สอศ.จับมือจีน โชว์หลักสูตรอินเตอร์ นำร่อง 19 สาขาทันสมัย ตอบโจทย์เศรษฐกิจจีน-ไทย ยกระดับอาชีวะสู่สากล
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม Lotus Pond Grand Hotel เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการการดำเนินงานครั้งที่ 3 โครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาจีน-ไทย 210 สาขา สัมมนาวิชาการแลกเปลี่ยนและความร่วมมืออาชีวศึกษาจีน-ไทย ในนามตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย โดยมีนายเหลียว เหลียนจง ประธานสาขาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สมาคมการศึกษาระดับอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวสุนทรพจน์ ผ่านวิดีโอ ผู้บริหารกรมการศึกษา มณฑลหูเป่ย ผู้บริหารกรมการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบท มณฑลหูเป่ย นายหลี จิ้งซง ประธานบริษัท การศึกษานานาชาติถังฟง กรุ๊ป และนายเฉิง เฉาเซิง เลขาธิการคณะกรรมการพรรคของวิทยาลัยอาชีวศึกษาการก่อสร้างเมืองหูเป่ย ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ และผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ภาคกลาง 3 ผู้บริหารส่วนกลาง สถานศึกษาในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันการอาชีวศึกษา นำร่อง จำนวน 19 แห่ง และสถานศึกษาอาชีวศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนจีน กว่า 60 แห่งเข้าร่วม
เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมงานประชุมเชิงปฏิบัติการการดำเนินงานครั้งที่ 3 โครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาจีน-ไทย 210 สาขา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นการสัมมนาทางวิชาการด้านอาชีวศึกษาระหว่างจีนและไทย เป็นการทำงานร่วมกันแบบครบทุกมิติครั้งแรกของโลก โดยมีผู้บริหารและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งสองประเทศ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกันในการพัฒนาและวางรากฐานที่มั่นคงให้กับการศึกษาด้านอาชีวศึกษาในอนาคตระหว่างวิทยาลัยจีนและไทยอย่างเป็นระบบ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและสื่อดิจิทัล ด้านภาษา +อาชีพ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ทรัพยากร และร่วมกันจัดการศึกษาทวิวุฒิไทย-จีน โดยในระยะที่ 1 ได้มีการหารือและตกลงร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานในการจัดทำหลักสูตรเรียนร่วมทวิวุฒิ ไทย - จีน นำร่อง จำนวน 19 สาขาวิชา (18 วิชาชีพ +1 วิชาพื้นฐาน) และจัดประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง ที่ประเทศไทย
รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับงานในโครงการดังกล่าวนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” สู่การขับเคลื่อนนโยบาย สอศ. นำโดย นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime), พัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อลดภาระของผู้เรียน และผู้ปกครอง (Skill Certificate), ยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง, พัฒนาระบบการเทียบระดับการศึกษาและคลังหน่วยกิตอาชีวศึกษา (Credit Bank), พัฒนาทักษะทางภาษาเพื่อการศึกษา และทำงาน (Language Skills) เป็นต้น สู่ความร่วมมือไตรภาคีเพื่อยกระดับการอาชีวศึกษาไทย-จีน ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยสถานศึกษาและสถาบันการอาชีวศึกษาไทย สถาบันอาชีวศึกษาสาธารณรัฐประชาชนจีน และบริษัท Tang International Education and Technology Ltd. ด้วยการเชื่อมต่อภาคประกอบการของทั้งสองประเทศ เข้าไว้ด้วยกัน และเกิดเป็นภาพความสำเร็จร่วมกันจากความร่วมมือ ที่จะเกิดขึ้น เมื่อมองผ่าน “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง” (Theory of Change) ซึ่งเป็นเหมือนเข็มทิศ ทำให้โครงการ ของเรามีความชัดเจนในสิ่งที่จะทำมากขึ้น
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุม ฯ จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 โครงการ ดังนี้ โครงการ CCTE โครงการความร่วมมือศูนย์สร้างมาตรฐานและทรัพยากรจีน-ไทย และโครงการความร่วมมือศูนย์ฝึกอบรมครูจีน-ไทย การประกาศและแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญสำหรับคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญความร่วมมือจีน-ไทย พิธิเปิดตัวความร่วมมือกลุ่มการรวมอุตสาหกรรมและการศึกษาคุณภาพอัจฉริยะสีเขียวจีน-ไทย พิธีมอบหนังสือเชิญทำหน้าที่โครงการ พิธีมอบหนังสือแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญจีน-ไทย พิธีประกาศกรอบมาตรฐานวิชาชีพ ระยะที่ 1 "โครงการ 210 สาขา" จำนวน 19 สาขา พิธีเปิดป้ายโครงการและเปิดตัวเว็บไซต์ (http://project210.tangce.net/views/home.html)
“โดย สอศ. มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและดำเนินโครงการความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาจีน-ไทย ให้มีคุณภาพ เป็นสากลมากขึ้น โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมทำงานร่วมกันได้ในอนาคต ปลูกฝังนักเรียนและครูให้มีความรู้ความเข้าใจ ในวัฒนธรรม ภาษา ตลอดจนทักษะและสมรรถนะทางวิชาชีพ ให้เกิดเป็นผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ พร้อมผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของสองประเทศ ด้วยมิตรภาพระหว่างจีนและไทย ซึ่งจะคงอยู่ตลอดไป” รองเลขาธิการ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี