“ชัชชาติ” ขอสภากทม.เพิ่มวงเงินโครงการป้องกัน-แก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เหตุรัฐไม่อุดหนุน 70:30 ต้องใช้งบกทม./ EIA หมดปี’67 นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอสภากรุงเทพมหานคร ขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานคร โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนกรุงเทพมหานครฯซึ่งโครงการดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอน EIA แล้ว รอขออนุมัติงบประมาณดำเนินการก่อสร้าง
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นชายฝั่งทะเลแห่งเดียวของกรุงเทพฯที่เขตบางขุนเทียนซึ่งมีการกัดเซาะเยอะ เรื่องนี้คล้ายคลึงกับโครงการสะพานเกียกกาย ที่เราคาดว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบฯ 70 : 30 แต่สุดท้ายแล้วในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลไม่ได้บรรจุเข้าไว้ในงบประมาณ ทำให้ต้องมาขอเพิ่มวงเงินงบประมาณ เพราะเป็นเรื่องสำคัญมีความจำเป็นในการดำเนินโครงการฯ แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลความยาว 4.7 กม. เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสียหายจากการกัดเซาะ ซึ่งโครงการมีเงื่อนเวลาของผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ที่จะหมดในปี’67 นี้ ถ้าเราสามารถหาตัวผู้รับจ้างได้ในปี’67 ก็ไม่ต้องทำ EIA ใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี ก็จะทำให้โครงการฯยาวออกไปอีก
หลักการตามที่สภากรุงเทพมหานครได้อนุมัติงบประมาณ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง และโครงการจ้างควบคุมงานก่อสร้างโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง แผนงานทรัพยการธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว งบประมาณสัดส่วนรัฐบาลต่อกรุงเทพมหานคร 70 : 30 ปัจจุบันไม่ได้รับงบฯและคาดว่ารัฐบาลจะไม่สนับสนุนงบฯในสัดส่วนดังกล่าว จึงขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานคร 1.โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง วงเงิน 1,718 ล้านบาท ระยะเวลา 720 วัน (2567-2569) และ 2.โครงการจ้างควบคุมงานก่อสร้างโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง วงเงิน 47.5 ล้านบาท ระยะเวลา 1,470 วัน (2567-2571) จากเดิมเป็นสัดส่วนงบประมาณรัฐบาลต่อกรุงเทพมหานคร 0 : 100
สำหรับโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนฯ ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลในเขตชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนและชุมชนเสาธง แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน มีความยาวชายฝั่ง 4.7 กม. ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ชายฝั่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะถอยร่นมามากกว่า 900 เมตร สาเหตุลักษณะชายฝั่งเป็นทะเลเปิดไม่มีสิ่งกำบังคลื่นลมแรงในช่วงฤดูมรสุม ป่าชายเลนเหลือน้อยและเสื่อมโทรมไม่เพียงพอที่จะยึดเกาะตะกอนและกันคลื่นได้ กทม.ได้ร่วมกับชุมชนแก้ปัญหาโดยการทิ้งหินบริเวณชายฝั่ง เสริมคันหินให้สูงและกว้างขึ้น แต่จะมีปัญหายุบตัวกันคลื่นไม่ได้ผล พร้อมทั้งได้ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น แต่ไม่ไผ่จะผุและหักเร็วต้องปักใหม่ทุก 2-3 ปี กทม.จึงได้วางแผนและศึกษาออกแบบโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนแบบถาวรและยั่งยืน
ผลการศึกษารูปแบบที่เหมาะสม จะเป็นคันหินยาว 200 ม. มีช่องว่างระหว่างคันหิน 50 ม. และมีคันหินยาว 50 ม. วางสลับฟันปลาด้านหน้าของช่องว่าง เพื่อให้มีตะกอนถับถม แนวคันหินจะวางขนานกับแนวฝั่งยาว 4.7 กม. โดยอยู่นอกเขตที่ดินและทรัพย์สินประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง เป็นจุดส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ความรู้การอนุรักษ์ป่าชายเลน และวิศวกรรมการป้องกันชายฝั่ง มีอาคารท่าเทียบเรือ อาคารชมวิวและบริการนักท่องเที่ยว และอาคารศูนย์สำรวจและป้องกันชายฝั่ง สามารถเข้าถึงได้ทั้งทางบกและทางทะเล
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากทม.เห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ ขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานคร โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการ
กัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนฯ รวม 18 คน มี สก. 15 คนและฝ่ายบริหาร 3 คน ให้พิจารณาภายใน 60 วัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี