‘เคาะประตูบ้าน’ไม่จุดไฟ ไม่เผาป่า เข้าเป้าตรง-ได้ผลชัด ลดเผาป่าลงถึง 38%
นโยบายการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เคาะประตูบ้านเกิดขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แนวทางในการป้องกันไฟป่าให้กับพี่น้องประชาชน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ พร้อมขอความร่วมมือในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน “ไม่จุดไฟ ไม่เผาป่า” เพื่อลดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เปิดเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทยเกิดจุดความร้อน หรือที่เรียกกันว่าฮอตสปอต (Hot Spot) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดการเผาไหม้หรือมีแนวโน้มจะเกิดการเผาไหม้ พื้นที่เหล่านี้มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 100,000 จุด และอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 38,000 จุด ซึ่งนับว่ามีอีกหลายพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิดไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินที่อยู่ใกล้เขตป่าอนุรักษ์ พื้นที่ทางภาคเหนือที่มีการเตรียมพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรม ทำให้เกิดการจุดไฟในพื้นที่เกษตรและลุกลามเข้าป่า
หากถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ชาวบ้านจุดไฟเผาป่า ผอ.สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า อธิบายว่า ใช้วิธีการเดินเข้าไปเคาะประตูบ้านเขาเลยครับ เพราะบางครั้งชาวบ้านไม่ได้ติดตามข่าวสารทางราชการหรือข่าวสารช่องทางอื่นๆ การเดินเข้าไปหาเขาโดยตรงถึงที่บ้านจึงเป็นวิธีที่ “ตรงจุด” เดินเข้าไปคุยกับเขาตอนเย็นหลังเลิกงาน ถามสารทุกข์สุกดิบกัน อธิบายว่า การจุดไฟเผาป่านั้นมีอันตรายอย่างไร จึงนับเป็นวิธีการที่ได้ผลมาก
“มีการเน้นย้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะเป็นพื้นที่ที่เกิดไฟป่าสูงสุดของประเทศ ชาวบ้านมักคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว คุณก็เผาส่วนที่เหลือ หรือทุกคนก็ทำแบบนี้ และเราก็ทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว เราจึงต้องเข้าไปคุย ไปขอกันตรงๆว่า ขอให้หยุดการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรในหลายจุด เพราะหากจุดไฟเผาแล้วจะไม่สามารถป้องกันการลุกลามได้ เนื่องจากสภาพอากาศมีความร้อนสูง ทำให้เกิดการลุกลามเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ง่าย”
อาทิเช่น อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุทยานที่ได้มีการรณรงค์ตามแนวทางการแก้ไขของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในเรื่องของโยบายเคาะประตูบ้าน ที่มีมานานแล้วและยังทำต่อเนื่อง เป้าหมาย คือ ชุมชนที่อยู่ใกล้ป่าหรือชุมชนที่มีพื้นที่เกษตรกรรมใกล้ป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลแม่พุง และตำบลแม่เกิ่ง ที่อยู่ติดกับแนวเขตอุทยาน ซึ่งได้ผลดีระดับหนึ่ง และปีนี้เกิดความแห้งแล้งมาก ทำให้โอกาสที่จะจุดไฟเผาแล้วลุกลามสูงตามไปด้วย
ช่วงฤดูร้อนปีนี้ยิ่งต้องเฝ้าระวังที่สุด หากมีข่าวว่าพายุจะเข้าชาวบ้านมักคิดว่า เดี๋ยวฝนก็ตกเขาจะเริ่มเผาพื้นที่เกษตรเพราะคิดว่าฝนตกจะช่วยดับไฟได้เอง เป็นการเผาโดยไร้การควบคุม แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ฯเข้าไปคุยพบว่า ชาวบ้านเกิดความเข้าใจมากขึ้น และไม่จุดไฟเผาเพิ่ม วิธีการเคาะประตูบ้าน จึงนับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และลดการลักลอบเผาป่าได้
สถิติปีนี้ (2567) เทียบกับปีที่แล้ว (2566) มีการจุดไฟเผาป่าลดลงถึง 38% แสดงว่านโยบายเคาะประตูบ้านเกิดความสำเร็จ
“เราใช้นโยบายเคาะประตูบ้านในหลายพื้นที่ ปีนี้เจ้าหน้าที่ฯ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เคาะประตูบ้านโดยตรง และยังคงทำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีเจ้าหน้าที่ฯเพิ่มขึ้นยังได้พยายามทำเพิ่มขึ้นในอีกหลายๆพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการจุดไฟเผาป่า
“ผมเข้าใจชาวบ้านว่าเผาเพื่อลดต้นทุนการเกษตร แต่วันนี้ต้องคุยว่าเผายังไงไม่ให้ลามเข้าป่า พอคุยแล้วชาวบ้านตอบรับดีมาก การเผาก็ลดลง และนโยบายเคาะประตูบ้านนี้ยังคงมีต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ สองพื้นที่นี้ต้องทำอย่างเข้มข้น และยังคงให้นโยบายเคาะประตูบ้าน ไม่จุดไฟไม่เผาป่า ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป” นายนฤพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี