“น้ำเมา” หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หนึ่งในประเด็นที่มีข้อถกเถียงอย่างมากในสังคมไทยว่าควรจะมีนโยบายอย่างไร ระหว่างฝ่ายที่มองว่าการดื่มเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มนี้ก็เป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว มาตรการต่างๆ จึงควรเป็นไปโดยหลักคิดเรื่องการยอมรับความจริงข้อนี้ กับฝ่ายที่เห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นตอของสิ่งเลวร้ายทั้งมวลทั้งอุบัติเหตุบนท้องถนน การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ จึงต้องการให้ยกระดับมาตรการควบคุมให้เข้มข้นขึ้น
9 เม.ย. 2567 หรือ 2 สัปดาห์หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 27 มี.ค. 2567 ลงมติวาระแรก (รับหลักการ) ให้สภาฯ รับพิจารณาร่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวม 5 ฉบับ ซึ่งมีบางฉบับมาจากภาคประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายข้างต้น ใช้กระบวนการรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายเข้ามา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดวงเสวนา “ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไรให้พอดี” โดยงานนี้มีความน่าสนใจตรงที่สามารถเชิญแกนนำคู่ขัดแย้งทางความคิดในประเด็นน้ำเมามาร่วมเวทีเดียวกันได้ จากที่ส่วนใหญ่ต่างฝ่ายมักจะจัดงานแบบแยกกัน
รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวถึงข้อแนะนำจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่องของมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่ได้ผลดีที่สุด ทั้งนี้ การให้มีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะไม่ได้มุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็กและเยาวชนโดยตรง แต่ในความเป็นจริงนั้นควบคุมได้ยาก เพราะเมื่อโฆษณาถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อออนไลน์อย่างไรเด็กและเยาวชนก็ต้องได้เห็น ซึ่งที่ผ่านมามีผลการศึกษาที่ชัดเจนว่าโฆษณามีผลต่อพฤติกรรมการดื่มที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นจึงมีคำถามว่า แนวคิดที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อให้โฆษณาได้ ความสมเหตุสมผล (Rational) อยู่ตรงไหน? จะเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง? เพราะแม้ปัจจุบันที่กฎหมายห้ามการโฆษณาแต่ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังไม่ลดลง ซึ่งสำหรับตนนั้นไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เพราะน่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
“เส้นแบ่งมันบางเกินไประหว่างโฆษณาที่มุ่งเน้นผู้ใหญ่กับโฆษณาที่มุ่งเน้นเด็กและเยาวชน ผมยังจำโฆษณาเหล้าเมื่อผมเป็นเด็กได้อยู่เลย คือมันเป็นตัว Impression (ภาพจำ) ตรงนี้ แล้วก็หลักฐานเชิงประจักษ์ตอนนี้ WHO บอกว่าต้องห้ามโฆษณา แล้วถ้าเกิดดูทางการสำรวจ บางทีอิทธิพลของโฆษณามันอาจจะอยู่ในจิตใต้สำนึก คนก็อาจจะไม่ได้รายงานโดยตรงว่าแรงจูงใจในการดื่มเป็นเพราะว่าการโฆษณา
แล้วก็บริบทของการดื่มของไทยเป็นเพราะว่าการดื่มในการเข้าสังคม ดังนั้นคนก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะรายงานเป็นเพราะเพื่อนชวนมากกว่าเป็นเพราะว่าการโฆษณา แต่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าโฆษณามันอยู่ใต้จิตสำนึกของเรา แล้วถ้าเกิดดู Influence (อิทธิพล) ตรงนี้จริงๆ คือ ถ้าบอกให้โฆษณาได้แล้วก็มันไม่พุ่งเป้าเด็กและเยาวชน คือมันคุมยากมาก ก็เลยเป็นกังวลตรงนี้” รศ.ดร.วิทย์ กล่าว
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า ในการพูดถึงสมดุลเรื่องมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักเน้นที่มิติด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่อาจลืมพิจารณามิติด้านประชากร เช่น ใครได้ประโยชน์จากธุรกิจนี้? คิดเป็นจำนวนเท่าใดของประชากร? ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ที่ประเทศอังกฤษ มีผลการศึกษาที่บอกอย่างชัดเจนว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อผลกระทบต่อผู้อื่นสูงที่สุด มากยิ่งกว่าสิ่งเสพติดชนิดอื่นๆ ที่มีบนโลกใบนี้
เมื่อดูข้อมูลในประเทศไทย สัดส่วนประชากรที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ร้อยละ 70 ส่วนผู้ที่ไม่ดื่มอยู่ที่ร้อยละ 30 แต่ไม่ว่าจะเป็นคนดื่มหรือไม่ดื่มล้วนมีโอกาสได้รับผลกระทบทั้งสิ้น จึงอยากให้นำมิติด้านประชากรมาคำนวณด้วย นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะมีการอ้างถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปผลผลิต สำหรับตนก็มีคำถามว่า จะมีเกษตรกรสักกี่ครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ในส่วนนี้?
ส่วนประเด็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับตนมีข้อเสนอคือให้ทำแบบเดียวกับบุหรี่ คือห้ามโฆษณาอย่างเด็ดขาด (Total Ban) เพราะการโฆษณาได้ไม่ว่าจะพยายามควบคุมเรื่องการเข้าถึงเด็กและเยาวชนอย่างไรสุดท้ายก็จะเข้าไปถึงได้ผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ดี และการห้ามโฆษณายังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยด้วย เพราะการให้โฆษณาได้ไม่ว่าช่องทางใด สุดท้ายรายใหญ่ก็มักได้ประโยชน์เพราะมีทุนทรัพย์สูงกว่าในการลงทุนด้านโฆษณา
“หลักฐานงานวิจัยทั่วโลกยืนยันว่าโฆษณามีผล จนองค์การอนามัยโลกกำหนดว่าเป็นหนึ่งใน Best Buy Policy คือลงทุนน้อยได้ผลมาก โฆษณาก็เป็นอันนั้น ที่จริงงานวิจัยในต่างประเทศบอกชัดเจนเลยว่าลงทุนโฆษณา 1 ดอลลาร์ ยอดขายเพิ่มขึ้นกี่ดอลลาร์ เขาพูดถึงแต่ผมจำตัวเลขไม่ได้ แต่มันมากขึ้นแน่นอน หรือตรรกะง่ายที่สุด ถ้าโฆษณาไม่ได้ผลธุรกิจจะลงทุนมหาศาลทำไมกับการโฆษณา?
ถ้าใครยังจำได้ ก่อนมีการควบคุมโฆษณา ธุรกิจเดียวที่ซื้อ 2 หน้ากลางหนังสือพิมพ์โฆษณาคือธุรกิจแอลกอฮอล์มีสปอตถี่ยิบทุกวัน ลงทุนเท่าไร? แล้วเป็นไปได้ไหม? ไม่ได้ผลแล้วเขาจะลงทุนเรื่องนี้เพราะฉะนั้นโฆษณามีผลแน่นอน งานวิจัยในประเทศไทยยิ่งชี้ชัดใหญ่ ถ้าใครจำได้ว่าประเทศไทย พูดกันตรงๆ ... (ชื่อบริษัทเครื่องดื่มเจ้าหนึ่ง) เป็นสปอนเซอร์ถ่ายทอดปีนั้น แล้วมีโฆษณาแค่ที่มุมจอเท่านั้น งานวิจัยนี้บอกเลย ยิ่งเยาวชนอายุน้อยยิ่งมีโอกาสไปเป็นเหยื่อการตลาดเขามากที่สุด” ภก.สงกรานต์ ระบุ
วงเสวนานี้มีตัวแทนของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายร่วมอยู่ 2 ท่าน คือ พ.ต.อ.เอกกมนต์ พรชูเกียรติรองผู้บังคับการแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ กล่าวว่า การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ตำรวจถือเป็นเจ้าพนักงานในกฎหมายหลายฉบับ นอกเหนือจากเจ้าพนักงานโดยตรงตามกฎหมายนั้นๆ เช่นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าพนักงานสรรพสามิต
ขณะที่สังคมจะมองการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจอยู่ 2 เรื่อง คือพฤติกรรมดื่มแล้วขับและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการดื่ม อาทิ การทำร้ายร่างกาย อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้เก็บสถิติแบบจำแนกว่า คดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ตามความผิดเกี่ยวกับชีวิต (ฆาตกรรม) ร่างกาย (ทำร้ายร่างกาย) และเพศ (ข่มขืนกระทำชำเรา-ลวนลามอนาจาร) ที่เชื่อมโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมาก-น้อยเพียงใด จึงไม่มีตัวเลขมานำเสนออย่างชัดเจน แต่ก็ยืนยันได้ว่าแอลกอฮอล์มีส่วนสำคัญกับคดีเหล่านี้
ส่วนประเด็นการโฆษณา ในที่ประชุมอนุกรรมการเร่งรัดเกี่ยวกับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการพูดถึงการโฆษณาบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างรวดเร็ว โดยขั้นตอนจะเริ่มจากเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวัง หรือมีประชาชนที่พบเห็นแล้วร้องเรียนเข้ามา จากนั้นก็จะส่งเรื่องไปให้กรมควบคุมโรค แล้วจึงจะถึงขั้นตอนแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งต้องไปแจ้ง ณ ที่ตั้งของกระทรวงสาธารณสุข คือ จ.นนทบุรี ซึ่งก็คือ สภ.เมืองนนทบุรีและที่นั่นก็จะมีคดีทำนองนี้ค้างอยู่จำนวนมาก
อนึ่ง มีคำถามเสมอว่า “เหตุใดจึงไม่มีการปิดกั้นแพลตฟอร์มที่ปล่อยให้มีการละเมิดกฎหมาย” ประเด็นนี้ ในประเทศไทยมีกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ให้อำนาจกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการยื่นคำร้องให้ศาลสั่งปิดกั้น ซึ่งตำรวจจะเป็นผู้เสนอสำนวนให้กระทรวงดิจิทัลฯ ยื่นคำร้อง หากศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นก็จะแจ้งไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มให้ปิดแต่ถึงปิดได้แล้ว อีกไม่นานก็จะมีการเผยแพร่เนื้อหานั้นเข้ามาในอีก IP ให้เห็นได้อีกอยู่ดี
“บน Social Media เรามีหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น TikTok Facebook Instagram Whatsspp Telegram ก็มีการสืบสวน-สอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จะมีการประสานกับทางตำรวจไซเบอร์ให้หาแหล่งที่มาเพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ทีนี้ในส่วนของผู้ที่สามารถตรวจพบผู้กระทำผิดได้ก็จะมีการดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในมาตรา 32
แต่ทีนี้มันจะมีอีกหลายส่วนที่เรายังไม่สามารถหาต้นตอได้เนื่องจากหลายๆ แพลตฟอร์มไม่ได้มีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เขาอาจจะอยู่ในสิงคโปร์บ้าง ในญี่ปุ่นบ้างเพราะฉะนั้นมันก็เลยเกิดความยากลำบากในเรื่องการสืบสวน-สอบสวนทีนี้ Social Media พวกนี้เข้าถึงโดยทุกกลุ่มอายุ การจะไปบังคับว่าคนอายุต่ำกว่า 20 ห้ามดู มันก็คงจะลำบาก” พ.ต.อ.เอกกมนต์ กล่าว
ตัวแทนจากตำรวจอีกท่านหนึ่งคือ พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน กองแผนงานความมั่นคง กล่าวว่า กฎหมายเรื่องดื่มแล้วขับ มีบทลงโทษมาตั้งแต่ปี 2477 ขณะนั้นเป็นโทษปรับ 100 บาท จากนั้นปี 2522 เพิ่มเป็นปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท ต่อมาในปี 2535 เริ่มมีการระบุโทษจำคุกเข้ามาด้วย และหลังจากนั้นยังมีการระบุบทลงโทษที่หนักขึ้นหากมีพฤติกรรมทำผิดซ้ำๆ หรือดื่มแล้วขับไปเกิดอุบัติเหตุมีบุคคลอื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ทั้งนี้ ในเรื่องของการเพิ่มโทษพฤติกรรมดื่มแล้วขับก็มีข้อถกเถียง เช่น ควรกำหนดให้เป็นความผิดฐานเจตนาฆ่าไปเลยหรือไม่? ซึ่งก็จะมีข้อโต้แย้งเรื่องความได้สัดส่วนระหว่างความผิดกับบทลงโทษ นอกจากนั้น หากกำหนดโทษรุนแรงขึ้น โอกาสเกิดเหตุกระทบกระทั่งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ก็จะมากขึ้นด้วย อย่างที่เห็นในกฎหมายยาเสพติด ที่ระดับความรุนแรงในการต่อต้านเจ้าหน้าที่มีมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันไม่ว่าจะเป็นอำนาจเงิน อำนาจการเมือง อำนาจบริหาร คำถามคือเจ้าหน้าที่จะทนแรงกดดันเหล่านี้ได้มาก-น้อยเพียงใด?
“สิ่งที่เราควรจะดู โทษ ณ ปัจจุบันค่อนข้างสูง ประสิทธิภาพในการบังคับใช้เรามีมาก-น้อยขนาดไหน? อันนี้นอกจากจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ปราการด่านแรกในการที่จะกลั่นกรอง กวดจับให้ผู้กระทำผิดเล็ดลอดน้อยที่สุด หน่วยงานที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมลำดับถัดไปก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะบังคับให้กฎหมายที่มีอยู่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัว ยับยั้ง ประเมินผลที่จะได้รับแล้วไม่กระทำผิดหรือไม่กระทำผิดซ้ำ ในผลการดำเนินคดีโดยทั่วๆ ไปอย่างที่ทราบกันถ้ามีโทษจำคุก 1 ปี ทางศาลเองท่านก็รอลงอาญาเป็นส่วนใหญ่
จากการดูสถิติข้อมูลที่กระทำผิดซ้ำที่มีการดำเนินคดีไปแล้ว 21 ราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีเพียง 2 ศาลที่โทษจำคุกไม่รอลงอาญา รวมทั้งโทษในประเด็นทำงานเพื่อสังคม ก็มีศาลบางแห่งสั่งในเรื่องนี้ ดังนั้นข้อเสนอเรื่องการเพิ่มโทษทางอาญาหรือเพิ่มการลงโทษอย่างอื่น การลงโทษอย่างอื่นผมก็เห็นด้วย อย่างเช่นการใช้มาตรการทางสังคมมากขึ้นส่วนโทษทางอาญา เห็นว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมควรมาทบทวนในเรื่องประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น” พ.ต.อ.จักรกริศน์ กล่าว
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ผลักดันร่างกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีปัญหาวนๆ อาทิ 1.สมดุลหรือไม่? เพราะสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากฝั่งใคร ซึ่งก็มีมุมมองที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ตนย้ำเสมอคือเมื่อเขียนกฎหมายจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่หากไม่สร้างการยอมรับจากสังคมในกฎหมายนั้นก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปได้เลย
2.คุ้มครองเด็กและเยาวชนจริงหรือไม่?เพราะเมื่อดูอัตราค่าปรับ พบว่า ความผิดฐานโฆษณาต้องเสียค่าปรับสูงกว่าฐานขายให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนด หรือการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ ทั้งที่การยืนยันตัวตนทำได้ชัดเจนยิ่งกว่าการขายตามร้านขายของชำเสียด้วยซ้ำ เช่น ระบบ KYC (Know Your Customer) สรุปแล้วตกลงเจตนารมณ์ของกฎหมายคือจะห้ามคนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือจะป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันแน่?
3.ค่าปรับสมเหตุสมผลกับพื้นฐานของผู้กระทำผิดหรือไม่? เช่น กำหนดค่าปรับเรื่องการโฆษณาไว้ 1 ล้านบาทเท่ากัน ระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่ ผู้ผลิตรายย่อยในท้องถิ่น และบุคคลทั่วไป หรือโทษดื่มแล้วขับ ปรับ 2 หมื่นบาท เงินจำนวนนี้หากมองจากสายตาลูกเจ้าของบริษัทใหญ่เทียบกับบุคคลทั่วไปย่อมมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้นำมิติเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้ามากำหนดอัตราค่าปรับให้สมดุลกับรายได้ของผู้กระทำผิด 4.การบังคับใช้กฎหมายตรงไปตรงมาหรือไม่? โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นถูกตั้งคำถามอย่างมาก
“ผมเชื่อว่าตอนนี้เราต้องรีบหาสมดุลโดยเร็ว ผมใบ้ให้ทุกคน ว่าตอนนี้มันมี คืออยากให้ทุกคนเชื่อว่าผม กำลังจะพูดไปอาจจะไม่เชื่อไม่เป็นไร แต่ผมบอกเลยนะว่าอยากให้ทุกคนเชื่อผม ว่าผมพยายามหาสมดุลให้ทุกคนอยู่ เพราะตอนนี้ต้องบอกเลยว่าฝั่งรณรงค์ก็น่าจะทราบดี ว่ารัฐบาลเราปัจจุบันนี้คือจริงๆ แล้วหลายๆ อย่างเขาไปไกลกว่าผมนะ อันนี้ผมพูดตรงๆ เลย
สุดท้ายเชื่อว่าผมต้องคุยกันในกรรมาธิการ พูดกันตามตรงคือยื่นหมูยื่นแมวคืออยากได้อันไหนคุณก็เอามา แต่คุณก็ต้องผ่อนอันนี้ให้เขา ก็อยากเห็นรัฐบาล ผมว่านายกฯเขาไม่พอใจหรอก อยู่ดีๆ ไปห้ามเขา เขาบอกจะทำนโยบายเปิดขายเหล้าตี 4 พอทำอย่างนี้มันจะยิ่งสปริงบอร์ดกลับไป มันจะไกลกว่าเดิมอยากให้ทุกคนช่วยๆ กัน ผมก็พยายามช่วยทุกคนอยู่ให้มันแบบ Make Sense” เท่าพิภพ กล่าว
เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า กฎหมายที่มีอยู่ไม่สมดุล เพราะเข้มงวดจนเกินไป ไม่ใช่การกำกับดูแลแต่เป็นการห้ามอย่างเบ็ดเสร็จ (Absolute) เช่น ในขณะที่ประเทศไทยอยากส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่กลับมีกฎหมายห้ามขายช่วงเวลา 14.00-17.00 น. นักท่องเที่ยวต่างชาติมาแล้วอาจจะงง หรือเรื่องการโฆษณาที่มีความคลุมเครือ เช่น คนคนหนึ่งชอบโพสต์อะไรๆ ลงในสื่อสังคมออนไลน์ วันดีคืนดีไปโพสต์รูปเบียร์โดยไม่รู้ว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย และต้องเสียค่าเดินทางไกลเพื่อมาเข้ากระบวนการทางคดีความที่ จ.นนทบุรี
“โชคดีที่ตอนนี้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมฯ อยู่ในสภาฯ ก็หวังว่า 5 ร่างซึ่งมีความต่างพอสมควรจะมาสมานฉันท์รวมกันได้ จากมุมมองที่แตกต่างแต่วัตถุประสงค์เดียวกันคือความผาสุก สวัสดิภาพของประชาชน ทั้งสุขภาพและกระเป๋าสตางค์” นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าว
อ่านต่อหน้า 5
ฉบับวันเสาร์ที่ 27 เม.ย. 2567
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี