ไข่ไก่ขึ้นราคา...เป็นแค่เรื่องชั่วคราว
อุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่า 44 องศาในหน้าร้อนของประเทศไทยปีนี้ นับว่าหนักหนาสาหัส ไม่ได้เพียงส่งผลกับผู้คนเท่านั้น แต่หมู หมา กา ไก่ สัตว์เลี้ยงทั้งหลาย รวมถึง พืช-ผัก ล้วนได้รับผลกระทบจากความร้อนนี้กันถ้วนทั่ว เมื่อแม่ไก่ร้อน เครียด กินแต่น้ำ ไม่กินอาหาร การผลิตไข่ก็ทำได้น้อยลง ขนาดฟองไข่ไก่ที่ออกมาก็เล็กลง เดือดร้อนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่มีของขายน้อยลง รายได้หดหาย สวนทางต้นทุนสารพัดที่ต้องแบกรับ ทั้งค่าอาหารไก่ ค่าน้ำ และค่าไฟฟ้า เป็นเหตุผลที่หากไม่ขยับราคาไข่ คนเลี้ยงคงต้องเจ๊งยับ ขาดใจตายก่อนไก่เป็นแน่ ล่าสุด วันที่ 29 เมษายน 2567 สหกรณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ จำเป็นต้องประกาศขยับราคาไข่คละขึ้น 20 สต./ฟอง เป็น 3.80 บาท/ฟอง
เรื่องนี้น่าเห็นใจ ขณะที่เราเป็นผู้บริโภค ยังสามารถเลี่ยงไปหาโปรตีนอื่นกินทดแทนได้ แต่คนเลี้ยงไก่ไข่ทำไม่ได้ การทำการเกษตรปศุสัตว์เป็นอาชีพของเขา จึงจำต้องสู้กับอากาศร้อน ประคับประคองให้ไก่เครียดน้อยลง เช่น เปิดพัดลมโรงเรือนให้เย็นขึ้น พรมน้ำทั่วหลังคาเพื่อลดอุณหภูมิ ด้วยความหวังว่าไก่จะยอมกินอาหาร จะได้ออกไข่มาให้นำไปขายได้
นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ให้ข้อมูลว่าอากาศร้อน-แล้งกระทบผลผลิตไข่ไก่หายไปจากระบบ ปกติมีไข่ออกมาวันละ 40 ล้านฟอง เหลือเพียงวันละ 35 ล้านฟองเท่านั้น หายไป 5-6 ล้านฟองต่อวัน นอกจากนี้ ไข่ที่ออกมายังมีขนาดเล็ก จากปกติที่ไข่เล็กเบอร์ 3-5 จะมีเพียง 30% แต่กลับกลายเป็นว่าในช่วงนี้ไข่ใบเล็กมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของผลผลิต ทำให้เกษตรกรขายไข่ได้ราคาลดลง และยังคงขาดทุนต่อเนื่อง เป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องขยับราคาไข่ขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่า ราคาไข่มีขึ้นมีลง ไม่ต้องซีเรียส
สอดคล้องกับ นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง ที่ระบุว่าอากาศร้อนทำให้เปอร์เซ็นต์ไข่ลดลง 10-15% ขณะที่ไข่ขนาดใหญ่ที่ขายได้ราคา ก็ลดปริมาณลง จึงต้องขยับราคาให้สมดุลเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้
ส่วนผู้ค้าคนกลางอย่าง นายสุธาศิน อมฤก นายกสมาคมผู้ค้าไข่ไทย ก็ยังเข้าใจคนเลี้ยงไก่ไข่ โดยระบุว่า คนเลี้ยงไก่ไข่มีจำนวนน้อยลงอยู่แล้ว เมื่อประกอบกับอากาศร้อนที่มาก ทำให้ผลผลิตไข่ลดลง นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าขนส่ง ค่าน้ำ ค่าไฟ ล้วนเป็นภาระต้นทุนของเกษตรกรทั้งสิ้น
ด้านภาครัฐ กรมการค้าภายใน ซึ่งกำกับดูแลให้เกษตรกร-ผู้ผลิตสินค้าขายสินค้าได้ไม่ขาดทุน และผู้บริโภค อยู่ได้ไม่เดือดร้อน ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบพบราคาไข่ไก่ยังอยู่ในโครงสร้างต้นทุนที่เหมาะสม แต่ช่วงนี้แม่ไก่ให้ผลผลิตน้อยลง และขนาดไข่เล็กลง ส่งผลกระทบรายได้เกษตรกร สวนทางต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าน้ำ-ค่าไฟ ขณะที่ไข่ฟองเล็กขายไม่ค่อยออก กรมจึงช่วยเหลิอนำไข่ฟองเล็กเข้าโครงการธงฟ้า ช่วยเกษตรกรระบายไข่ และช่วยผู้บริโภคลดค่าครองชีพไปพร้อมกัน
จะเห็นว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องล้วนกล่าวไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด และที่สำคัญ เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อสภาพอากาศดีขึ้น อุปสงค์-อุปทานของไข่ไก่ เข้าสู่ภาวะปกติ ราคาไข่จะลดลงเองเหมือนกับที่คอลัมนิสต์ดัง “แม่ลูกจันทร์” แห่ง นสพ.ไทยรัฐ ที่มองว่า “ไข่ไก่ขึ้นราคาเป็นเรื่องชั่วคราว”
อันที่จริง ไข่ไก่ก็ไม่ต่างจากมะนาว ที่มีราคาแพงช่วงหน้าร้อนและยังให้น้ำน้อยเสียอีก เผลอแพร้บเดียวราคามะนาวก็หล่นลงเมื่อหน้าฝนมาเยือน ...สรุปแล้วมันก็เป็นแค่วัฎจักรราคาสินค้าเกษตรที่มีขึ้น-มีลงเป็นธรรมดา
#อิสระ คงยินดี นักวิชาการอิสระ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี