โฆษกศาลยุติธรรมเผยดีเดย์เมษายนนี้ เปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา ตามนโยบายประธานศาลฎีกา ระดมผู้พิพากษาเชี่ยวชาญนั่งพิจารณาคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกดูดเงิน บัญชีม้า เว็บพนัน ฉ้อโกงออนไลน์ ให้ทันท่วงทีตามสถานการณ์ ต่อยอดการเป็นศาลดิจิทัลสืบพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา ว่า ประกาศฉบับนี้ออกโดยคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ส่วนจะเปิดทำการเมื่อใดให้เป็นไปตามประกาศของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา คาดว่าจะเป็นต้นเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของ นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา ที่เห็นความสำคัญของปัญหาคดีความเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม
สำหรับที่มาของการตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก็จะมีขึ้นเฉพาะที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก แห่งเดียวเท่านั้น เพราะทุกวันนี้การก่ออาชญากรรมมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือหรือมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะของอาชญากรรมประเภทนี้ก็มีความซับซ้อน ไม่ว่าในลักษณะของพฤติกรรมการกระทำความผิดหรือการพิสูจน์ของกระบวนการยุติธรรม นับเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งศาลก็เป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องรับมือกับอาชญากรรมลักษณะนี้
ทั้งนี้ หากกล่าวให้ชัดๆ ในเรื่องอาชญากรรมทำนองนี้ เช่น การฉ้อโกงและหลอกลวงโดยใช้เทคโนโลยีในการล่อลวงหรือชักจูงเหยื่อให้หลงเชื่อการใช้บัญชีม้าเป็นเครื่องมือก็มีจำนวนมาก คดีพวกนี้เกิดขึ้นบนระบบออนไลน์บนโลกไซเบอร์วิธีที่จัดการกับปัญหาจึงต้องเป็นวิธีที่เท่าทันสอดคล้องกับลักษณะความผิด เพราะเป็นอาชญากรรมที่แตกต่างจากการลัก วิ่ง ชิง ปล้น การกระทำความผิดแต่ละครั้งอาจกระทบเหยื่อหรือผู้เสียหายในวงกว้างและกระจัดกระจายในหลายพื้นที่
เมื่อการกระทำผิดเกิดขึ้นบนระบบเทคโนโลยีและโลกออนไลน์ พยานหลักฐานที่จะมาเอาผิดหรือมาพิสูจน์ว่าผิดหรือไม่ ก็ไม่ใช่หลักฐานแบบเดิมไม่ใช่หลักฐานที่จับต้องได้ แต่มักจะเป็นพยานหลักฐานที่อยู่ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยหรือที่เรียกว่าพยานหลักฐานดิจิทัล เพราะเป็นข้อมูลที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์คนที่จะมาทำเรื่องพวกนี้ได้โดยเฉพาะบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องมีความเข้าใจในลักษณะของอาชญากรรม และการใช้พยานหลักฐานเหล่านี้ในคดีด้วย ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ ศาล ทำให้ศาลเองก็ไม่สามารถหยุดการพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมและรองรับกับปัญหาเหล่านี้ การจัดตั้งแผนกอาชญากรรมเทคโนโลยีจึงเป็นมาตรการหนึ่งในการรองรับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น เพราะหากมาดำเนินการเมื่อปัญหาเหล่านี้พอกพูนขึ้นอาจไม่ทันการ
"ภารกิจหลักของศาลแผนกฯ นี้จึงมี 2 ส่วนหลักๆ ส่วนที่เป็นคดีก็คือการดำเนินคดีอาญากับอาชญากรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหรือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ภารกิจส่วนนี้จะรวมถึงบรรดาคดี เช่น การฉ้อโกงหรือหลอกลวงออนไลน์ คดีตามกฎหมายมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีซึ่งรวมถึงคดีที่ใช้บัญชีม้าซิมม้า คดีอาญาตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเช่น กรณีผู้ควบคุมข้อมูลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่มีฐานอำนาจตามกฎหมายรองรับและไม่ได้รับความยินยอม" โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว
อีกส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่การฟ้องคดีแต่เป็นเรื่องที่กฎหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องให้มาขอคำสั่งศาลตามกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ก็รวมเข้ามาอยู่ในงานของแผนกนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายต้องการให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันการใช้สื่อออนไลน์ไปในทางที่ทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายแพร่กระจายไปยังประชาชน เรื่องสำคัญที่เป็นภารกิจส่วนนี้เช่น การพิจารณาคำสั่งปิดเว็บไซต์ ส่วนเหตุผลที่ต้องเป็นแผนกอยู่ที่ศาลอาญา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ใหม่สำหรับสังคมไทย ใหม่สำหรับทุกๆ คน ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ก็เป็นเรื่องที่ใหม่ เราต้องสร้างผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญขึ้นมากลุ่มหนึ่ง
ซึ่งวันนี้มีอยู่ในระดับหนึ่งเเล้ว ที่สำคัญการบริหารจัดการคดีประเภทนี้อาจไม่ต้องใช้ปริมาณคนมากแต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจ การทำงานโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องไปเน้นปริมาณบุคลากรหรือต้องเปิดในหลายๆศาล เพราะความผิดและหลักฐานเกิดบนโลกออนไลน์ไม่ได้เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯหรือจังหวัดไหนโดยเฉพาะเจาะจงแต่กระจายไปทั่วและพยานหลักฐานอยู่ในไซเบอร์ ดังนั้นโดยสภาพไม่จำเป็นต้องเอาปริมาณคนไปสู้แต่จำเป็นต้องเอาคุณภาพของกระบวนการไปรับมือคุณภาพของกระบวนการในที่นี้หมายถึงประสิทธิภาพ คือวิธีการ อุปกรณ์เครื่องมือและบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ
ตอนนี้ทางคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้กำหนดแผนกไว้แล้วให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกซึ่งเทียบเท่ารองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเรียกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ ก.ต.ได้กำหนดตำแหน่งมาแล้วก็อยู่ที่กระบวนการที่จะแต่งตั้งใคร ส่วนจำนวนผู้พิพากษาประจำแผนกขึ้นอยู่กับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาจะมอบหมาย
ส่วนเรื่องความเชี่ยวชาญตอนนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกองค์กรโดยเฉพาะเรื่องพยานหลักฐาน นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้ทีมวิชาการของสำนักงานศาลยุติธรรมศึกษาการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเติมเต็มข้อกฎหมายที่ต้องใช้ในการดำเนินคดีอาชญากรรมที่ใช้เทคโนโลยี ส่วนสำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดอบรมบุคลากรมาก่อนหน้านี้ก็เคยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาอบรมเรื่องพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์และอาชญากรรมทางไซเบอร์ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดแผนก ซึ่งเตรียมจัดตั้งขึ้นที่ชั้น 6 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก โดยการนำคดีเข้าฟ้องก็จะเหมือนศาลอาญาทั่วไปปกติ ถ้าราษฎรฟ้องเองก็มีการไต่สวนมูลฟ้อง
แต่จุดเด่นคือลักษณะคดีพวกนี้พิเศษกว่าอันอื่น คือหลักฐานคดีเป็นดิจิทัล เป็นข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ต้องมีกระบวนการส่งหลักฐานจากต้นทางไปปลายทางโดยพยานหลักฐานต้องไม่ถูกปนเปื้อน ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้เตรียมแนวทางและระบบไว้รองรับแล้ว และในอนาคตจะได้มีประกาศที่จำเป็นเพื่อมารองรับการดำเนินการสำหรับแผนกนี้เพื่อทำให้การพิจารณาคดีอาชญากรรมเทคโนโลยีมีความทันสมัยและเหมาะสมกับความซับซ้อนของอาชญากรรมประเภทนี้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี