เวที"ผู้ตรวจฯ"ถกเดือดประกาศสธ.ครอบครองยาเสพติด 5 เม็ด"ผู้การแต้ม"ทิ้งบอมบ์ถาม“ยาเสียสาว”ทำไมต้องมีครอบครอง ส่วน"ดร.โต้ง"ท้ารัฐเปิดสถิติจับผู้ค้ารายย่อยหลังใช้ กม.ใหม่
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.67 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานประชุมหารือ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวง มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วม เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงกรณีที่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยื่นเรื่องมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและเสนอความเห็นไปยังศาลปกครองให้มีคำสั่งไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้มีการปรับแก้กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 เนื่องจากเห็นว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยเฉพาะกรณีกำหนดให้ผู้ครอบครองยาเสพติดไม่เกิน 5 เม็ดถือเป็นผู้ป่วย
โดย พล.ต.ต.วิชัย เปิดเผยว่า วันนี้(1 เม.ย.)ได้เดินทางเข้าชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน จากกรณีที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเห็นว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยไม่สร้างผลดีให้กับประชาชน แต่กลับสร้างผลร้ายให้กับประชาชนมากขึ้น และประกาศกฎกระทรวงฯไม่ได้ทำตามหลักวิชาการ แต่เร่งรีบที่จะออกประกาศ และตนเชื่อว่าการออกประกาศดังกล่าวมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เพราะพฤติกรรมแสดงความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าจะเกิดปัญหาในภายหลัง
โดยยกกรณีเหตุการณ์เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (1 เม.ย.) คนคลั่งยาก่อเหตุตัดศีรษะมารดาและหิ้วหัวประจาน ซึ่งเกิดจากพิษภัยของยาบ้าทำให้เป็นโรคเกิดจากจิตเวชหรือไม่ แต่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ได้มีการควบคุมหรือมีนโยบายที่จะทำให้ผู้เสพหายจากอาการป่วยอย่างเด็ดขาด แต่รัฐกลับนำปริมาณยามาเป็นข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ และสร้างความลำบากในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากมาย และที่สำคัญเป็นนโยบายที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทุจริตต่อหน้าที่มากขึ้น ปัญหาอาชญากรรมมากขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากขึ้น
ดังนั้น จึงถือว่าประกาศนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงมาร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องไปยังศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศกระทรวงดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ตนขอตั้งคำถามว่าเหตุใดกฎกระทรวงฉบับนี้กลับระบุว่ายาเสียสาวต้องมีไว้ไม่เกิน 10 เม็ด ถือว่าเป็นผู้เสพ ตนถามว่ายาเสียสาวนั้น คนที่จะถือไว้คือใคร ซึ่งก็คือผู้ชายเพื่อจะไปใส่ยาให้กับผู้หญิงกินแล้วไปล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้หญิงจะใช้ยาเสียสาวเพื่อตัวเองนั่นไม่มีแน่นอน จึงขอตั้งคำถามว่านำมาประกาศใช้ได้อย่างไร เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างชัดเจนมาก จึงอยากให้ประชาชนได้รับทราบว่านี่คือ ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผลร้ายต่อประชาชนขัดต่อความสงบสุขของประชาชน
ด้าน พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ พูตระกูล หรืออาจารย์โต้ง นักอาชญวิทยา กล่าวว่า วันนี้ตนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการกับผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากมีการประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับยาเสพติดกรณีการครอบครอง เช่น การครอบครองยาบ้า 5 เม็ดถือว่าเป็นผู้เสพ โดยส่วนตัวเห็นว่าการจะออกนโยบายต้องยึดโยงกับข้อมูลหลักทางวิชาการและการวิจัย รวมถึงข้อมูลจากฝั่งผู้ปฏิบัติงานด้วย แต่จากการย้อนดูงานวิจัยแล้ว ตนไม่เห็นว่าไม่มีงานวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่อ้างการครอบครองยาเสพติดอย่างยาบ้า 5 เม็ด แล้วบอกว่าเป็นผู้เสพ เพราะนโยบายเหล่านี้หากมองในมุมหนึ่งรัฐบาลอาจมีเจตนาที่ดีแยกระหว่างผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย โดยมีหลักเกณฑ์บางอย่างเพื่อเป็นเส้นแบ่ง แต่ทุกนโยบายย่อมมีด้านบวกและด้านลบเสมอ ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าการปราบปรามยาเสพติดเราไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะเรามองแค่มิติเดียวที่ว่าผู้เสพคือผู้ป่วย แต่จริงๆแล้วเห็นว่ามีหลายมิติที่รัฐบาลควรจะต้องดู เช่นการบำบัด ฟื้นฟู และแก้ไขผู้ติดยาเสพติดระดับชุมชน มีการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ สถานที่บำบัดมีเพียงพอหรือไม่ เจ้าหน้าที่ บุคลากร งบประมาณใครเป็นเจ้าภาพ มีกำลังเพียงพอหรือไม่
พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กลายเป็นช่องโหว่ช่องว่าง เช่น ผู้ค้ารายย่อยก็ซอยจำหน่ายยาจากเดิมพก 10 - 15 เม็ด ก็เปลี่ยนมาเป็นพก 5 เม็ด หากตำรวจเจอก็สันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้เสพ ถึงแม้จะบอกว่าดูพฤติการณ์ประกอบก็อาจจะแจ้งข้อหาเป็นผู้ค้าได้ แม้จะมีแค่เม็ดเดียวแต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่จะดูพฤติการณ์นั้นคือตำรวจ ฝ่ายสืบสวน แต่อย่างที่ทราบกันดีในปัจจุบันตำรวจก็ยังมีปัญหาความขัดแย้ง ตนหวังว่าจะต้องมีการทบทวนดูสถิติตั้งแต่มีการประกาศฉบับนี้ออกไปว่ามีการดำเนินคดีกับผู้ครอบครองยาเช่น 5 เม็ดมีการแจ้งข้อหาจำหน่ายกี่ราย
อย่างไรก็ตาม จากที่มีการทบทวนนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดของไทย พบว่าการยึดอายัดทรัพย์ขบวนการเครือข่ายเกี่ยวกับยาเสพติดยังน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณยาที่เกิดขึ้น หรือขบวนการเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และยาเสพติดก็เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม อาชญากรรมข้ามชาติ เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนด้วย ดังนั้นเราอาจจะต้องมองปัญหารอบด้านในทุกมิติ ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่านโยบายอะไรก็ตามที่ประกาศนโยบายออกมาต้องมีความเข้าใจทั้งในเรื่องของความรู้ หลักวิชาการและเข้าใจในมุมมองฝั่งผู้ปฏิบัติ เพราะสุดท้ายเราเห็นตรงกันเพื่อสังคมที่สงบสุขเรียบร้อย
ทางด้าน พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือในวันนี้เพื่อทบทวนประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด เนื่องจากมีผู้มาร้องเรียนว่าอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจจะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือเกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมารับฟังข้อมูลในการที่จะเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีคำวินิจฉัย ซึ่งก็จะมีอยู่ 2 กรณี หากขัดต่อกฎหมายก็จะส่งเรื่องต่อศาลปกครอง แต่หากกฎกระทรวงฉบับนี้ยังไม่เหมาะสมยังมีข้อบกพร่องใดๆ ก็จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวน ทั้งนี้เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องดำเนินการ หากจะส่งเรื่องไปยังศาลก็จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่เกิน 90 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการประชุมดังกล่าวสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมีการประมวลความคิดเห็นจากที่ประชุมเพื่อส่งเรื่องให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี