ปลัดกระทรวงมหาดไทยควงนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เยี่ยมเยียนให้กำลังใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์กระจายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนน่าน พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการ เน้นย้ำ ผู้นำต้องช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต การแปรรูป จนถึงการพัฒนาการตลาดในรูปแบบออนไลน์
วันนี้ (26 เมษายน 2567) เวลา 10.45 น. ณ ศูนย์กระจายสินค้า นวัตกรรมเกษตรปลอดภัย ประชารัฐ จังหวัดน่าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการศูนย์กระจายสินค้า นวัตกรรมเกษตรปลอดภัยประชารัฐ จังหวัดน่าน พร้อมเยี่ยมเยียนเจ้าหน้าที่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์กระจายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนน่าน โดยมีนายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ว่าที่ร้อยตรีไพฑูรย์ ศรีราจันทร์ พัฒนาการจังหวัดน่าน นายประทุม จิณเสน กรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์กระจายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนน่าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของ ศูนย์กระจายสินค้านวัตกรรมเกษตรปลอดภัยน่าน ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์กระจายและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนน่านได้บริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากศูนย์ฯ ในการให้บริการคัดตัดแต่งคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร คัดตัดแต่งผลไม้ บริการรับฝากสินค้าห้องเย็น บริการขนส่งรถ 6 ล้อบรรทุก และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เยี่ยมชมกระบวนการคัดตัดแต่งผลผลิตทางการเกษตร และได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการทำงาน โดยขอให้เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินและครุภัณฑ์ต่าง ๆ ของโครงการให้ได้ประโยชน์สูงสุดพร้อมมอบแนวทางในการขับเคลื่อนศูนย์กระจายสินค้านวัตกรรมเกษตรปลอดภัย ให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การรวมกลุ่มวิสาหกิจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกิจการของชุมชนที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือ กิจกรรมอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยชุมชน ซึ่งจะมีการบริหารจัดการในรูปแบบของคณะกรรมการฯ ซึ่งล้วนเเต่ได้รับการเเต่งตั้งจากบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวกัน เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน ซึ่งจังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เกษตรกรรมเป็นจำนวนมากการสร้างกลุ่มวิสาหกิจเพื่อกระจายสินค้าจึงเป็นทางออกที่จะช่วยเสริมสร้างเครือข่ายการผลิต รวมถึงการส่งเสริมการตลาด โดยที่ผ่าน หน่วยงานภาครัฐได้สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด การลดพื้นที่การปลูกเชิงเดี่ยว หันมาปลูกพืชผสมผสาน เพิ่มพื้นที่ป่าแบบวนเกษตร น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการตามแนวพระราชดำริกว่า 5,151 โครงการมาใช้ รวมไปถึงการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนรู้จักการใช้ประโยชน์จากการปลูกป่า 5 ระดับ เพื่อก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งการสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรหันมาปลูกพืชตามหลักอารยเกษตรเเล้ว ยังได้ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผัก เเละพืชสมุนไพรประจำท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบนิเวศให้สอดคล้องกับผลักภูมิสังคมในพื้นที่อีกด้วย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การรวมกลุ่มการผลิต หรือ การจัดจำหน่าย จะช่วยเพิ่มการพัฒนาคุณภาพสินค้า ผลิตภัณฑ์ ทำให้สินค้าเเละผลิตภัณฑ์มีมูลค่าสูงขึ้น ก่อให้เกิดการต่อยอดแปรรูปผลผลิต ขยายเครือข่ายด้านการตลาด ฯลฯ ซึ่งหลักการดังกล่าว เป็นหลักการตามหลักบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ในขั้นสุดท้าย หลังจากการรู้จัก พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เหลือทำบุญทำทาน แบ่งปัน ขาย เก็บไว้ใช้ยามจำเป็น นั่นคือ "การรวมกลุ่ม" ที่พวกเราจำเป็นจะต้องหันมาศึกษา เเละให้ความใส่ใจ เพราะการรวมกลุ่มนี้จะช่วยสร้างรากฐานความยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน สร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นลักษณะห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน เพราะนอกจากจะมีการรวมกลุ่มบริหารจัดการ พัฒนาสมาชิกภายในกลุ่มแล้ว ยังมีโอกาสที่ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีสามารถเข้าถึงเพื่อให้การสนับสนุนทั้งในด้านเงินทุน สินเชื่อการให้ความรู้ตามหลักวิชาการ อาทิ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใส่สินค้า ซึ่งจะทำให้แนวโน้มการพัฒนาในอนาคตมีการส่งเสริมพัฒนาการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใช้พื้นที่ให้น้อยและมีผลตอบแทนที่สูง มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต การแปรรูป จนถึงการพัฒนาการตลาดในรูปแบบออนไลน์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในท้ายที่สุดการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อมีการรวมกลุ่มจะช่วยสร้างความยั่งยืน กล่าวคือ จะเกิดกลไกของเครือข่ายที่เป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมทั้งมีฝ่ายที่ทำหน้าที่พัฒนาแนวคิดทางการตลาด ซึ่งอาจมีเเนวคิดสมัยใหม่ ทั้งการใช้การตลาดนำการผลิต ทั้ง ตลาดชุมชนท้องถิ่น ร้านค้าร้านอาหาร หรือตลาด Modern trade การเน้นการเกษตรแบบประณีต การปลูกพืชผักที่มีมูลค่าสูงแบบอินทรีย์และปลอดภัย รวมไปถึงการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ พืชสมุนไพร พืช (Geographical Indication : Gl) เช่น การผลิตเมล็ดกาเเฟที่มีคุณภาพ เเละส่งออกเมล็ดกาเเฟทั้งที่คั่วบดแล้ว เเละยังไม่ได้คั่วไปยังร้านขายกาเเฟทั่วประเทศ ซึ่งสามารถต่อยอดสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นการเกษตรเชิงท่องเที่ยวก็ได้ โดยหลักการที่สำคัญ คือ ผู้นำ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือ ผู้นำกลุ่ม จะต้องช่วยกันพัฒนาอย่างสร้างสรรค์กระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ เช่น ไปศึกษาเรื่องการวางเเผนผลิตน้ำดื่ม เรื่อง การรวมกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ ซึ่งมีต้นแบบที่น่าสนใจที่จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือ ขอความรู้จากกลุ่มผู้นำชุมชนต้นแบบทั่วประเทศ เมื่อเราสร้างคนให้มีความรู้ได้เเล้ว คนที่เราสร้างเขาก็สามารถต่อยอดเเละพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้ สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และปลอดภัย ซึ่งจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี