เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย TikTok Thailand บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “ฮักบ่Hate พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อการสื่อสารที่ไม่ใช้ความรุนแรง” โดย น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ในสังคมไทย เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนและทุกสถาบันทางสังคมต้องให้ความสำคัญ
โดยเฉพาะการสื่อสารในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกคนต่างมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่มักพบสถานการณ์การสื่อสาร ทั้งด้วยข้อความ คำพูด หรือแม้แต่รูปภาพ ที่แสดงถึงการเหยียดหยาม ใส่ร้ายป้ายสี ดูถูก รวมถึงการยุยง ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มบุคคล ในประเด็นต่าง ๆ ที่อ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ ภาษา รูปลักษณ์ เพศสภาพ อาชีพ หรือแม้แต่อุดมการณ์ความเชื่อของบุคคล
“Hate Speech จึงเป็นบ่อเกิดความเสียหาย อับอาย ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งผู้ถูกกระทำในหลายกรณีได้รับผลกระทบทางจิตใจ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงใยที่สุดในสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการสื่อสารที่สร้างสรรค์เพื่อให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจาก Hate Speech สำหรับทุกคน” น.ส.พรประไพ กล่าว
ขณะที่ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนา เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2565-2566 มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech เข้ามายัง กสม. ราว 30 เรื่อง มีทั้งการดูหมิ่นเหยียดหยาม ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การข่มขู่คุกคาม โดยกรณีที่หลายคนน่าจะจำกันได้ คือกรณีแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ ที่มีการเปิดห้องสนทนาแล้วมีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นในลักษณะดูหมิ่นคนอีสาน และ กสม. ก็ได้ให้ข้อสรุปจากการตรวจสอบแล้วว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน
“เรามีข้อเสนอแนะถึงหลายส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการสร้างความตระหนัก เรื่องที่เราจะใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์อย่างไร มีข้อเสนอไปที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอให้มีบทบาทสนับสนุนในเรื่องการสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ มีการพูดถึงเรื่องเชิงกฎหมายอยู่ด้วยเหมือนกัน วันนั้นเราก็คุยกันว่าเรื่องเกี่ยวกับ Bullying เรื่อง Hate Speech เรื่อง Grooming หรือ Sextortion ภัยออนไลน์อีกหลายอย่างที่กฎหมายอาจยังไม่ครอบคลุม ควรมีกฎหมายอย่างไรหรือไม่ ก็มีข้อสรุปว่าควรจะมีบางส่วน” นายวสันต์ ระบุ
ด้าน น.ส.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า มีความพยายามเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่กลไกรัฐสภาเพื่อจัดการกับภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ อาทิ การกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ (Cyberbullying) ซึ่งความหมายเดิมคือต้องเป็นการกระทำซ้ำๆ จนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ แต่บางครั้งก็พบว่าถูกกระทำเพียงครั้งเดียวถึงขั้นจบชีวิตตนเองก็มี จึงเสนอเข้าไปในร่างกฎหมายด้วย
การติดตามกันทางออนไลน์ (Cyberstalking) ที่ผ่านมาพฤติกรรมลักษณะนี้คือการไปดักรอเป้าหมายตามสถานที่ต่างๆ จนทำให้เป้าหมายรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ปัจจุบันพบกรณีคู่รักที่เลิกรากันไปแล้วยังมาคอยทักในสื่อสังคมออนไลน์ กดส่งสติ๊กเกอร์ บอกว่ารู้นะว่าอยู่ที่ไหน ใช้ข้อมูลที่ได้จากทางออนไลน์มาทำให้เป้าหมายหวาดกลัวไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่กฎหมายปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม โดยยังจำกัดอยู่แต่เพียงการติดตามที่ต้องมาปรากฏตัวให้เห็นเท่านั้น
การล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ (Grooming & Sexting) ตามกฎหมายปัจจุบัน ความผิดเกี่ยวกับเพศจะเป็นเรื่องข่มขืน กระทำอนาจาร พรากผู้เยาว์ ซึ่งเป็นความผิดที่ผู้กระทำต้องถูกเนื้อต้องตัวเหยื่อ แต่ปัจจุบันพบการล่อลวงให้เด็กแสดงพฤติกรรมทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ส่งสื่อลามกให้เด็กดูแล้วชักชวนให้เด็กลองทำตามพร้อมเปิดกล้องโชว์ แล้วบันทึกภาพหรือคลิปวีดีโอไว้ จากนั้นนำไปแชร์หรือขายต่อ ซึ่งปัจจุบัน ความผิดฐานเผยแพร่สื่อลามกตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยังจำกัดเพียงการเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นวงกว้าง ไปไม่ถึงการส่งแบบส่วนตัว
รวมถึงการขู่กรรโชกเรื่องเพศ (Sextortion) หมายถึงการล่อลวงให้เหยื่อแสดงพฤติกรรมทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ แล้วบันทึกภาพหรือคลิปวีดีโอไว้สำหรับนำมาข่มขู่เหยื่อให้ถ่ายภาพ-ถ่ายคลิปเพิ่ม หรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่เอาผิดได้เฉพาะการขู่กรรโชกเรียกเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น โดยปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการแล้ว อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น และขอยืนยันว่าหลายประเทศมีกฎหมายทำนองนี้แล้ว แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์
“เดี๋ยวสภาปิดเมษา แล้วเปิดอีกทีกรกฎา ก็หวังว่าอันนี้จะเข้าพิจารณาเร็ว เพราะจริงๆ แล้วกระบวนการทางกฎหมายคือต้องเข้าสภาหลายรอบ มีการโหวตนั่นโน่นนี่ สภา สส. ไปวุฒิสภาอีก กว่าที่จะรับรองและลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เร็วๆ มีคนบอกว่า 18 เดือน ในขณะที่ยังมีเคสทุกวัน” น.ส.ศรีดา กล่าว
ภายในงานยังมีการมอบรางวัลการประกวดคลิปสั้น TikTok แคมเปญ “ฮักบ่Hate” ซึ่งมีการเปิดรับผลงานระหว่างวันที่ 7 ก.พ. – 8 มี.ค. 2567 และมีเยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมส่งผลงานที่เป็นการแบ่งปันมุมมอง ความเข้าใจ และความตระหนักต่อเรื่องการสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง เข้าร่วมการประกวดราว 200 คลิป โดยมีผู้ได้รับรางวัลเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 บาท รวมทั้งสิ้น 6 รางวัล ดังต่อไปนี้
รางวัลคลิปวิดีโอคุณภาพ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ (1) ผลงานเรื่อง “เรียนรู้ เข้าใจ ไม่สร้าง #HateSpeech” โดย เด็กหญิงวรกมล ไหมเพ็ชร (2) ผลงานเรื่อง “ครูกะเทย” โดย นายธรินทร์ญา คล้ามทุ่ง และ (3) ผลงานเรื่อง “หยุด Hate Speech วาทะสร้างความเกลียดชัง” โดย นางสาววัชโรบล แก้วสุติน
รางวัลยอดรับชมสูงสุด จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ (1) ผลงานเรื่อง “ร่วมด้วยช่วยกันนะคะ เราหยุดเขาก็หยุด” โดย นางสาวจิดาภา เข็มเพ็ชร และ (2) ผลงานเรื่อง “ไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร ยังไง ก็ขอแค่ให้เราเป็นคนดี และไม่ต้องคิดและสนใจกับคำพวกนั้น” โดย นายดลวีย์ คำประดิษฐ และรางวัลถูกใจกรรมการ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานเรื่อง “คำพูดที่แม้แต่ตัวเองยังไม่ชอบ ก็อย่ามอบมันให้คนอื่น” โดย นายไชยวุฒิ มณีวรรณ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมผลงานของผู้ได้รับรางวัลและผู้เข้าร่วมการประกวดได้ที่ TikTok : สำนักงาน กสม. (@nhrc_thailand)
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี