เปิดผลสำรวจสเปก‘ผบ.ตร.’คนใหม่ ‘คุณสมบัติ 5 ประการ’ที่ประชาชนต้องการ
28 เมษายน 2567 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ปรึกษามูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลสำรวจเรื่อง “ตำรวจของประชาชน” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติจำนวนทั้งสิ้น 1,207 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 - 27 เม.ย.ที่ผ่านมา
ผลการสำรวจที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามประชาชนถึง คุณสมบัติ (Spec) ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนต่อไปที่ประชาชนต้องการ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 75.5 ระบุ เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต , รองลงมา ร้อยละ 71.4 ระบุ สร้างความสามัคคีในองค์กรตำรวจ , ร้อยละ 68.2 ระบุ ไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่พัวพันกับเงินผิดกฎหมาย , ร้อยละ 66.8 ระบุ เข้าถึงประชาชน ดูแลความปลอดภัยของประชาชน และร้อยละ 63.2 ระบุ เร่งฟื้นฟู ศรัทธาของประชาชน ตามลำดับ
เมื่อถามถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายข่าวนายตำรวจระดับสูงขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.2 ระบุ เบื่อมาก ถึง มากที่สุด , รองลงมา ร้อยละ 16.7 ระบุ เบื่อค่อนข้างมาก , ร้อยละ 9.4 ระบุ เบื่อค่อนข้างน้อย และร้อยละ 11.7 ระบุ เบื่อน้อย ถึง ไม่เบื่อเลย
ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามต่อถึงความเห็นต่อตำรวจที่ตกเป็นข่าวในทางลบกระทบภาพลักษณ์ขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 89.9 ระบุ ตำรวจควรเร่งทำงาน สร้างผลงาน ความปลอดภัยของประชาชน , รองลงมา ร้อยละ 74.1 ระบุ เรื่องของตำรวจ ควรจบได้แล้ว และร้อยละ 72.8 ระบุ ตำรวจที่ตกเป็นข่าว ควรชี้แจงว่าตนเองบริสุทธิ์อย่างไร
เมื่อถามถึงผลงานของตำรวจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชาชนรู้และพึงพอใจ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 64.8 ระบุ การติดตามจับกุมคนร้าย , รองลงมา ร้อยละ 56.0 ระบุ ตรวจตรา ดูแลความปลอดภัย ยามค่ำคืน , ร้อยละ 54.5 ระบุ การแก้ไขปัญหายาเสพติด , ร้อยละ 53.3 ระบุช่วยเหลือทุกเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน และร้อยละ 51.8 ระบุ การปราบปรามเว็บพนัน มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ เป็นต้น
ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนต้องการข้อมูลจำเพาะหรือสเปก (Spec) คุณสมบัติ 5 ประการของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไปคือ
1.ซื่อสัตย์สุจริต
2. สร้างความสามัคคีภายในองค์กร
3. ไม่มีประวัติด่างพร้อยเกี่ยวข้องกับเงินผิดกฎหมาย
4. เข้าถึงประชาชน ดูแลความปลอดภัยของประชาชน
5. เร่งฟื้นฟูศรัทธาของประชาชน
ที่น่าพิจารณา คือ ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายต่อข่าวนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เพราะประชาชนอาจจะเห็นความชัดเจนในข้อมูลบางอย่างของเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว แต่อาจจะไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ ประชาชนต้องการให้ตำรวจเร่งทำงาน สร้างผลงาน ความปลอดภัยของประชาชน เรื่องราวของตำรวจในสื่อควรจบได้แล้ว เพราะประชาชนต้องการให้ตำรวจเป็น “ตำรวจของประชาชน” ที่มีหน้าที่และอำนาจหลักคือรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชน มากกว่า
ก.ต.ช.ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนฯ กล่าวว่า แม้หลายคนอาจจะคิดว่าองค์กรตำรวจกำลังล่มสลาย ศรัทธาของประชาชนลดลง แต่ขอเสนอมุมมองให้เห็นความเป็นจริงบางอย่างว่า ตำรวจเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินมาร่วม 170 ปีแล้วก่อเกิดขึ้นครั้งแรกเป็น “กองโปลิศ” ในสมัยรัชกาลที่ 4 นายตำรวจผู้ใดสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ก็จะร้อนรนใจทนอยู่ไม่ได้และจะแพ้ภัยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางกระแสข่าวลบต่อสถาบันตำรวจ แต่ผลโพล พบว่า ตำรวจส่วนใหญ่ยังทำหน้าที่เป็น ตำรวจของประชาชน เพราะประชาชนยังคงพึงพอใจต่อการทำงานของตำรวจใน 5 อันดับแรก ได้แก่ การติดตามจับกุมคนร้าย การตรวจตราดูแลความปลอดภัยของประชาชนยามค่ำคืน การแก้ไขปัญหายาเสพติด การช่วยเหลือทุกเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน และการปราบปรามเว็บพนัน มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์ที่กำลังเห็นผลงานของตำรวจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตำรวจน้ำดีจะทนเห็นความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้จึงยังคงอดทนอดกลั้นกับกระแสข่าวลบต่อองค์กรตำรวจและกำลังมุ่งหน้ารุกฆาตจัดการกวาดล้างขบวนการมิจฉาชีพและขบวนการที่เป็นภัยคุกคามเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและความปกติสุขของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี