ฝุ่นพิษใน 19 จังหวัดภาคเหนือ-อีสาน ยังหนัก มีผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบทางเดินหายใจด้านปภ.เตือน 60 จังหวัด รับมือพายุฤดูร้อน 8-11 เมษายนนี้ ส่วนกรมอุตุฯ ชี้อากาศร้อนจัด อุณหภูมิพุ่ง 43 องศาฯ
เมื่อวันที่ 7เมษายน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่นเช็คฝุ่น พบว่า19จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ เชียงใหม่ 179.9 ไมโครกรัม, เชียงราย 175.5 ไมโครกรัม, แม่ฮ่องสอน 162.6 ไมโครกรัม, ลำพูน 152.1 ไมโครกรัม, พะเยา 136.8 ไมโครกรัม, ลำปาง 127.1 ไมโครกรัม น่าน 126.5 ไมโครกรัม, แพร่ 110.7 ไมโครกรัม, นครพนม 109.4 ไมโครกรัม, เลย 101 ไมโครกรัม, บึงกาฬ 99.3 ไมโครกรัม, อุตรดิตถ์ 95.2 ไมโครกรัม, หนองคาย 89.3 ไมโครกรัม, ตาก 85.8 ไมโครกรัม, สกลนคร 85.2 ไมโครกรัม, มุกดาหาร 83.6 ไมโครกรัม, อุดรธานี 80.7 ไมโครกรัม, หนองบัวลำภู 79.5 ไมโครกรัม และสุโขทัย 79.4 ไมโครกรัม
ขณะที่อีก 17 จังหวัดมีค่าเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม ที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่จะอยู่ในโซนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับพื้นที่กทม.พบว่าทุกเขตมีค่าคุณภาพอากาศดี ส่วนคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโซนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้านนายไชยวัฒน์จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ได้ประสาน 60 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกทม.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์พายุฤดูร้อนในลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ช่วงวันที่ 8-11 เมษายนนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ทราบล่วงหน้า และปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
นายไชยวัฒน์เปิดเผยด้วยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (68/2567) ลงวันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 17.00 น.แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และผ่านภาคเหนือตอนบน ขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกทม.จะมีพายุฤดูร้อน
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังพายุฤดูร้อน มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ช่วงวันที่ 8-11 เมษายน 2567 ดังนี้ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคามกาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี และภาคกลาง 23 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ รวมถึง กทม.
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นระยะเวลานาน
ขณะเดียวกัน ลมใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
อนึ่งช่วงวันที่ 8-11 เมษายน 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับในช่วงวันที่ 9-11 เมษายน 2567 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศเมียนมาและผ่านภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในระยะแรก โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ10ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากที่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตากและเพชรบูรณ์ อุณหภูมิสูงสุด 39-43 องศาเซลเซียส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากที่ จ.ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ อุณหภูมิสูงสุด 40-41 องศาฯ ภาคกลาง อากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากที่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรีและอุทัยธานี อุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศาฯ
ภาคตะวันออก อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากที่ จ.สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิสูงสุด 35-41 องศาฯภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) อากาศร้อนโดยทั่วไปในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากที่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ยะลา และนราธิวาสอุณหภูมิสูงสุด 33-41 องศาฯ ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ10ของพื้นที่ ส่วนมากที่ จ.ระนอง และพังงา อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาฯ ส่วน กทม.และปริมณฑล อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี