“อาชีวะจะมีคนเรียนทั้ง ปวช. ปวส. รวมกันอยู่ประมาณ 1 ล้านคน จริงๆ ก็ประมาณ 9.9 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ ปวช. 6.4 แสนคน ปวส. อีก 3.4 แสนคน ในการเรียนก็จะจัดเป็นประเภทวิชา มีทั้งหมด 10 ประเภทวิชา แล้วก็มีแยกออกมาเป็นสาขาวิชาและสาขางาน อันนี้ Cut-off (ตัดยอด) ถึงประมาณปี 2565 ปัจจุบันตรงประเภทวิชาตรงนี้เดี๋ยวจะมีการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้เป็นภาพคร่าวๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเรียนอยู่ในประเภทวิชาอุตสาหกรรม แล้วก็พาณิชย์หรือว่าพวกบัญชี สถานศึกษาครึ่งๆ เลย เป็นรัฐ 433 แห่ง แล้วก็เอกชน 447 แห่ง แต่นักเรียนส่วนใหญ่เรียนอยู่ในสังกัดรัฐ
แนวโน้มที่ผ่านมา อาชีวะนี้น่าจะเจอกันหลายๆ สถาบัน ก็คือนักเรียนที่เข้าใหม่ลดลง แต่ที่เราค้นพบคือกลุ่มที่ลดลงเป็น ปวช. ส่วน ปวส. อาจจะยังไม่ลดลงมากขนาดนั้น แต่ในกลุ่มที่ลดก็มีกลุ่มที่เพิ่มเหมือนกัน จะมีบางสาขาวิชาที่ผู้เรียนเข้าเรียนเพิ่มอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่ม ICT (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) เกษตรกรรมก็เพิ่มเหมือนกันในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่ลดลงชัดเจนจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คหกรรมแล้วก็พาณิชยกรรม”
ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการยกระดับการศึกษาและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM)”เมื่อเร็วๆ นี้ ฉายภาพสถานการณ์การศึกษาระดับอาชีวศึกษาในประเทศไทย ซึ่งก็มีทั้งสาขาวิชาที่มีผู้เรียนเพิ่มและลด แต่ในส่วนของพาณิชยกรรม แม้จะลดลงไปบ้าง (ร้อยละ 7) แต่ด้วยจำนวนผู้เรียนที่มากอยู่แล้ว ในภาพรวมจึงไม่ถือว่าลดลงมากนัก
ขณะที่สาขาวิชาที่เพิ่มขึ้น พบว่าอยู่ในกลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์-Science, เทคโนโลยี-Technology , วิศวกรรมศาสตร์-Engineering, คณิตศาสตร์-Mathematics) โดยจากนักศึกษาอาชีวะทั้งหมด พบเรียนอยู่ในสาขาด้าน STEM ร้อยละ 56 และนอกจากสาขาเดิมที่มีอยู่แล้วยังพบการเปิดสาขาใหม่ด้วย เช่น เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ เริ่มเปิดการเรียนการสอนในปี 2561 จำนวน 64 หลักสูตร เพิ่มเป็นถึง 160 หลักสูตรในปี 2565 ขณะที่สาขาคอมพิวเตอร์ เพิ่มจาก 195 หลักสูตรในปี 2561 เป็น 410 หลักสูตรในปี 2565
เมื่อดูรายได้ พบว่า “งานที่ทำมีผลกับรายได้มากกว่าวุฒิที่จบมา” กล่าวคือ หากจบอาชีวะสาย STEM และได้ทำงานที่เกี่ยวกับ STEM จะมีรายได้มัธยฐานอยู่ที่ 18,000 บาทต่อเดือน รองลงมาคือผู้ที่ไม่ได้จบอาชีวะสาขา STEM แต่ได้ทำงานที่เกี่ยวกับ STEM จะมีรายได้มัธยฐานอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือนในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้ทำงานในอาชีพเกี่ยวกับ STEMรายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 12,000 บาทต่อเดือนไม่ว่าผู้นั้นจะจบอาชีวะสาย STEM หรือไม่ก็ตาม
แต่ในความเป็นจริง “แม้จะจบอาชีวะสาย STEM ก็หางานที่เกี่ยวข้องกับ STEM ทำไม่ง่าย” เมื่อเทียบกับผู้จบ ป.ตรี หรือ ป.โท สาย STEM ที่สามารถหางานสาย STEMทำได้มากกว่า (ปวช. อยู่ที่ร้อยละ 6, ปวส.ร้อยละ 9.14, ป.ตรี ร้อยละ 41 และ ป.โทร้อยละ 51) ทั้งนี้ มี 5 ปัจจัย ที่ต้องปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับอาชีวศึกษาของไทย ไล่ตั้งแต่ 1.คุณภาพผู้เรียน เช่น ผลสอบ PISA 2022 ที่พบว่า นักศึกษา ปวช. ชั้นปีที่ 1 ของไทย ร้อยละ 85 ไม่สามารถนำความรู้คณิตศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ และร้อยละ 70 ไม่สามารถใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ที่คุ้นเคยและไม่ซับซ้อน
“สถานการณ์ถือว่าหนัก แต่ผมไม่ได้บอกว่าผิดที่อาชีวะ นึกภาพว่าเป็นเหมือนน้ำตก ขั้นแรกอาจเป็นกลุ่มเน้นวิทย์ รองลงมาอาจเป็นกลุ่มโรงเรียนสาธิต ซึ่งอาชีวะเป็นกลุ่มที่พื้นฐานค่อนข้างต่ำในการเข้ามาเรียน ผมพูดถึงระยะเวลาที่สอบ (PISA) ช่วงเดือนสิงหาคม คือเพิ่งเปิดเทอม ไม่น่าเกี่ยวกับคุณภาพสถาบันอาชีวะ ทีนี้ด้วยพื้นฐานที่ต่ำ เราควรมองปัญหานี้อย่างไร? ถ้ามุมของ ปวช. ซึ่งส่วนใหญ่คนจบไปไม่ได้รีบหางานทำอยู่แล้ว เขามักจะต่อ ปวส. เพราะในหลักสูตร ปวช. ยังให้น้ำหนักกับวิชาพื้นฐานยังค่อนข้างน้อยอยู่ 17 หน่วยกิต จาก110 หน่วยกิต ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะต้องลองพิจารณาดู” ทัฬหวิชญ์ กล่าว
2.หลักสูตร ยังมีความเหลื่อมกันระหว่างการพัฒนาหลักสูตรกับความต้องการของภาคเอกชน ทั้งในแง่ของวิชาที่เรียนและชั่วโมงการฝึกงานซึ่งอาจน้อยกว่าที่ภาคเอกชนคาดหวัง 3.ระบบประกันคุณภาพ แบ่งเป็นระบบประกันภายนอก แม้มีการวัดผลที่อิงกับผลลัพธ์ของผู้เรียนมากขึ้น แต่ผลการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ ต้องการพัฒนาตัวชี้วัดที่ภาคเอกชนให้การยอมรับ ส่วนภาวะการมีงานทำก็ยังเป็นการสำรวจที่ไม่เป็นระบบมากนัก เช่น สำรวจ ณ วันที่สำเร็จการศึกษา แต่ไม่มีระบบการติดตามระยะยาว ส่วนระบบประกันภายใน ยังเน้นเก็บเอกสาร ซึ่งเป็นการสร้างภาระกับสถาบันการศึกษา หรือประเมินว่ามีแผนและทำตามแผนหรือไม่ แต่ไม่ได้ดูคุณภาพที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร
4.ครู ในการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษานั้นต้องการ “ครูที่มีประสบการณ์กับภาคเอกชน” ในขณะที่การเรียนสายสามัญ (ม.ปลาย 4-6) ครูจะสอนเป็นรายวิชา (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ) แต่อาชีวะเป็นการเรียนที่มุ่งไปทางอาชีพ จึงต้องการครูที่มีทักษะที่เกี่ยวกับด้านอาชีพอย่างมาก แต่เมื่อดูกระบวนการผลิตครูอาชีวะ เช่น ผู้ที่เรียนต่อมหาวิทยาลัยในสาขาครุอุตสาหกรรม (ครูช่าง) ก็อาจไม่มีทักษะช่างมากนัก
อาทิ มาจากคนจบ ม.ปลาย หรือแม้มาจากนักศึกษาอาชีวะ จบ ปวช.-ปวส. แต่ก็ยังมีทักษะงานช่างไม่ชำนาญพอ ก็จะมีปัญหาการส่งต่อเมื่อต้องไปเป็นครู และแม้กระทั่งชั่วโมงฝึกงาน ในหลักสูตรครุอุตสาหกรรม ชั่วโมงฝึกงานอยู่ที่เฉลี่ย 324 ชั่วโมง ก็ยังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับระดับ ปวช. ซึ่งอยู่ที่ 1,242 ชั่วโมง รวมถึงชั่วโมงพัฒนาวิชาชีพที่มีเพียง 75 ชั่วโมงต่อปี อีกทั้งพบบางส่วนไม่ได้ส่งไปอยู่กับสถานการณ์ประกอบการ ดังนั้นเมื่อมาเป็นครูก็จะขาดประสบการณ์
5.ทรัพยากร การเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษา เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก แต่เมื่อดูงบลงทุน 10 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการศึกษาต่อปี และต้องไปจัดสรรกันเองระหว่าง ปวช. กับ ปวช. จึงมีข้อจำกัดในการซื้อครุภัณฑ์ขนาดใหญ่รวมถึงงบลงทุนครุภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อยู่ที่เพียงร้อยละ 4 หรือราว 950-988 ล้านบาท 6.การศึกษาแบบทวิภาคียังขยายตัวได้ช้า ในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2561-2565 มีเพียงระดับ ปวส. ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับในส่วนของนักเรียน ม.ปลาย หรือนักศึกษา ปวช.
“สาเหตุที่อาชีวะทวีภาคีขยายตัวได้ช้าทางคณะวิจัยมองว่าประการแรกคือตัวสถานประกอบการเองอาจยังไม่สามารถจัดระบบอาชีวะทวีภาคีได้มีคุณภาพมากนัก ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากการประกันคุณภาพยังไม่ได้มีระบบที่ดีมากพอ ตำแหน่งฝึกงานก็ยังน้อย ตำแหน่งฝึกงานที่มีคุณภาพสูง ซึ่งหลายๆ ที่ที่รับนักศึกษาฝึกงานไปแล้วก็ให้ไปชงกาแฟอะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นเสียงสะท้อนมา
ในทางกลับกัน นักเรียนหรือผู้ปกครองก็อาจไม่อยากส่งผู้เรียนไปเรียนในกลุ่มทวิภาคี อีกอย่างคือเรื่องต้นทุนในการจัดทวิภาคีก็ค่อนข้างสูง เพราะการจับคู่กันระหว่างสถาบันอาชีวะกับสถานประกอบการ อันนี้ต้องเข้ากันแบบ Case-By-Case (เป็นรายกรณี) กันไปเลย อาจจะมีต้นทุนที่สูง” ทัฬหวิชญ์ ระบุ
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา แบ่งเป็น “ระยะสั้น” ได้แก่ 1.ปรับหลักสูตรระดับ ปวช. เพื่อแก้ปัญหาความรู้และทักษะพื้นฐานโดยเน้นวิชาพื้นฐานมากขึ้น เพราะผู้ที่เรียนจบระดับนี้ส่วนใหญ่มักไม่รีบออกไปประกอบอาชีพแต่จะเลือกเรียนต่อมากกว่า จึงไม่จำเป็นต้องรีบฝึกทักษะที่ยึดโยงกับสาขาวิชาหรือสาขางาน แต่วิชาพื้นฐาน (เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ) สำหรับสอนนักศึกษาอาชีวะ ก็ต้องปรับการสอนให้สอดคล้องกับการเรียนในสายนี้ด้วย ซึ่งเท่าที่ทราบ ในปีการศึกษา 2567 น่าจะเริ่มปรับแล้ว จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี
2.ระบบประกันคุณภาพของสถาบันอาชีวศึกษา ปัจจุบันให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของผู้เรียนมากขึ้น ที่ควรทำต่อไปคือพัฒนาตัวชี้วัดมาตรฐานวิชาชีพโดยให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น และระบบติดตามการมีงานทำของผู้เรียนควรเป็นระบบติดตามได้ในระยะยาวมากขึ้น เช่น นอกจากจะดูว่าจบแล้วมีงานทำหรือไม่ ที่ควรดูต่อไปคือได้ทำงานตรงกับสาขาวิชาที่จบไปหรือเปล่า มีรายได้เป็นอย่างไร (อาทิ เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลภาษี ว่ามีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่)
และ 3.เพิ่มการลงทุนในครุภัณฑ์ ควรคำนวณเรื่องการเสื่อมราคาในอนาคต เพื่อจัดสรรงบประมาณได้เหมาะสมมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องกำหนดจำนวนเงินไว้ตายตัว โดยมีตัวอย่างจากเกณฑ์ของ ITE สิงคโปร์ จะต้องใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาให้ครุภัณฑ์มีคุณภาพ (ลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์ครุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยปีละ 6,700 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี, งบค่าซ่อมบํารุง/ปลดระวางครุภัณฑ์ปีละ 5,300 ล้านบาท และงบวัสดุฝึกปีละ 8,300 ล้านบาท)
ส่วน “ระยะยาว” ประกอบด้วย 1.ตั้งสถาบันวิชาชีพครูเพื่อแก้ปัญหาทักษะครูรวมถึงปัญหาหลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับงาน ซึ่งปัญหาในปัจจุบัน การออกใบประกอบวิชาชีพและกำหนดมาตรฐานวิชาชีพไม่ได้แยกออกมาเป็นครูอาชีวะโดยเฉพาะ ยังรวมกับครูที่สอนในสายสามัญทั่วไป เพื่อดูว่าทักษะใดบ้างที่คนเป็นครูอาชีวะควรมี เพื่อนำมาวางแผนการผลิตครูต่อไป โดยมีผู้เชี่ยวชาญสาขาอาชีพร่วมเป็นคณะทำงาน
และ 2.จัดตั้งกองทุนพัฒนาอาชีวศึกษาทวิภาคี ด้วยการจัดตั้งกองทุนทวิภาคี เพื่อลดต้นทุนจัดการศึกษาและเพิ่มคุณภาพ โดยระดมทรัพยากรจากภาคเอกชน โดยเก็บทุกคนเท่ากัน พร้อมกับภาครัฐสมทบทุนในอัตราเท่ากันสำหรับใช้เป็นทุนตั้งต้น ซึ่งกองทุนนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ดูว่าสถานประกอบการใดต้องการรับนักศึกษาฝึกงาน และนักศึกษาคนใดต้องการฝึกงาน แทนที่จะให้สถาบันการศึกษากับสถานประกอบการต้องไปทำข้อตกลง (MOU) กันเอง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี