"ทวี"เผยแก้กฎหมาย กยศ.ช่วยผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ ได้รับเงินคืนรวมกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้กยศ.-สถาบันการเงิน หลั่งน้ำตาปีติได้ลดภาระหนี้ ภายในงาน"มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม"
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดโครงการ "มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม" และมอบนโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน โดยมี นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงยุติธรรม ร่วมให้การต้อนรับ
รมว.ยุติธรรม กล่าวระหว่างการเปิดงาน ว่า กระทรวงยุติธรรมรู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้นำความทุกข์ของประชาชนมาเปิดพื้นที่ให้เกิดการสมานฉันท์ ที่จะเป็นกระบวนการ "ยุติธรรมทางเลือก" กระทรวงยุติธรรมถือว่าหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำให้แก้วิกฤตอย่างน้อย 4 เรื่อง 1. การแก้ปัญหายาเสพติด 2.การขจัดผู้มีอิทธิพล การทุจริตคอร์รัปชั่น 3.การเอาขนะความยากจน และ 4.การทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาภาคบังคับเพื่อให้ "ความยุติธรรม" เกิดความเข้มแข็ง โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของสังคม
รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าประชาชนมีหนี้สินภาคครัวเรือนรวมจำนวนกว่า 16 ล้านล้านบาท ยังไม่นับรวมหนี้สินของสหกรณ์ ของข้าราชการอีกกว่า 2.8 ล้านล้านบาท ที่อาจถูกฟ้องบังคับล้มละลาย "หนี้ครัวเรือน" หรือหนี้สินเหล่านี้กำลังสร้างความทุกข์ให้กับประชาชน และยังทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจ ตนคิดว่าการแก้ปัญหาหนี้สินเหล่านี้ถือเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ และ โดยเฉพาะหนี้ กยศ.ที่มีการแก้ไขกฎหมาย จากเดิมให้ลูกหนี้ กยศ.จ่ายเบี้ยปรับ 18% เป็น 0.5 % รวมถึงการปรับความผิดทางแพ่ง ซึ่งในปี 2565 ปริมาณคดีที่เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล มีมากถึง 1.8 ล้านคดี ในจำนวนนี้เป็นคดีแพ่ง 1.4 ล้านคดี การแก้กฎหมายอาจลดจำนวนคดีจากหนี้สินครัวเรือน" นอกจากนี้ ไม่ให้ผู้ค้ำรับภาระหนี้ในกรณีลูกหนี้เสียชีวิต ซึ่งอาจมีผลให้ลูกหนี้บางรายที่ใช้หนี้อย่างต่อเนื่องได้รับเงินคืนรวมจำนวนกว่า 6,000 ล้านบาท
รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากหนี้ส่วนบุคคล หนี้การเช่าซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์ หนี้บัตรเครดิต ผมยังให้ความสำคัญกับ "หนี้ซื้อบ้าน" โดยวางเป้าหมายให้ประชาชนสามารถมีที่พักอาศัย หรือที่ดินแปลงสุดท้าย อันเป็นหนึ่งใน ปัจจัย 4 ของมนุษย์ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประขาขน แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง จึงขอฝากให้กรมบังคับคดี และหน่วยงานต่างๆ ขอกระทรวงยุติธรรมในการดูแลปัญหานี้ด้วย ซึ่งตนขอขอบคุณกรมบังคับคดี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหน่วยงานเครือข่ายสถาบันการเงินต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่เกิดเป็นผลดีต่อลูกหนี้โดยตรง รวมทั้ง่การแก้ไขปัญหาหนี้ภาพครัวเรือนอย่างยั่งยืน ทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลน้อยลง หากลูกหนี้ตกลงกับเจ้าหนี้ได้จะมีผลให้ไม่ถูกฟ้องคดี หรืองดการบังคับคดี ตลอดจนเกิดการถอนการยึดทรัพย์ ถอนการอายัดสิทธิ์เรียกร้องและถอนการบังคับคดี เป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการฟ้องร้องคดี และยังจะทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานครั้งนี้มีการเชิญลูกหนี้ พร้อมกับการเชิญฝ่ายเจ้าหนี้ อย่างกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และสถาบันการเงินต่างๆ เข้าร่วมอีก 16 แห่ง ได้แก่ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารกรุงไท, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท jmt network services จำกัด, บริษัท บริหารสินทรัพย์เจ จำกัด, บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด, บริษัท UOB capital services จำกัด, บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และบริษัทโตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น พร้อมการจัดกิจกรรมออกบูธนิทรรศการจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), สำนักงานกิจการยุติธรรม, กรมบังคับคดี, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, และหับเผย กรมราชทัณฑ์ รวมถึงการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและงานบริการให้ความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งกรมบังคับคดี ยังเตรียมจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และลูกหนี้ครัวเรือน อย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ โดยภายในงานจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาทางกฎหมายหรือการเงินของ 24 หน่วยงาน และการให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา โดยมีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน 13 สถาบัน ประกอบด้วย (1) ธนาคารกรุงไทย (KTB) (2) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) (3) บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK) (4) บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (JAM) (5) บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) (6) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) (7) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) (8) ธนาคารออมสิน (GSB) (9) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) (10) ธนาคารอิสลาม (ISBT) (11) โตโยต้า ลีสซิ่ง (12) ธนาคารไทยพาณิชย์ (13) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในการจัดงาน ได้มีลูกหนี้จำนวนหลายราย ต่างร่ำไห้ดีใจหลังการเจรจากับเจ้าหนี้ได้ลดภาระหนี้จำนวนมากได้สำเร็จ โดยบางรายเมื่อ พ.ต.อ.ทวี อยู่ร่วมเป็นพยานการเจรจา เมื่อได้ลดหนี้จำนวนมากสำเร็จ ก็ได้กล่าว ขอบคุณ "พ.ต.อ.ทวี" พร้อมทั้งหลั่งน้ำตาปิตียินดี
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี