจากแม่น้ำและป่า กรณีบ้านแม่เงานั้น พบว่า ในระยะทาง 30 กิโลเมตรที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากแม่น้ำยวม-เงานั้น มีระบบนิเวศที่สำคัญคือ วังหรือวน กับ หาดหรือแก่ง ซึ่งในระบบนิเวศวังมี 8 แห่ง ได้แก่ วังวน วังตะแคง วังสบเงา วังหัวหมู วังถ้ำ วังประทุน วังผาแล และวังแม่สะเปา และชาวบ้านยังมีพื้นที่อนุรักษ์ป่าด้วย ในวังนั้นยังพบว่ามีวังขนาดเล็กอีกจำนวนมาก คือ วังน้ำหยาด วังห้วยน้ำแดง วังห้วยหลวง เป็นต้น ในระบบนิเวศวังมีปลาที่พบบ่อย 14 ชนิด
ระบบนิเวศหาดหรือแก่ง มี 5 แห่งที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ประจำคือ หาดสบเงา หาดผาแล หาดห้วยน้ำแดง แก่งเสือเต้น และหาดผาหืม เป็นต้น สัตว์น้ำที่พบในระบบนิเวศนี้มี 13 ชนิดที่แตกต่างจากระบบนิเวศวัง นอกจากระบบนิเวศทั้งสองแล้ว ยังพบว่ามีสัตว์น้ำประมาณ 21 ชนิดที่พบได้ทั่วไป ซึ่งผู้หญิงและเด็กสามารถจับได้
แม่น้ำยวม-เงายังอยู่ได้ด้วยการหล่อเลี้ยงของลำห้วยสาขา ซึ่งลำห้วยสาขาที่มีน้ำไหลตลอดปีและชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ประจำตามฤดูกาลมีทั้งหมด 26 สาย และพบสัตว์น้ำในลำห้วยสาขาทั้งหมด 17 ชนิด โดยสรุปแล้วปลาที่พบในแม่น้ำยวม-เงา ในจำนวนนี้มีปลาหลายชนิดที่เป็นปลาเศรษฐกิจ หรือเป็นปลาสวยงามที่จะต้องอนุรักษ์ไว้
กล่าวสำหรับบ้านแม่เงายังมีระบบนิเวศป่า ซึ่งชาวบ้านแบ่งพื้นที่ป่าและผลผลิตจากป่าเป็น 3 ระดับ คือ สันดอย ตะหล่ายดอย และฮิมน้ำ ซึ่งแต่ละระดับจะมีไม้ พืชผักที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน แต่รายงานอีไอเอไม่ได้ให้ความสำคัญกับนิเวศวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ไม่ได้อธิบายความหลากหลายของระบบนิเวศ วัง หาด แก่ง ลำห้วยสาขา และธรรมชาติของปลาและสัตว์น้ำที่อาศัยในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน รวมทั้งความแตกต่างของไม้ พืชผักต่าง ๆ ความไม่เข้าใจนิเวศวัฒนธรรมนี้จึงทำให้มิติเหล่านี้ถูกละเลยในรายงานอีไอเอ
ส่วนที่บ้านแม่งูดนั้น เนื่องจากแม่น้ำแม่งูดได้รับผลกระทบจากตะกอนทรายที่ทับถมเป็นเวลานาน จึงทำให้ชาวบ้านแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากแม่น้ำแม่งูดในฐานะแหล่งอาหารเช่นเดียวกับบ้านแม่เงา แต่ชาวบ้านได้ใช้น้ำจากแม่น้ำแม่งูดเพื่อหล่อเลี้ยงลำไยตลอดปี อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านแม่งูดได้พึ่งพิงป่าเป็นแหล่งอาหาร และร่วมกันดูแลผีเสื้อบ้าน เนื่องจากผีเสื้อบ้านช่วยดูแลให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข
ในด้านมิติทางคุณค่า และมูลค่า ข้อมูลที่พบจากการแปรค่าคุณค่าระบบนิเวศที่ชาวบ้านพึ่งพิงเป็นอาหารและขายรวมทั้งรายได้ที่ได้จากพืชเศรษฐกิจ พบว่า บ้านแม่เงามีรายได้ 15,405.71 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน บ้านแม่งูดมีรายได้ 11,758.5 บาท แต่ถ้าคำนวนจากรายได้ลำไยในปี 2565 ซึ่งแต่ละครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยจากลำไยประมาณ 150,000 บาทต่อไร่ จะพบว่ามีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนครัวเรือนละ 18,456 บาท นี่แสดงให้เห็นว่า รายได้ดังกล่าวนี้มากกว่าที่ระบุไว้ในรายงานอีไอเอ ซึ่งระบุว่ารายได้ในพื้นที่องค์ประกอบโครงการคือ 9,120 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน และพื้นที่รอบองค์ประกอบโครงการ 11,227 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน (รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ เล่ม 6, 2564 น.3-60)
คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า รายงานอีไอเอที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังขาดความเข้าใจวิถีการดำรงชีพและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง อีกทั้งรายงานยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเพิ่มประมาณน้ำต้นทุนฯ ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาให้รอบด้านกว่านี้
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่แม่น้ำยวม-เงา ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2567 โดยชาวบ้านนักวิจัยชุมชนแม่เงากว่า 10 คน นำโดยนายสิงห์คาร เรือนหอม นำเสนอความคืบหน้าของรายงานว่าชาวบ้านได้เดินเท้าสำรวจจุดสร้างเขื่อนแม่น้ำยวม เริ่มจากนายอาทู่ ชุ่มพฤกษา กล่าวว่า หากกรมชลประทานสร้างเขื่อนกั้นน้ำท่วมจะเสียหายมาก เพราะแม่น้ำยวมตอนล่างก่อนบรรจบแม่น้ำเมยเป็นโตรกเขาหินไม่ใช่ที่ราบ หากกั้นเขื่อนอาจจะมีดินสไลด์ลงมามาก เป็นดินทรายดำ แต่ในรายงานอีไอเอระบุว่า โครงการจะทำน้ำท่วมบ้านชาวบ้านแค่ 2-3 หลังซึ่งเป็นไปไม่ได้ แม่น้ำยวมมีร่อง มีหน้าผา มีหินก้อนใหญ่ๆ หากกั้นน้ำ หินจะถล่มลง
นางดาวพระศุกร์ มึปอย หนึ่งในคณะวิจัยชุมชน กล่าวว่า ไปร่วมเดินเท้าสำรวจแม่น้ำยวม 3 วัน ตอนไปถึงเห็นว่ามีหลายจุดที่ธรรมชาติจะเสียไปหากกั้นแม่น้ำ มีวังน้ำลึก ที่อาศัยของปลา ใกล้ๆ หัวงานเขื่อนมีก้อนหินมากมาย โดยเฉพาะช่วงที่ลงไปจากบ้านกลอโคะ แม่น้ำยวมสวยงามมาก ก้อนหินใหญ่น้อยมีลักษณะต่างๆ เช่น เป็นเตียง หลายก้อนหลากสันสีสวยงาม หากสร้างเขื่อน สิ่งเหล่านี้จะหายไปหมด จึงไม่อยากให้ใครมาทำลาย
“ชาวบ้านไม่มีเงินเดือน เราเลี้ยงชีพและหารายได้จากป่า เราเลี้ยงลูกส่งลูกเรียนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จากแม่น้ำของเราเป็นพิเศษ”นางดาวพระศุกร์กล่าว
นายสิงคารกล่าวเสริมว่า แม่น้ำยวมในช่วงดังกล่าว มีผาหืม เป็นช่องที่น้ำลอด เป็นบ้านของปลา ฤดูวางไข่ปลาว่ายขึ้นมา พอฤดูแล้งปลาก็ว่ายลงไป เป็นแหล่งอาศัยที่พักของปลา ส่วนผากิ เป็นช่องน้ำแคบ ในฤดูแล้งตรงบริเวณดังกล่าวกว้างแค่วาเดียวแต่ลึกมาก ที่หน้าถ้ำห้วยชีชะ มีชาวบ้านพบฟันกรามช้าง ตลอดสองข้างทางมีลำห้วยสาขามากมาย มีแก่งหิน โพรงถ้ำ ฯลฯ ทว่า คณะจัดทำอีไอเอไปสำรวจไม่ถึง จึงไม่เคยเห็นนิเวศเหล่านี้ หรือไปคนสำรวจอาจมองข้าม
นายสิงคาร กล่าวอีกว่า คณะจัดทำอีไอเอยังไม่คิดถึงเศรษฐกิจชาวบ้าน เช่น ฤดูแล้งชาวบ้านเก็บใบตองตึงมาทำหลังคาขาย รายได้ 20,000 - 30,000 บาทต่อปี หรือการดักจับกุ้งจากลำห้วยที่ไหลจากเขาสูงมาขาย มีแหล่งดักจับอย่างน้อย 2 จุด กรมชลฯบอกว่ากุ้งแบบนี้มีทั่วไป พอบอกข้อมูลต่างๆไป เจ้าหน้าที่ก็ถามกลับมาว่าเรียนจบอะไร ตนก็ไม่กล้าพูดอีก ฝากถึงกรมชลฯว่า อยากให้คำนวณรายได้ของชาวบ้านจากทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ในเช้าวันที่ 14 มีนาคม 2567 ชาวบ้านแม่เงาซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวม จะเข้าร่วมกินกรรมเนื่องในวันปกป้องเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำสากล หรือวันหยุดเขื่อนโลก ที่บ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จะมีพิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน “จงใช้ชีวิตให้เหมือนสายน้ำ” โดยมีชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน นักวิชการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนภาคส่วนต่างๆเข้าร่วม
หมายเหตุ-ภาพโดยเริงฤทธิ์ คงเมือง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี