สธ.ป้องกันโรคร้ายลามเข้าไทย
แบคทีเรียกินเนื้อคน
เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงจากญี่ปุ่น
สังเกตอาการภายใน1สัปดาห์
ถ้ามีไข้-ผื่นสากนูน-ตุ่มหนอง
รีบไปพบแพทย์วินิจฉัยด่วน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังโรค “แบคทีเรียกินเนื้อ” ที่กำลังระบาดในญี่ปุ่นใกล้ชิด เตือนปชช.สังเกตอาการตัวเอง ระบุอาการหลักของโรคดังกล่าว “ไข้-เจ็บคอ-ผื่นสากนูน–ตุ่มหนอง-ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก”รีบพบแพทย์วินิจฉัยรักษาโดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งกลับจากญี่ปุ่น ให้สังเกตอาการ 1 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกเอกสารชี้แจง กรณีมีรายงานข่าวการเกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ ที่มีสาเหตุจากติดเชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางการญี่ปุ่นกำลังสืบค้นหาสาเหตุของการเพิ่มขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด- 19 ร่วมกับสาเหตุอื่นด้วย สำหรับเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ อาการมีหลายรูปแบบตั้งแต่อาการน้อยหรือปานกลาง ได้แก่ การติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ หรืออาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย เช่น มีการอักเสบอย่างรุนแรงของผิวหนังชั้นลึก หรือเกิดภาวะช็อกที่อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรคยังระบุในเอกสารชี้แจงด้วยว่า หนึ่งในอาการแสดงของโรคและอยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยคือ โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ต้อง เฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกิดได้ทุกช่วงอายุแต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน ติดต่อจากคนสู่คน โดยการใกล้ชิดและหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือสัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ
สำหรับอาการที่พบ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสากๆ ตามร่างกาย (จากเชื้อสร้างสารพิษ) สัมผัสแล้ว มีลักษณะคล้ายกระดาษทราย กลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นเด็กวัยเรียน อายุ 5 – 15 ปี ที่อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก
ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคตั้งแต่ปี 2562 ถึงวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 4,989 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนผู้มีอาการรุนแรงนั้น จากระบบโครงสร้างฐานข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพของไทย ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 กรณี Toxic Shock Syndrome พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล 204 ราย เฉลี่ยปีละ 41 ราย และมีแนวโน้มลดต่ำลงในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 โดยในปี 2566 พบผู้ป่วย 29 ราย
“ส่วนกรณีโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) ซึ่งอาจเกิดได้จากแบคทีเรียหลายชนิด โดย 1 ในเชื้อสาเหตุคือ สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ จากการติดตามในปี 2562 – 2566 มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 106,021 ราย มีผู้เสียชีวิต 1,048 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 1% แนวโน้มการรายงานผู้ป่วยคงที่และลดลงในปี 2566 โดยมีอัตราป่วย 27.35 ต่อแสนประชากร จากเดิม 32.5 ต่อแสนประชากร พบรายงานผู้ป่วยตลอดทั้งปีแต่สูงสุดในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี”
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข้อมูล ยังไม่พบว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อนี้มีการเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงขึ้นในประเทศไทย การติดเชื้อนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนั้น การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ การได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสม ช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้ ในรายที่อาการเป็นมาก อาจต้องร่วมกับการผ่าตัดเนื้อตายออก กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้ที่มีรอยโรคที่ผิวหนังมาก่อน
ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดหลักของเชื้อดังกล่าว เป็นทางระบบทางเดินหายใจ อาจร่วมกับการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งหรือหนองจากแผล ในกรณีมีการติดเชื้อที่ผิวหนัง และการติดเชื้อนี้พบได้ทุกช่วงอายุ ดังนั้น มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด - 19 จึงสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ยังเป็นสิ่งจำเป็น ยิ่งมีคนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก หรือเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ ยิ่งเป็นคนในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลเคร่งครัด
กรมควบคุมโรคระบุด้วยว่า ยังคงติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ในญี่ปุ่นต่อเนื่อง ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก พร้อมออกคำแนะนำประชาชน ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ร่วมกับมีผื่นสากนูน หรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะหลังกลับจากต่างประเทศ ในช่วง 1 สัปดาห์แรก เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และแยกโรค หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี