“เทศกาลสงกรานต์” 13-15 เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานกับการเล่นสาดน้ำ หนึ่งในอีเว้นท์ระดับโลกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากได้ในทุกปีแล้ว 2 ใน 3 วันของเทศกาลสงกรานต์ ยังถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญ ได้แก่ “13 เมษายนเป็นวันผู้สูงอายุ” โดยรัฐบาลไทยริเริ่มให้มีวันดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2525 และ “14 เมษายน เป็นวันครอบครัว” ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2532
โดยทั้ง 2 วันดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้สูงอายุและสถาบันครอบครัว ซึ่งก็สอดคล้องกับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นวันหยุดยาว เป็นโอกาสที่ประชากรวัยทำงานซึ่งออกไปหารายได้ตามเมืองใหญ่ (โดยเฉพาะกรุงเทพฯ) ได้เดินกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุในภูมิลำเนา รวมถึงไปอยู่กับลูกที่ฝากไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ในสภาวะ “ครอบครัวแหว่งกลาง” ที่เป็นผลข้างเคียงจากการพัฒนาในยุคโลกาภิวัตน์
แต่เมื่อเอ่ยคำว่าครอบครัวแหว่งกลาง ก็ทำให้นึกถึงคดีสะเทือนขวัญเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่ประเทศจีน กรณีเด็กชาย 3 คน รุมรังแกเพื่อนร่วมชั้นเรียนจนเสียชีวิต อาทิ นสพ.Shanghai Daily สื่อท้องถิ่นในเมืองเซี่ยงไฮ้ รายงานข่าว Schoolboys arrested over alleged murder of classmate เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 ระบุว่า ที่เมืองหานตาน มณฑลเหอเป่ย ตำรวจจับกุมเด็กชาย 3 คน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังก่อเหตุทำร้ายเด็กชายวัย 13 ปี ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกันจนเสียชีวิต แล้วนำศพไปฝังในเรือนเกษตรร้างเพื่ออำพรางคดี
นสพ.Global Times สื่อจีนอีกฉบับหนึ่งรายงานข่าว 13-year-old boy in N. China’s Hebei bullied and killed by three classmates วันที่ 14 มี.ค. 2567 เช่นกัน ระบุว่า เหตุเด็กชาย 3 คน รุมทำร้ายเพื่อนร่วมโรงเรียนจนเสียชีวิตแล้วนำศพไปฝังอำพราง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2567 ซึ่งเมื่อสืบสวนต่อไป ยังพบด้วยว่า เด็กชายที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง เคยถูกกลุ่มเพื่อนร่วมกันก่อเหตุ “กลั่นแกล้งรังแก (Bully)” มาแล้วหลายครั้ง
คดีนี้ได้รับความสนใจทั่วโลกไม่เฉพาะในแดนมังกรเท่านั้น โดยมีสื่อต่างชาติหลายสำนักนำไปเสนอข่าวต่อ อาทิ นสพ.The Guardian ของอังกฤษ รายงานข่าว Killing of teenager in China sparks debate about “left behind” children เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 โดยระบุว่า คดีเด็กชายอายุ 13 ปี ถูกเพื่อนนักเรียนด้วยกันรุมกลั่นแกล้งรังแกจนเสียชีวิต ยังนำไปสู่ความตื่นตัวเรื่องครอบครัวแหว่งกลางในสังคมจีนด้วย
“สื่อมวลชนในจีนรายงานว่า ทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ต้องสงสัยลงมือก่อเหตุล้วนเป็นเด็กที่เติบโตในครัวเรือนแหว่งกลาง หมายถึงครัวเรือนที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับลูกเพราะต้องออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ และทิ้งให้เด็กอยู่กับปู่ย่าตายายในชนบท หรือ Left Behind Children ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรในจีนเมื่อปี 2563 พบเด็กที่อยู่ในครัวเรือนแหว่งกลางมากถึงเกือบ 67 ล้านคน ซึ่งมีผลการศึกษาชี้ว่า เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ตกเป็นเหยื่อถูกกลั่นแกล้งรังแก หรือมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย” รายงานของสื่ออังกฤษ ระบุ
มองจีนแล้วย้อนดูไทย..เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ไล่เลียงทีละประเด็น ตั้งแต่ 1.ทำความเข้าใจระบบสมองของมนุษย์ โดยมนุษย์นั้นมีสมอง 3 ส่วน เข้าใจง่ายๆ แบบไม่ต้องใช้ศัพท์วิชาการ คือ 1.1 สมองสัตว์เลื้อยคลาน หรือสมองส่วนสัญชาตญาณ 1.2 สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือสมองส่วนอารมณ์ และ 1.3 สมองมนุษย์ หรือสมองส่วนเหตุผลและจิตสำนึก
ซึ่ง “สมองส่วนมนุษย์นี่เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ” อย่างไรก็ตาม “ภายใต้ภาวะกดดันหรือวิกฤต สมองส่วนมนุษย์จะหยุดการทำงาน ในขณะที่สมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานกับสมองส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังคงทำงานต่อไป” ดังจะเห็นว่าหลายคนยามปกติดูมีเหตุมีผลดี แต่พอในบางสถานการณ์การใช้เหตุผลกลับหายไป เหลือแต่การใช้อารมณ์และสัญชาตญาณที่แสดงออกมาไม่ค่อยดีนัก อาทิ พฤติกรรมประเภท “หัวร้อน-กร่าง” ถึงกระนั้น “อารมณ์และสัญชาตญาณสามารถฝึกฝนให้แสดงออกในทางที่ถูกที่ควรได้”โดยฝึกฝนแบบวันต่อวันอย่างสม่ำเสมอ
“หลายคนบอกไร้สาระ ระเบิดอารมณ์ออกมาเลย ชีวิตใช้ซะ ขอโทษนะ! มันกำลังฝังเข้าสัญชาตญาณ ถ้าภาษาง่ายๆ บ้านๆ เรียกว่าสันดาน ซึ่งมีทั้งสันดานดีและสันดานเลว มันไม่ได้มีแต่เลวนะ มันมีสันดานดีด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่มันเจอวิกฤตขึ้นมาปุ๊บ มันเหลือแต่ตัวสันดานทำงานกับตัวอารมณ์ล้วนๆ ฉะนั้นถ้าสันดานดี ถูกฝึกมาดี จิตสำนึกมันไปแล้วไง อารมณ์มัน Shut Down (ปิด) ตัวจิตสำนึกไปแล้ว แต่ด้วยความที่ฝึกจนมาเป็นพฤตินิสัยจนกระทั่งเข้าสู่สมองส่วนสันดาน ก็จะไม่ก่อการร้าย” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว
ประการต่อมา 2.ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวแหว่งกลางกับการเติบโตของเด็ก ในความเป็นจริง แม้กระทั่งพ่อแม่กับลูกก็ยังมีความแตกต่างระหว่างช่วงวัยอยู่แล้ว เช่นคนเจนซี (Gen Z) ที่เป็นวัยเริ่มชีวิตการทำงาน ณ ปัจจุบัน ก็เป็นลูกของเจนเอ็กซ์ (Gen X) ปลายๆ-เจนวาย (Gen Y) ต้นๆ แต่หากพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง เด็กเจนซีก็จะเติบโตมากับปู่ย่าตายายที่เป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer)หรือบางครอบครัวอาจโตมากับคนรุ่นทวดซึ่งเป็นรุ่นก่อนเบบี้บูมเมอร์ โดยคน 2 รุ่นนี้ว่านี้ จะมีความคิดประมาณมีลูกเยอะๆ และไม่ต้องอะไรมาก เลี้ยงกันแบบตามมีตามเกิด
ซึ่ง “เมื่อบวกกับอายุที่เข้าขั้นแก่ชรา จะคาดหวังให้ไปไล่ตามคนรุ่นหลานทันก็คงได้ไม่มากนัก” ท้ายที่สุดก็เข้าทำนอง “ปล่อยเลยตามเลย” หลานอยากทำอะไรก็ทำ โดยจะดูแลเพียงการหาข้าวปลาอาหารเท่านั้น ทั้งนี้ ครอบครัวแหว่งกลางอาจแบ่งการเลี้ยงดูหลานของผู้สูงอายุได้ 4 แบบ คือ 2.1 เลี้ยงด้วยลำแข้งเน้นกำราบควบคุมอย่างเข้มงวด จนบางครั้ง “ปากว่ามือถึง” ลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกาย 2.2 เลี้ยงด้วยการเป็นที่ปรึกษา พร้อมรับฟังและพยายามทำความเข้าใจแม้ช่วงวัยจะห่างกันมากก็ตาม แต่ทั้ง 2 แบบแรกนี้พบได้น้อย
ในขณะที่อีก 2 แบบหลัง ที่พบได้มากกว่าคือ 2.3 เลี้ยงแบบตามใจ หรือเข้าขั้น “สำลักความรัก” ซึ่งอาจมาจากเรี่ยวแรงที่ลดน้อยถอยลงตามวัย ไม่สามารถเคี่ยวเข็ญกับหลานได้เต็มที่เหมือนตอนที่เลี้ยงลูกของตนเอง หรืออำนาจปกครองไม่ได้อยู่กับตนเองเต็มที่ หรือเป็นความรู้สึกผิดที่ตอนเลี้ยงลูกนั้นเข้มงวดแบบตึงเกินไป พอเลี้ยงหลานเลยปล่อยให้หย่อนบ้าง แต่กลายเป็นหย่อนมากเกินไปอีกจนหลุดไปในที่สุด และ 2.4 เลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ไม่มีขอบเขตกฎกติกา หลานจะไปทำอะไรก็ไม่รู้-ไม่สนใจ
รศ.นพ.สุริยเดว อธิบายความเชื่อมโยงนี้ ว่า “หากเด็กไม่ได้รับการฝึกฝนเพื่อควบคุมสัญชาตญาณและอารมณ์” เช่น อยู่ในครอบครัวแหว่งกลางประเภทตามใจถึงขั้นสำลักความรักหรือประเภทปล่อยปละละเลย “เพื่อนจะมีบทบาทอย่างมากต่อเส้นทางชีวิตของคนเด็กคนนั้น” หากเจอเพื่อนดีก็ดีไป แต่หากเจอเพื่อนที่พาไปในทางไม่ดี เช่น ชวนไปเข้าร่วมแก๊งซิ่งมอเตอร์ไซค์ ไปเป็นนักเลงอันธพาลมีเรื่องทะเลาะวิวาท แล้วใช้ชีวิตแบบนี้วันต่อวันจนกลายเป็นพฤตินิสัย ก็พร้อมที่จะแสดงออกมาเมื่อเจอเหตุการณ์ที่สมองส่วนอารมณ์ไปปิดการทำงานของสมองส่วนจิตสำนึก
3.ระบบการศึกษาที่ไม่ได้โอบรับเด็กทุกคน ทั้งการยึดแนวคิด “แพ้คัดออก” สร้างความเครียดให้กับคนตั้งแต่อายุน้อยๆ ด้วยการสอบแข่งขันที่พบได้แม้กระทั่งในชั้นอนุบาล และแม้จะเห็นบทเรียนจาก “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” ที่แนวคิดแบบนี้ทำให้ทั้ง 2 ชาติ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มานานหลายสิบปี แต่ประเทศไทยก็ยังคงยึดแนวทางนี้ต่อไป “ในเมื่อระบบการศึกษาเน้นอัดวิชาการแบบจัดหนัก-จัดเต็ม ก็ไม่มีเวลาให้มาปลูกฝังกันเรื่องวิชาชีวิต” ซึ่งก็จะไปบวกกับปัจจัยเรื่องปู่ย่าตายายที่ตามหลานไม่ทัน
นอกจากนั้น “ระบบห้องเรียนก็ไม่ได้ตอบโจทย์เด็กทุกคน” เช่น หากมีเด็ก 100 คนแน่นอนว่าเด็กส่วนใหญ่ (หรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง)เป็นเด็กเลี้ยงง่ายหรือเรียบร้อย แต่ที่เหลือจากนั้น จะมีผสมกันตั้งแต่ “กลุ่มเลี้ยงยาก” ประเภทชอบทำอะไรสวนกับคำสั่งตลอด “กลุ่มอ่อนไหว” เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เครียดหรือซึมเศร้ารุนแรงได้ “กลุ่มบ้าพลัง” อยู่นิ่งไม่ได้อยากทำนั่นนี่ตลอดเวลา “กลุ่มผีเข้า-ผีออก” บางวันเลี้ยงง่าย-บางวันเลี้ยงยาก แต่ระบบห้องเรียนนั้นออกแบบมาเพื่อเด็กกลุ่มเลี้ยงง่ายสามารถนั่งเรียบร้อยตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. เท่านั้น
จึงทำให้เด็กอื่นๆ ที่เหลือกลายเป็น “เด็กหลังห้อง” และเมื่อเด็กหลังห้อง (โดยเฉพาะกลุ่มเลี้ยงยาก) ไม่ได้สนใจเรียนหรือเรียนไม่รู้เรื่อง ก็จะแทนที่ด้วยพฤติกรรม “กลั่นแกล้งรังแกเด็กหน้าห้อง” ยิ่งเป็นพวก “เนิร์ด-ติ๋ม” ไม่สู้คน ก็จะยิ่งตกเป็นเป้าหมายการรังแกมากขึ้น จากนั้นครูหรือโรงเรียนก็จะพยายามกันเด็กหลังห้องเหล่านี้ออกไปเพราะรบกวนการเรียน แต่เด็กก็จะยิ่งต่อต้านมากขึ้น เข้าทำนอง “ดีไม่ได้ก็เลวมันเสียเลย” ไล่ตั้งแต่โดดเรียน ลาออกจากโรงเรียน หลุดจากระบบการศึกษา (Drop Out) และกลายเป็นกลุ่มแก๊งมีพฤติกรรมเกะกะเกเร
“อันนี้หมอพูดมาตลอดเลยว่ามันเป็นวิธีการรับมือผิดวิธีหมดเลย คือเราทำ Pattern (รูปแบบ) เดียว ทำอย่างกับกองทหารทุกคนให้มาซ้ายหัน-ขวาหัน มันไม่ใช่! มันก็เลยเกิดการ Bully กัน มันมีทั้งผู้กระทำ เพราะย้อนกลับไปดูครอบครัวของเขาก็เลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ครอบครัวแหว่งกลางบวกทั้งใช้ความรุนแรงในบ้าน เขาก็เอามาใช้ความรุนแรงกับเพื่อนเขา สภาพมันก็เลยกลายเป็นอย่างที่เห็นอยู่” รศ.นพ.สุริยเดว ระบุ
และ 4.สภาพสังคมที่อ่อนแอลง รศ.นพ.สุริยเดว ชี้ว่า “ทุกวันนี้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคมเพิ่มขึ้นจริง ไม่ใช่เพราะสื่อมวลชนมีจำนวนมากขึ้นหรือทำงานเสนอข่าวกันหนักขึ้น” นั่นเป็นเพราะ “ชีวิตที่เร่งรีบ (Fast Life) ทำให้คนหัวร้อนกันมากขึ้น”ขับรถก็ต้องเร็ว กินข้าวก็ต้องไว “ยุคนี้ไม่มีเวลาให้ใช้ชีวิตช้าๆ (Slow Life)” จะหาเวลาสวดมนต์ไหว้พระตอนเช้าบ้าง พ่อแม่จะคุยกับลูกตอนเย็นบ้าง ก็ยังทำไม่ได้เพราะต้องรีบออกไปทำมาหากินแต่เช้า กว่าจะกลับบ้านก็มืดค่ำ ซึ่งเหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแหว่งกลางหรือไม่ก็ตาม
ขณะเดียวกัน “ชุมชนรอบบ้านก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งพิง” ในอดีตภาพของชุมชนคือคนในละแวกนั้นรู้จักกัน พูดจาทักทายโอภาปราศรัยกันทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน รวมถึงเด็กที่อาจจะไม่กล้าปรึกษาผู้ใหญ่ในครอบครัวของตนเอง บางครั้งก็ยังมีผู้ใหญ่ที่เป็นเพื่อนบ้านคอยรับฟังปัญหาและให้คำแนะนำ แต่ปัจจุบันต้องบอกว่า “ชุมชนไทยวิกฤตทั้งประเทศ” ตามการเปลี่ยนแปลงที่ “สังคมกลายเป็นเมืองมากขึ้น” ในพื้นที่อำเภอเมืองไม่ว่าจังหวัดใดก็ตาม ชุมชนที่เคยเข้มแข็งได้กลายสภาพไปหมดแล้ว
ในทางตรงข้าม..การมาของ “อินเตอร์เนตและสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ได้กลายเป็น “ปัจจัยยั่วยุ” ไม่ว่าเรื่องเพศหรือความรุนแรง เช่น เข้าไปชมภาพยนตร์หรือคลิปวีดีโอลามกอนาจาร หรือเล่นเกมออนไลน์ซึ่งสามารถเล่นร่วมกับชาวต่างชาติที่อยู่ไกลกันคนละประเทศได้ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจภูมิใจที่เห็นลูกหลานใช้ภาษาอังกฤษได้ดี แต่ก็อาจตามไม่ทันเรื่องเด็กซึมซับศัพท์แสลง (Slang) หรือรับเอาค่านิยมที่ไม่ดีของต่างชาติมาด้วย
จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น รศ.นพ.สุริยเดว เล่าถึงการทำงานของศูนย์คุณธรรม ในการสร้าง “พี่เลี้ยงในชุมชน” ที่เชื่อว่าจะเป็น“ทางออก” ของปัญหานี้ โดยการนำ “ผู้ใหญ่ใจดี”มีใจต้องการเป็นหลักให้กับเด็กๆ ในชุมชนมา “เพิ่มทักษะ” ผ่านการฝึกอบรม เช่น การเฝ้าระวังการส่งต่อ-ขอความช่วยเหลือ การพัฒนากิจกรรมในหมู่บ้าน การเป็นที่ปรึกษาเบื้องต้นโดยไม่ต้องเป็นนักจิตวิทยา มีโครงการนำร่องแล้ว 12 จังหวัดซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง
ด้าน นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต อธิบายเพิ่มเติมเรื่องของ “ช่องว่างระหว่างวัยกับความเข้าใจปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก (Bully)” ว่า ลำพังคนรุ่นกลางๆ ทั้งเจนเอ็กซ์และเจนวาย ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยได้เรียกร้องเรื่องต่อต้านการกลั่นแกล้งรังแกกันมากนัก และหากย้อนไปมากกว่านั้นอย่างในคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดถึงเลยเสียด้วยซ้ำไป นั่นทำให้ความเข้าใจเรื่องการ Bully ของคนแต่ละรุ่นแตกต่างกันอย่างมาก
กล่าวคือ “ในขณะที่คนรุ่นก่อนๆ จะมองว่าการแกล้งกันเป็นเรื่องปกติสามารถทำได้ และเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่อ่อนแอลงกว่ารุ่นพวกตน แต่คนรุ่นก่อนๆ ก็หารู้ไม่ว่าชีวิตยุคปัจจุบันอยู่ยากขึ้นกว่าในอดีต เพราะสมัยก่อนไม่มีปัจจัยกระตุ้นเร้าหรือไม่มีปัญหามากเท่ายุคปัจจุบัน” ทำให้เด็กเมื่อถูกรังแกก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร จะปรึกษาคนรุ่นกลางๆ ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ครั้นจะไปปรึกษาผู้สูงอายุ ก็มักได้รับคำแนะนำให้อดทน อันเป็นค่านิยมของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์
ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป เด็กก็จะไม่เล่าอะไรให้ผู้ปกครอง (ที่เป็นผู้สูงอายุ) ฟังอีกต่อไป เพราะเล่าไปก็ไม่เข้าใจกัน เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกก็ยังคงถูกกระทำเช่นนั้นต่อไปเพราะไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปช่วยแก้ไข ขณะที่ฝ่ายผู้กระทำ เมื่อไม่มีคนรุ่นตรงกลางคอยสอนหรือคอยสังเกตความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่ง “ความรุนแรงใหญ่ๆ ที่ทำให้เสียชีวิตไม่ว่ากับตนเองหรือผู้อื่น มักมีความรุนแรงเล็กๆ เป็นสัญญาณบอกเหตุมาก่อนหน้านั้นเสมอ” แต่หากความรุนแรงเล็กๆ ที่ว่านั้นไม่ถูกมองเห็นและไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสม ก็สามารถขยายตัวเป็นความรุนแรงในระดับใหญ่ขึ้นได้
โฆษกกรมสุขภาพจิต ย้ำว่า “ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปแล้ว จึงไม่มีทางที่จะย้อนให้รูปแบบครอบครัวกลับไปเป็นอย่างเดิมในอดีต”อย่างไรก็ตาม “เราสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อชดเชยสิ่งที่เกิดขึ้นได้” เช่น ผู้สูงวัยสามารถใช้เทคโนโลยีค้นหาความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของเด็กยุคปัจจุบัน ว่าต้องประสบพบเจออะไรบ้าง และวิธีการจัดการปัญหาช่องว่างระหว่างวัยที่กว้างมากนี้สามารถทำได้อย่างไรบ้าง หรือคนรุ่นตรงกลางก็สามารถ “ทำให้ครอบครัวยังมีสายใยแม้จะอยู่ไกลกัน” ใช้เทคโนโลยีพูดคุยกับทั้งผู้สูงอายุและเด็กได้อย่างสม่ำเสมอ
อนึ่ง ยังมีคำถามว่า “พ่อแม่หมดรักกันแล้ว อยู่ต่อไปมีแต่จะระหองระแหงกัน ควรทนอยู่เพื่อลูกหรือแยกทางกันดี?” ซึ่ง นพ.วรตม์ อธิบายประเด็นนี้ด้วยแนวคิด “เวลาคุณภาพ” ที่หมายถึง “เวลาของการพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ” ว่า คนเราแม้จะอยู่ห่างไกลกันแต่หากหมั่นใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างช่วงเวลาคุณภาพก็จะเกิดประโยชน์และลดความรุนแรงของปัญหาให้น้อยลงได้ เมื่อเทียบกับการได้เจอหน้ากันแต่มีบรรยากาศที่ไม่ดี เช่นกลับบ้านไปเจอกันในช่วงสงกรานต์แล้วทะเลาะกันซึ่งแบบนี้ถือว่าเสียเวลาและไม่มีประโยชน์
“สมมุติพ่อแม่ทะเลาะแยกทางกันหรือเลิกกันแล้ว ถ้าเกิดอยากจะอยู่ด้วยกันเหมือนเดิมจะต้องระมัดระวังการทะเลาะกันมากที่สุด เพราะว่าลูกเองเขาก็รับรู้ได้นะ ยิ่งลูกโตแล้ว มันก็จะเป็นแบบอย่างความรุนแรง เขาเรียนรู้ เห็นคู่ของพ่อแม่ทะเลาะกัน โอกาสที่อนาคตเขาจะมีครอบครัวแล้วทะเลาะแบบนี้ก็มีโอกาสสูง ดังนั้นถ้าเกิดเราไม่สามารถอยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุขได้ เราแยกย้ายกันไปในฐานะสามี-ภรรยาแต่ละคนก็ยังทำหน้าที่พ่อและแม่ที่ดีที่มีต่อลูกอยู่ ก็อาจเป็นตัวเลือกที่จำเป็น” นพ.วรตม์ ฝากทิ้งท้าย
บัญชา จันทร์สมบูรณ์ : เรียบเรียง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี