นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการประชุมรับฟังความเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทาน โดยมี ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ซึ่งผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ผู้แทน บริษัทที่ปรึกษา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการลุ่มน้ำปิงและสาละวิน กลุ่มผู้ใช้น้ำ และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจาก อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน รวมประมาณ 70 คน
ทั้งนี้ก่อนการประชุม ประธานในที่ประชุมได้สอบถามว่าเหตุใดหน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมเนื่องจากเป็นการหารือเรื่องรายงานอีไอเอเป็นการเฉพาะ
รศ.ศิตางศุ์ กล่าวว่าวันนี้เป็นการหารือว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โครงการผันน้ำยวมซึ่งเป็นโครงการที่ยังไม่เกิด แต่มีผู้กังวลว่าหากสร้างแล้วจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การทำงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ที่รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เป็นประธาน มีแนวทางว่าโครงการใดที่มีผลกระทบตั้งแต่ในอดีต จะมีการดำเนินการสืบเนื่องเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง หรือหารือกัน โดยมีหลักการได้แก่ 1. การพัฒนาของรัฐต้องไม่กระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน สิ่งแวดล้อม 2 การฟื้นฟูเยียวยา คือใช้หลักผู้สร้างผลกระทบต้องเป็นผู้จ่าย 3 ต้องเคารพสิทธิชุมชนดังเดิมเป็นหลัก และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน วันนี้จะหาแนวทางแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเกิดโครงการ
ขณะที่ผู้แทนกรมชลประทาน กล่าวว่าโครงการนี้จะนำน้ำไปช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยผันน้ำจากน้ำยวมไปลงที่เขื่อนภูมิพล จะนำน้ำส่วนเกินในฤดูฝนไปช่วย ซึ่ง Timeline ของโครงการมีการศึกษาอีไอเอ เมื่อเดือนกันยายน 2559 เข้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แก้ไข 2-3 ครั้ง และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เห็นชอบในปี 2564 จากนั้นกรมชลประทานได้ลงพื้นที่ ต่อมาชาวบ้าน 66 รายได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ และต้องทำเอกสารชี้แจงศาลปกครองภายในวันที่ 25 เมษายน จากที่ประชุมครั้งก่อน (19 ธันวาคม 2566) มีการเสนอให้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุด คือศึกษาทบทวนอีไอเอ ศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และศึกษาทบทวนความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม
ศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร นักวิชการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวผ่าน Zoom ว่าการศึกษาข้อมูลยังไม่ชัดเจน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหากชัดเจนก็คงไม่มีการฟ้องร้องแบบนี้ มีข้อสังเกตว่าการลงทุนขนาดนี้ไม่มีทางคุ้มค่าอยู่แล้ว จึงย้อนกลับไปว่าการศึกษาต่อเนื่องที่จะให้เอกชนมาลงทุนร่วมกับรัฐ (PPP) คืออะไร เขาก็ต้องมองความคุ้มค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากโครงการ ซึ่งผลประโยชน์ด้านการเกษตรไม่ใช่แน่ แล้วคือประโยชน์ด้านพลังงานหรือไม่ แต่กรมชลประทานเป็นเจ้าของโครงการ แต่ทำไมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงการ
“มันผิดฝาผิดตัว การให้เอกชนมาร่วมลงทุนเป็นอย่างไร ข้อมูลการศึกษา PPP นี้ยังไม่ออกสู่สาธารณะ แล้วจะเป็นการเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรหรือไม่”ศ.ดร.สุวัฒนา กล่าว
ดร.ประชา คุณธรรมดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์พบว่าน่ากังวล คือปริมาณน้ำที่จะผันน้ำยวม 1,795 ล้านลบ.ม. นำสู่ผลประโยชน์ 9,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขผลประโยชน์จะมากกว่าความเป็นจริง ข้อสมมุติต่างๆ ไม่ค่อยสอดคล้องกับการดำเนินการทางการเกษตร ประเด็นสำคัญๆ คือเราจะเอามวลน้ำก้อนนี้ไปปลูกข้าวจริงหรือ ที่ถามเพราะข้าวภาคกลางเป็นข้าวขาว ในปีที่ดีมีเพียง 7 ปีครั้ง แต่ปีที่เหลือคือรัฐเอาเงินงบประมาณแสนล้านไปอุดหนุนทุกปี คือเราทำให้การขาดทุนยิ่งขาดทุนขึ้น หากโจทย์นี้ไม่ได้คุยก่อน เป็นการให้มีโครงการเท่านั้น แต่ไม่มีการรับภาระประโยชน์และชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ได้ระบประโยชน์ต้องจ่าย แล้วพร้อมจ่ายหรือไม่ ปีละพันล้าน หรือ 3,100 ล้านที่ผู้รับประโยชน์ต้องจ่าย พร้อมจ่ายหรือไม่ จ่ายอย่างไร ได้รับคำตอบว่าให้เอกชนดำเนินการ แต่หากขาดทุนรัฐต้องจ่ายทุกเม็ด เท่ากับว่าเอกชนเข้ามาลงทุนจะไม่ได้เสียอะไรเลย ใครก็ตามที่ตัดสินใจเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบแน่ๆ และในอนาคตจะนำไปสู่การฟ้องร้องอีก
รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว่า ลุ่มน้ำปิง-สาละวิน กรรมการลุ่มน้ำมีความกังวลว่า การผันน้ำข้ามลุ่มเป็นข้อที่กังวลมาก โดยเฉพาะจากลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ผันน้ำ 1,800 ล้านลบ.ม. เข้ามา มีน้ำยวมให้ผันได้จริงหรือไม่ เอาน้ำมา 70% ของปริมาณน้ำยวม เอาน้ำเข้า 150 ลบ.ม/วินาที เป็นการสูบน้ำที่เร็วมาก ทางวิศวกรรมต้องคุยให้ดี สูบน้ำยกขึ้นไป 150 เมตร ไฟฟ้าที่กฟผ. จะได้จากเขื่อนภูมิพล และที่ใช้สูบน้ำขึ้น อาจจะไม่ได้อะไรเลย ปริมาณทั้งหมดของลุ่มน้ำยวมเอาไปขนาดนั้นมากเกินไป น้ำยวมหน้าฝนมีกี่เดือน มีน้ำถึง 100 ลบ.ม. ได้แค่ 5 วัน เราจะไม่มีน้ำให้สูบเลย โครงการนี้มีปัญหาทางวิศวกรรม
“น้ำยวมผันอย่างไรให้ได้ 1,800 ลบ.ม. ผมว่าไม่ได้ ปริมาณน้ำมหาศาล ขอหารือทางวิชาการ เราต้องรู้ว่ามีวงจรหมุนวนของน้ำ storage ที่เราตั้งไว้ว่าจะสูบน้ำ 150 ลบ.ม./วินาที ขนาดแม่น้ำปิงในหน้าฝนยังไม่พอเลย หากเป็นการร่วมทุนเอกชน PPP ยิ่งหนัก หากช่วงที่เราไม่ต้องการน้ำ น้ำมากในช่วงหน้าฝน น้ำปิงน้ำจะเข้ามา 5,000 ล้าน สะสมในอ่างเก็บน้ำแล้ว แต่ PPP สัญญาระบุให้ต้องส่งน้ำ แล้วการศึกษามีมั้ย เขื่อนภูมิพลเราไม่ต้องการให้น้ำเต็มเขื่อน เพราะต้องเผื่อพายุเข้า ไม่มีใครเอาน้ำไว้ในอ่างแม่ปิง 13,000 ล้านลบ.ม. หรอก ท่านจะสูบน้ำจากแม่น้ำยวมมั้ย ในทางวิศวกรรมคุณสามารถทำได้จริงหรือไม่” นักวิชการมหาวิทยาลัยเชียใหม่กล่าว
นายภาษิต แสงจำนงค์ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำปิงยมตอนล่าง จ.พิจิตร กล่าวว่าอย่าไปกังวลมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป ฝนตกไม่ได้น้ำ ภาคเหนือตอนล่างยังต้องการน้ำ หน้าแล้งไม่มีน้ำ น้ำปิงก็ไม่มี หากไม่มีน้ำก็ไม่มีโอกาสในการพัฒนา ประเทศและมีวัฒนธรรมในการทำเกษตร กระทรวงเกษตรฯพัฒนาพันธุ์ข้าว จะต้องปรับวิถีชีวิตด้วย อยากให้เปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าการเอาน้ำมาใส่นา เราเป็นประเทศเกษตรกรรม ทุกวันนี้ตนก็ยังจนอยู่ โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร อยากบอกว่าทำเถอะ ชลประทานเป็นเครื่องมือ มีหน้าที่หาน้ำให้ผมทำเกษตร
นายวุฒิพงษ์ ชวนประสงค์ ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ตนทำนากว่า 100 ไร่ ขาดทุนทุกปี ต้องการน้ำเพิ่มขอเสนอว่าเราควรเดินหน้าต่อในโครงการที่จะมีประโยชน์ มีปัญหาตรงไหรให้ไปศึกษา
นายศักดิ์ชัย เยมู ผู้ได้รับผลกระทบจากบ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเป็นชาวสบเมยโดยกำเนิด เห็นแม่น้ำมาโดยตลอด ที่มีความอยากได้น้ำจากแม่น้ำยวม จะบอกว่าทุกวันนี้แม่น้ำยวมมีปริมาณน้อยลงมาก ลงไปเดินยังไม่ท่วมตาตุ่ม หากไปดูวันนี้จะเห็นเลยว่าน้ำยวมน้อยมาก
“เขามาเล่าแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ ความจริงแล้วน้ำยวมไม่ได้มากอย่างที่เข้าใจ มันเพียงพอที่จะให้ผันหรือไม่ ทุกวันนี้ผมอยู่ที่บ้านแม่งูด ผมไปมาหาสู่ ผมเห็นตลอด จะหวังได้อย่างไรว่าน้ำจะเพียงพอในการทำนา เขาอยากได้น้ำยวม แต่ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร” นายศักดิ์ชัยกล่าว
นางยุพา จ่อแผ แม่บ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง บ้านแม่งูด อ.ฮอด กล่าวว่า ตั้งแต่สร้างเขื่อนภูมิพล พวกเรานาล่ม เดือดร้อน ไม่มีครอบครัวที่สุขสบาย เขื่อนภูมิพลกั้นน้ำปิงมาท่วมบ้านเรา ที่นากลายเป็นทรายไปทั้งหมด ปลูกข้าวไม่ได้ ไม่มีน้ำ แห้งหมด เราต้องปรับชีวิตเพราะเขื่อนทำนาเราล่ม เราปรับเปลี่ยนชีวิตให้ไปต่อ เราทำสวนลำไย ใช้น้ำจากตาน้ำข้างล่าง เราไม่ได้สุขสบาย ไม่ได้มีความสุข ลูกก็ต้องออกไปหางานทำ หาเงินส่งลูกเรียน ไม่ใช่ภาพที่สวยงาม ถ้าเป็นไปได้ขอเชิญพี่น้องทางท้ายน้ำ มาเยือนบ้านแม่งูด เรายินดีต้อนรับ เราอยากเล่าให้ฟังว่าเขื่อนภูมิพลมาแล้วชีวิตเราเป็นอย่างไร
“ฝากถึงผู้ทำรายงานอีไอเอว่า ลงพื้นที่ไปแต่ละครั้งอย่าแอบๆ ซ่อนๆ อย่าทำลับลมคมใน โปรดให้ข้อมูลสองด้านได้มั้ยคะ แม่น้ำเงา แม่น้ำยวม น้ำแทบจะไม่มีเลย ธรรมชาติของแม่เงาสวยงามมาก เหมือนแม่งูดในอดีต ท่านได้ลงไปดูธรรมชาติมั้ย ดิฉันหวงแหน บอกจะผันน้ำในหน้าฝน ทุกวันนี้เขื่อนภูมิพลหนุนท่วม ชาวบ้านทุกคนกังวล หน้าฝนน้ำเยอะอยู่แล้ว หากเอาน้ำมา สวนของเราล่มแน่นอน พวกเราร้อยกว่าหลังคาเรือน ท่านบอกว่าจะช่วย ช่วยใคร ท่านจะช่วยแบบไหน ช่วยกี่ปี ประสบการณ์เขื่อนภูมิพล หน่วยงานไม่เคยมาช่วย สมัยก่อนสร้างเขื่อนเขาก็บอกแบบนี้ โครงการนี้จะเดินต่อ หรือเผาทิ้งเลย”นางยุพา กล่าว
นางดาวพระศุกร์ มึปอย แม่บ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง กล่าวว่าบ้านแม่เงา กรมชลประทานนั้นตนอยากขอให้มาสำรวจให้ครบว่าใครบ้างจะได้รับผลกระทบ และเอาความจริงไปเล่า ที่หัวงานเขื่อนเคยไปสำรวจดีๆ หรือไม่ ถ้าเขาทำจริงบอกว่ามีคนได้ประโยชน์แต่เราได้รับบผลกระทบ
“เคยคิดมั้ยทำอย่างไรที่จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คนเสียหายไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์ร้อน ทุกวันนี้ประชาชนแม่เงาอาศัยแม่น้ำและผืนป่า เราไม่มีที่ทำกิน เรารู้ว่าพี่อยากได้นำไปทำนา แต่เรามีเท่านี้ เราทำแค่พอกินดีมั้ย พี่ไม่ได้ทำนาเล็กๆ พี่บอกว่าทำนาเป็นร้อยๆ ไร่ นากว้างมาก ใช้น้ำเยอะ หากเราทำนาขนาดใหญ่แบบนั้น น้ำก็คงไม่พอเหมือนกัน เพราะเราแบ่งน้ำให้คนท้ายน้ำได้ใช้น้ำด้วยกัน หากทำ 50 ไร่ก็คงน้ำไม่พอเหมือนกัน” แม่บ้านชาวกะเหรี่ยง กล่าว
ดร.ภวิสร ชื่นชุ่ม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เคยทำการศึกษาโครงการผันน้ำ South-North Project ของจีน การผันน้ำของจีน,ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือคนรุ่นหลังได้รับผลกระทบในอนาคตมากๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการปนเปื้อนของสายพันธุ์ alien species มีบางสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว เช่นปลาที่เคยจับได้ตอนนี้หายไปแล้ว พืชบางชนิด สัตว์บางชนิดที่กัดกินข้าวในนาของเกษตรกร แต่ในรายงานอีไอเอไม่ได้ระบุและศึกษาเรื่องนี้เลย ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ เห็นด้วยกับการตั้งคณะทำงานศึกษาเพิ่มเติม เป็นเรื่องการเคลียร์ด้านวิศวกรรมซึ่งมีปัญหาอยู่ และปัญหานั้นกลับสิ่งแวดล้อมไม่ได้พูดกันเลย และเป็นปัญหาที่จะเดินในอนาคต ไม่เกิดขึ้นตอนนี้ การไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ฝนจะเป็นอย่างไร ปริมาณน้ำต้นทุนในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้วิเคราะห์กันหรือไม่ และเสนอให้ตั้งคณะทำงาน และเป็นกลางด้วยกัน และต้องเคลียร์กันให้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในที่ประชุมค่อนข้างเครียดเนื่องจากมีความเห็นแตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตามในการประชุมผู้แทนกรมชลประทานและคณะผู้จัดทำรายงานอีไอเอยังไม่ได้ตอบข้อสงสัยแต่อย่างใด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี