‘บอร์ด สปสช.’หนุนวาระแห่งชาติ‘ส่งเสริมการมีบุตร’ นำร่อง 3 ปี‘บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก’ในระบบ‘บัตรทอง 30 บาท’ เน้นให้บริการตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษา ให้ยากระตุ้นไข่ และเด็กหลอดแก้ว สำหรับหญิงไทยสิทธิบัตรทอง อายุ 30-40 ปี มีคู่สมรสและจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และเป็นผู้ภาวะมีบุตรยากและต้องการมีบุตร
24 มีนาคม 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 โดยมีวาระพิจารณาและเห็นชอบข้อเสนอ “การรักษาภาวะมีบุตรยาก” เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท นำเสนอโดย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และ นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน แต่ในปี 2565 จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอยู่ที่ 485,085 คน ขณะที่อัตราเจริญพันธุ์เหลือเพียง 1.08 กลายเป็นวาระที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเร่งแก้ปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการกำหนดแผนดำเนินการระดับชาติ อาทิ แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว พ.ศ. 2565-2580 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่ง 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ คือ สร้างครอบครัวที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงบุตร , ร่างวาระแห่งชาติประเด็นส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์ อยู่ระหว่างเสนอต่อ ครม. ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ เสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อการมีบุตร และผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับการดูแลอย่างครบวงจรและมีคุณภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลเอง โดยกระทรวงสาธารณสุข นโยบาย Quick win 100 วัน มีเรื่องการส่งเสริมการมีบุตรที่ขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ข้อมูลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562-2566 มีผู้มีสิทธิที่เข้ารับบริการด้วยวินิจฉัยภาวะการมีบุตรยากอยู่ประมาณ 3,000-3,500 ราย/ปี
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อย่างไรก็ดี บริการรักษาภาวะมีบุตรยากมี 3 ระดับด้วยกัน ตามแนวทางเวชปฏิบัติภาวะมีบุตรยากของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 ซึ่งผลการศึกษาเพื่อบรรจุการรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองนั้น เห็นควรส่งเสริมให้บริการในขั้นต้นก่อน เพราะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และควรให้บริการที่เป็นไปตามลำดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 ให้คำปรึกษาแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และการรักษาโรคประจำตัวหรือส่งต่อเพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาสาเหตุที่ตรวจพบบริการระดับ 1 สามารถให้บริการโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หากภายใน 6-12 เดือนไม่ได้ผลหรือเกิน 12 เดือน ตามแพทย์เห็นสมควรเว้นวรรคให้เข้าสู่บริการระดับถัดไป
ระดับที่ 2 (2.1) ให้ยากระตุ้นไข่และยาเหนี่ยวนำการตกไข่ และ (2.2) การกระตุ้นไข่และการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง ซึ่งสูตินรีแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไปจะเป็นผู้ให้บริการไม่เกิน 3 ครั้ง หากในระยะเวลา 6-12 เดือนไม่ได้ผล ให้เข้าสู่ระดับถัดไป โดยทั่วประเทศมีหน่วยบริการที่ให้การรักษาจำนวน 40 แห่ง ใน 38 จังหวัด
ระดับที่ 3 ทำเด็กหลอดแก้ว โดยวิธีการย้ายตัวอ่อน 1-2 ครั้ง ให้บริการโดยสูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการรัฐที่ให้บริการ จำนวน 17 แห่ง ในจำนวนนี้เป็น รพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง
สำหรับบริการนี้ให้บริการกลุ่มเป้าหมาย ผู้หญิงไทยสิทธิบัตรทอง อายุระหว่าง 30-40 ปี มีคู่สมรสและจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เป็นผู้มีภาวะมีบุตรยากและต้องการมีบุตร ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่ามีจำนวน 4,150 คน
“วันนี้ บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยให้บริการตามแนวทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ตามระดับการให้บริการ ซึ่งในกรณีของการทำเด็กหลอดแก้ว จะให้การดูแลเฉพาะผู้ที่มีข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธีการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูกโดยตรง ในระดับที่ 2 อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าบริการนี้เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการที่เข้ามาช่วยเสริมการแก้ปัญหาประชากรเกิดใหม่ลดลง ซึ่งในขณะนี้ทาง สธ. ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างร่วมกันดำเนินการมาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วยในขณะนี้” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรักษาภาวะมีบุตรยาก เป็นข้อเสนอสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองฯ ครั้งแรกในปี 2561 ซึ่งไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัย แต่ในครั้งที่ 2 ปี 2563 ได้มีการปรับหัวข้อการนำเสนอที่ชัดเจนขึ้น ทำให้คัดเลือกเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัยฯ แต่ขณะนั้นไม่สามารถหานักวิจัยได้ แต่ในปี 2566 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยรับไปสนับสนุนทุนวิจัยและหานักวิจัยเพื่อทำการศึกษา และนำเสนอในเดือนธันวาคม 2566 โดย สปสช. ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการบรรจุสิทธิประโยชน์ โดยผ่านการพิจารณาทั้งคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน เป็นต้น และมอบให้ สปสช. นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในวันนี้
“การรักษาภาวะมีบุตรยากที่บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในการเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย ซึ่งในอดีตสิทธิประโยชน์นี้อาจไม่จำเป็น แต่ด้วยปัจจุบันที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลง สปสช. จึงร่วมสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยากในกลุ่มที่มีความพร้อมและต้องการมีบุตร โดยให้นำร่อง 3 ปี และติดตามประเมินผลอย่างรอบด้านเพื่อตัดสินใจขยายผลต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ได้มอบสำนักงานฯ กำหนดมาตรการการคัดกรองผู้ที่จะได้รับการรักษาภาวะมีบุตรยาก จัดระบบกำกับติดตามประเมินผลอย่างรอบด้าน และรายงานคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อพิจารณายากระตุ้นไข่และยาเหนี่ยวนำการตกไข่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงประสานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการกำหนดให้มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรและให้คำปรึกษาแก่ผู้มีบุตรยาก ในทุกโรงพยาบาลและทุกระดับ พัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเฉพาะการขยายบริการไปจนถึงโรงพยาบาลชุมชนให้สามารถดำเนินการได้ถึงระดับที่ 2 รวมทั้งระบบการส่งต่อระหว่างเขตสุขภาพเพื่อให้ระบบบริการมีความเสมอภาคและประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนพัฒนาระบบการลงทะเบียนการรักษาภาวะมีบุตรยาก (infertile registry ตั้งแต่ระดับที่ 1–3) เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันระดับประเทศและใช้ในการวางแผนนโยบายในระยะยาว โดยหลังจากนี้ สปสช.จะเร่งดำเนินการตามรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถเริ่มใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ในเร็วๆ นี้
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี