พบสารแคดเมียมในคนงานโรงหลอมเกินมาตรฐาน สธ.ประสานนำตัวรักษา
วันที่ 7 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กรณีผลการตรวจปัสสาวะพนักงาน บริษัท เจแอนด์ บี เมททอล จำกัด เลขที่ 132 ม.2 ซ.กองพนันพล ถ.เอกชัย ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นบริษัทมีการขนย้ายกากแคดเมียมจากจังหวัดตาก เข้ามาไว้ภายในโรงงานจำนวน 3,040 ตัน โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นและอายัดกากแคดเมียมทั้งหมด เพื่อรอการขนย้ายกลับไปยังต้นทาง เมื่อ 2-3 วันที่ผ่าน พร้อมกับมีการตรวจสุขภาพพนักงานในบริษัท และเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกายพนักงานจำนวน 11 คน จาก 19 คน
ล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้รายงานผลการตรวจปัสสาวะของพนักงานบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ทั้งสิ้น 11 คน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 พบว่ามีสารแคดเมียมในร่ายกายเกินมาตรฐานจำนวน 8 ราย โดยทั้งหมดไม่มีอาการผิดปกติ ได้ประสานพนักงานโรงงานทั้ง 11 ราย ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมุทรสาครในวันที่ 8 เมษายน 2567 เพื่อตรวจยืนยันและให้การรักษาตัว
รวมทั้งติดตามติดตามพนักงานของโรงงานที่เหลืออีก 8 ราย เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ในวันที่ 8 เมษายน 2567 และเตรียมความพร้อมทีมสอบสวนโรค ลงพื้นที่สอบสวนโรคเพิ่มเติม เพื่อเฝ้าระวังและให้คำแนะนำ โดยโรงพยาบาลสมุทรสาครเตรียมความพร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถานที่ ยา เวชภัณฑ์ และสารแก้พิษ เพื่อรองรับพนักงานที่จะเข้ารักษาในวันที่ 8 เมษายน 2567
ขณะที่ ศูนย์อนามัยที่ 5 ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำอุปโภคบริโภค และอาหารของประชาชนในชุมชนใกล้โรงงาน จำนวน 11 ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการสาธารณสุข กรมอนามัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม เพื่อตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารแคดเมียมในภาชนะกักเก็บน้ำในครัวเรือน การปนเปื้อนในอาหาร เพื่อหาแนวทางลดความเสี่ยงจากการสัมผัส และแนวทางการป้องกันของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสารแคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตจับกับโปรตีน albumin ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบที่ตับ บางส่วนของแคดเมียมจะจับตัวกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง (metallothionein) เข้าไปสะสมในตับและไต และถูกขับออกทางปัสสาวะ
โดยขบวนการขับแคดเมียมออกจากไตเกิดขึ้นช้ามาก ใช้เวลาถึงประมาณ 20 ปี ถึงสามารถขับแคดเมียมออกได้ครึ่งหนึ่งของแคดเมียมที่มีการสะสมอยู่ในไตออกได้ ทำให้มีอาการกรวยไตอักเสบ ผู้ที่ได้รับแคดเมียมเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ไต ต่อมลูกหมาก และตับอ่อน มีรายงานผู้ป่วยที่กินข้าวที่เพาะปลูกจากแหล่งที่ดินมีการปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการของโรคกระดูกพรุน และกระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ รวมถึงโรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease) อีกด้วย
ในส่วนการรักษาเบื้องต้น หากร่างกายได้รับแคดเมียมจากการบริโภคอาหาร ให้ดื่มนมหรือบริโภคไข่ที่ตีแล้ว เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร หรืออาจทําให้ถ่ายท้องด้วย Fleet’s Phospho Soda (เจือจาง 1:4 ด้วยนํ้า) 30-60 มิลลิกรัม เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี