ศรีสะเกษแล้งหนัก!! ชาวบ้านขาดแคลนน้ำถึงขั้นต้องซื้อน้ำใช้กันแล้ว ขณะที่ทุเรียนต้องยืนต้นตายหลายร้อยต้น ด้าน"อบต.ห้วยจันทร์"ต้องส่งน้ำกระจายให้ชาวบ้านถึงวันละ 2 รอบ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนเบื้องต้น
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษเริ่มรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 ของ ต.ห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค อย่างหนัก จนต้องซื้อน้ำกิน น้ำใช้ วันละ 100-200 บาท เพื่อประทังชีวิต ให้ผ่านพ้นวิกฤติในช่วงฤดูแล้งนี้ไปให้ได้ รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรก็เริ่มประสบปัญหาหนักเช่นกัน
นายจักรกฤษ โพธิสาร อายุ 31 ปี เจ้าของสวนทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ปีนี้ตนปลูกทุเรียนอยู่ 15 ไร่ แต่ตอนนี้ประสบปัญหาอากาศร้อน ต้นทุนเรียนขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก น้ำที่รดต้นทุเรียนไม่เพียงพอ ต้องลงทุนใช้รถบรรทุกขนถังน้ำลงมาสูบน้ำในคลองส่งน้ำขึ้นไปรดต้นทุเรียน ซึ่งวันหนึ่งตนต้องใช้น้ำในการรดต้นทุเรียนถึงวันละ 5 หมื่นลิตร ตนต้องสูบน้ำขนขึ้นไปรดต้นทุเรียนถึงวันละ 5-6 รอบต่อวัน ซึ่งถ้าไม่ทำแบบนี้ต้นทุเรียนที่ตนปลูกไว้ 15 ไร่ คงต้องตายหมดสวนแน่นอน
ด้านชาวบ้านอีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ในพื้นนที่แล้งมาก เจาะน้ำบาดานลงไปก็ไม่มีน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ก็เกือบไม่มีน้ำแล้ว ทุกวันนี้ตนต้องล้วงกระเป๋าตัวเองซื้อน้ำใช้ถึงวันละ 100 บาท ซึ่งจะได้ประมาณ 1 พันลิตร เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนในเบื้องต้น โดยปัญหาจริงๆที่ขาดแคลนน้ำคือในพื้นที่ไม่มีที่กักเก็บน้ำ ถ้าในพื้นที่มีพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ในช่วงหน้าฝนก็คงจะดี ชาวบ้านคงไม่เดือนร้อนขาดแคลนน้ำถึงขนาดนี้
ด้าน นายสมบูรณ์ ประจิม นายก อบต.ห้วยจันทร์ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ตำบลห้วยจันทร์ ที่หนักๆจะมีอยู่ 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ 4 และหมู่ 5 ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่แล้งมากกว่าทุกปี ชาวบ้านส่วนใหญ่จะขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน ขาดน้ำใช้ในพื้นที่การเกษตร เจาะน้ำบาดานใช้น้ำก็ไม่ออก สวนทุเรียนในพื้นที่หลายแหล่งต้นทุเรียนยืนต้นตายไปหลายต้น เนื่องจากไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เบื้องต้นทาง อบต.ห้วยจันทร์ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเร่งวางแผนแก้ปัญหาภัยทั้งแบบระยะสั้น และระยะยาว โดยแบบระยะสั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำรถน้ำมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านใน 2 หมู่บ้าน ที่ประสบปัญหาวันละ 2 ครั้ง
นอกจากนี้ยังต้องนำน้ำไปส่งให้ตามวัดในพื้นที่ขาดแคลนอีก สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และส่งน้ำบริการให้กับนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวน้ำตกห้วยจันทร์ ได้ใช้ในทุกวันศุกร์อีก 2 รอบ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนให้กับชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ทาง อบต.ห้วยจันทร์ ร่วมกับทาง ชลประทาน และภาคส่วนต่าง กำลังช่วยกันผลักดันโครงสร้างเขื่อนห้วยจันทร์ ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน 2-3 ปีข้างหน้านี้ ก็น่าจะสร้างแล้วเสร็จ แล้วพี่น้องชาวบ้านในพื้นตำบลห้วยจันทร์ และตำบลใกล้เคียง ก็จะได้มีพื้นที่กักเก็บน้ำ และจะได้มีน้ำใช้ไปตลอดทั้งปี ไม่ขาดแคลนเหมือนทุกวันนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี