วันที่ 17 เมษายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์ กรณีสมาคมครูแห่งหนึ่ง ร้องผ่านสื่อว่ามีโรงเรียนถูกบังคับซื้อตำราเรียน โดยมีการร้องเรียนจากคณะครูและผู้ปกครองนักเรียนในหลายจังหวัด กล่าวหาว่าผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบางแห่ง ให้เปลี่ยนการซื้อหนังสือเรียนจากร้านค้าทั่วไป เป็นการซื้อจากหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ นั้น
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าว ในเรื่องของการจัดซื้อหนังสือเรียน ปีการศึกษา 2567 นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ให้อิสระแก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสถานศึกษา ในการเลือกซื้อสื่อและหนังสือได้อย่างเสรี ไม่มีการบังคับใดๆ ทั้งสิ้น และมีการแจ้งรายละเอียดในการดำเนินการเลือกซื้ออย่างถูกต้องและโปร่งใสเพื่อประโยชน์ของโรงเรียนในการเลือกสื่อและหนังสือเรียนที่ดีกับนักเรียนในรูปแบบคณะกรรมการและถูกระเบียบ โดยสถานศึกษา ครูผู้สอน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการบริหารหลักสูตร กรรมการภาคี 4 ฝ่าย ฯลฯ สามารถพิจารณาเลือกซื้อหนังสือเรียนจากรายชื่อหนังสือในบัญชีกำหนดสื่อการเรียนรู้ฯ ได้ตามความต้องการของสถานศึกษาอย่างเหมาะสมตามบริบท
ทั้งนี้ สพฐ. ได้ส่งหนังสือแจ้งแนวทางการดำเนินงานเลือกซื้อหนังสือเรียน ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษทุกแห่ง จำนวน 3 ฉบับ เพื่อให้ดำเนินการจัดซื้อ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบ กฎหมาย กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อย่างเปิดเผย โปร่งใส เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ โดยฉบับที่ 1 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เผยแพร่เอกสารแนวทางการดำเนินงาน ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อมาฉบับที่ 2 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 แจ้งซักซ้อมความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานฯ และ ล่าสุดฉบับที่ 3 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2567 ได้กำชับการดำเนินงานเกี่ยวกับหนังสือเรียนและแบบฝึกหัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเน้นย้ำการจัดซื้อหนังสือตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
“สพฐ. มีระเบียบในการจัดซื้อหนังสือแบบเรียนที่ชัดเจน เพื่อให้นักเรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับหนังสือเรียนครบทุกกลุ่มสาระ เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้และจุดเริ่มต้นของการได้รับความรู้ ต่อยอดไปสู่ปัญญา รากฐานของการนำไปใช้ และบรรลุเป้าหมายตามหลักสูตรชาติ ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดย สพฐ. ได้เน้นย้ำในเรื่องการจัดซื้อที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่เรายึดถือมาตลอด เพื่อให้การจัดซื้อหนังสือเรียนเป็นประโยชน์กับสถานศึกษาและนักเรียนมากที่สุด ทั้งนี้ หากโรงเรียนใดพบเหตุการณ์ที่มีการบังคับให้ซื้อสื่อหรือหนังสือแบบเรียน หรือพบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระเบียบแนวทางการจัดซื้อฯ ให้แจ้งมาที่ช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์ ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. (ศสป.สพฐ.) โทร. 0 2123 8789 เพื่อดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องตามระเบียบฯ ต่อไป" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี