‘กรมข้าว’เปิดตัว
10พันธุ์ข้าวใหม่
คุณภาพชั้นเยี่ยม
เริ่มแจกตุลาคมนี้
กรมข้าว พร้อมเปิดตัวพันธุ์ข้าว 10 สายพันธุ์ใหม่ พร้อมแจกจ่ายให้เกษตรกรได้ภายในเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้ ด้าน ‘ณัฏฐกิตติ์’ วอนเกษตรกรทำนาสะอาด ไม่ปลูกข้าวหลายชนิดปนกัน ช่วยเพิ่มราคาผลผลิต
เมื่อวันที่ 9เมษายน นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว โดยที่ประชุมมีมติรับรองข้าวพันธุ์ใหม่ 10 พันธุ์ เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระชนมพรรษา 72 พรรษา โดยมีข้าวหลายประเภท ประกอบด้วยข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวญี่ปุ่น ข้าวพื้นเมือง และข้าวสาลี ซึ่งข้าวแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันตามการนำไปใช้ประโยชน์ได้แก่ กข99 (หอมคลองหลวง 72) กข26 (เชียงราย 72) กข103 (หอมชัยนาท 72) กข105 (เจ้าพระยา 72) กข107 (พิษณุโลก 72) กข109 (หอมพัทลุง 72) กข24 (สกลนคร 72) กขจ1 (วังทอง 72) กขส1 (สะเมิง 72) และ หอมหัวบอน35 (กระบี่ 72)
ทั้งนี้ ก่อนการเข้าร่วมประชุม อธิบดีกรมการข้าว ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลในประเด็น ว่า ก่อนหน้านี้กรมการข้าวเคยประชาสัมพันธ์ไปแล้ว ว่าภายในปี 2567 กรมการข้าวจะรับรองพันธุ์ข้าว 10 พันธุ์ และในครั้งนี้เป็นการเชิญคณะกรรมการรับรองพันธุ์ข้าวมาเพื่อรับรองพันธุ์ข้าวดังกล่าว
ส่วนสาเหตุที่การประกาศรับรองพันธุ์ข้าวล่าช้าไป เนื่องจากขณะนี้กำลังมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลัก โดยจะเริ่มแจกจ่ายและจำหน่ายพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกรได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป หรืออาจมีบางพันธุ์ที่เริ่มได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 โดยเกษตรกรสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อประกาศพันธุ์ข้าวแล้วจะใช้เวลา 1-2 ปีกว่าจะมีเมล็ดพันธุ์พร้อมสำหรับเกษตรกรที่ต้องการ แต่ปัจจุบันประกาศแล้วสามารถแจกจ่ายหรือจำหน่ายได้โดยใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน
“ต่อไปในอนาคตข้างหน้าเพื่อขยายพันธุ์ให้เพียงพอกับพี่น้องเกษตรกร เราก็ได้หาเรือกับทางสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของภาคเอกชน วันนี้กำลังการผลิตของเราอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.5 แสนตัน มันไม่เพียงพอหรอก ต่อไปกองเมล็ดพันธุ์ เราจะผลิตแค่ชั้นพันธุ์ขยาย ชั้นพันธุ์จำหน่ายเราจะกระจายไปให้ภาคเอกชนหรือศูนย์ข้าวชุมชน หรือกลุ่มนาแปลงใหญ่ เกษตรกรที่มีความพร้อมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ตรงนี้เราจะรับซื้อแล้วก็มา Process (ผ่านกระบวนการ) และจำหน่ายให้พี่น้องเกษตรกร” นายณัฏฐกิตติ์ กล่าว
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ได้รณรงค์ให้เกษตรกรเข้าใจและเห็นความสำคัญถึงเรื่องของการทำนาสะอาด หรือทำโซนนิ่งแยกพื้นที่ปลูกข้าวแต่ละชนิดให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาปัญหาของการผลิตข้าวคือมีข้าวหลายชนิดผสมปนกัน มีทั้งข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง ทำให้คุณภาพของข้าวด้อยลงไป เช่น ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณนอกเขตชลประทาน บางจุดที่มีน้ำพอช่วงฤดูนาปรังก็เอาข้าวขาวไปปลูก แต่เมื่อฤดูทำนาจริงๆ มาถึงก็เอาข้าวหอมมะลิบ้าง ข้าวเหนียวบ้างไปปลูก ทำให้เสียคุณภาพข้าว
ทั้งนี้ กรมการข้าวจะต้องหารือกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รวมถึงต้องสื่อสารกับชาวนาว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทำนาสะอาด เพราะตราบใดที่ยังทำนากันแบบสะเปะสะปะก็ยังคงถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาข้าวต่อไป และจะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพราะโรงสีหรือพ่อค้าเขามีเทคโนโลยีตัดแยกข้าวอยู่แล้ว มีเครื่องที่สแกนตรวจว่าข้าวนั้นเป็นชนิดใด อย่างไรชาวนาก็เสียเปรียบ ดังนั้นต้องทำนาสะอาดเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวเพียงชนิดเดียว อย่างภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการข้าวพื้นแข็งไปแปรรูปเป็นแป้ง เขาก็เจอข้าวพื้นนุ่มปะปนไป
สำหรับนาสะอาดหมายถึงนาที่ปลูกข้าวชนิดเดียว เช่น พื้นที่ใดปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เป็นหลัก ก็ขอให้ปลูกเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 อย่างเดียว ส่วนช่วงนาปรังแม้จะมีน้ำแต่ก็ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชหลังนา อาทิ ถั่ว ข้าวโพด โดยพืชดังกล่าวมีความต้องการในส่วนของตลาดอาหารสัตว์อยู่มาก หากเราปลูกพืชหมุนเวียนได้ ก็จะทำให้ผลผลิตข้าวไม่ปะปน ข้าวก็จะมีคุณภาพสูงขึ้น อีกทั้งช่วยตัดวงจรการเกิดขึ้นของวัชพืช โรคและแมลงต่างๆ ได้ด้วย อาทิ ข้าวดีด-ข้าวเด้ง ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะเราไม่เคยพักพื้นที่นาหรือปลูกพืชหมุนเวียน
“วันนี้วัชพืช โดยเฉพาะวัชพืชข้าว มีการปรับตัว เมื่อก่อนเราจะเห็นในนาข้าว ข้าววัชพืชนี่ต้นจะสูงกว่าข้าวที่อยู่ในนาเรา แต่วันนี้มันเป็นพืชตระกูลหญ้าด้วยกัน มันมีการผสมพันธุ์ระหว่างข้าว มันทำให้ต้นมันเตี้ยพอๆ กับต้นข้าว เรากำจัดยากมาก ฉะนั้นมีแนวทางเดียวที่จะกำจัดข้าววัชพืช นั่นก็คือต้องตัดวงจรการทำนาลงไป เพื่อปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น” อธิบดีกรมการข้าว ระบุ
นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีข่าวตลอดมาเรื่องการลักลอบนำเมล็ดพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศเข้ามาปลูกในพื้นที่นาของไทย เรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีข้อสั่งการแล้ว และเตือนให้พวกที่ลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวตามแนวชายแดนหยุดการกระทำนั้นเสีย เพราะจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรไทย ทำให้ราคาข้าวของไทยตกต่ำลง ส่วนตนก็ขอฝากสื่อมวลชนช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย ส่วนเกษตรกรที่ยังนำข้าวจากต่างประเทศเข้ามาปลูก ตนก็ขอให้หยุดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าบุคลากรของกรมการข้าวมีน้อย จึงมีข้อจำกัดในการระบุพันธุ์ข้าวในขั้นตอนการขึ้นทะเบียน โดยการขึ้นทะเบียนเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร บางทีข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่กรมการข้าวผลิตออกมา เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ทราบว่าลักษณะของพันธุ์เป็นอย่างไร ดังนั้นกรมการข้าวต้องร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร อบรมให้ความรู้เรื่องการประกาศสายพันธุ์ข้าวกับเจ้าหน้าที่ เมื่อมีผู้มาขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ เช่น มาตรการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท จะได้รู้ว่านี่เป็นข้าวไทย ไม่ใช่เป็นข้าวต่างประเทศแล้วมาแอบใส่ชื่อไทย
“บางทีมันเป็นพันธุ์ใหม่ เจ้าหน้าที่บางคนเพิ่งบรรจุใหม่ๆ ไปเป็นเกษตรตำบล เพราะรุ่นเก่าไมมีปัญหา คนรุ่นใหม่บางคนก็ศึกษาบางคนก็ยังไม่ได้ศึกษา บางคนก็จบจากด้านพืช ด้านสัตว์ ด้านอะไรมันก็หลากหลาย ทีนี้เราต้องให้ความรู้เขา แล้วก็อบรม แล้วก็ทำความร่วมมือกัน ให้ความรู้ เขาไปขึ้นทะเบียนจะได้รู้ มันไม่ใช่ข้าวพันธุ์ กข51 กข41 ต้องเป็นอย่างนี้นะ ลักษณะข้าวไทยต้องเป็นอย่างนี้ ลักษณะข้าวพันธุ์ต่างประเทศต้องเป็นอย่างนี้ เราต้องแนะนำให้เขาแล้ว” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี