เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ได้นำรถบรรทุกดัดแปลงใส่ถังน้ำ ไปสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ ขนน้ำมารดใส่ต้นอ้อย เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่อ้อย หลังมีอ้อยที่ปลูกไว้บางส่วน เริ่มเหี่ยวเฉาและยืนต้นตายไปบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้อ้อยที่ปลูกไว้สามารถยืนต้นสู้ กับสภาพอากาศที่ร้อนจัดอยู่ในขณะนี้
5 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ภัยแล้ง และสภาพอากาศที่กำลังร้อนจัดอยู่ในขณะนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยในภาคการเกษตร ล่าสุดพบว่า อ้อยที่ถือว่าเป็นพืชทนแล้ง ที่เกษตรกรในในหลายพื้นที่ของ จ.บุรีรัมย์ เริ่มได้รับผลกระทบแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งพบว่ามีอ้อยในหลายแปลง ขาดน้ำ ทำให้ต้นเหี่ยวเฉา และกำลังจะยืนต้นตาย เนื่องจากขาดน้ำมาหลายสัปดาห์ รวมถึงมีบางแปลงก็ได้เริ่มยืนต้นตายไปบ้างแล้ว
ทำให้เกษตรกรต้องหาวิธีการช่วยเหลือตัวเอง เพื่อไม่ให้อ้อยที่ปลูกไว้ตายลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขาดทุนตามมาในภายหลัง โดยเกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ก็จะนำเครื่องสูบน้ำ มาทำการสูบผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆใส่แปลงอ้อย ในขณะที่เกษตรกรที่มีแปลงไร่อ้อยอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ก็ต้องนำรถบรรทุกมาดัดแปลงใส่ถังน้ำขนาดใหญ่ไว้ที่หลังรถ แล้วไปสูบน้ำใส่ถังน้ำก่อนจะขนลำเลียงมารดใส่แปลงไร่อ้อย เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่อ้อย และให้อ้อยสามารถแทงหน่อขึ้นมาเจริญเติบโต สู้กับสภาพอากาศร้อนและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้
นายประเสริฐ ลุนโน อายุ 61 ปี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ ต.ห้วยหิน อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ตนปลูกอ้อยมานานกว่า 10 ปี แล้ว โดยในปีนี้ได้ปลูกอ้อยไว้จำนวนกว่า 100 ไร่ แต่ในหน้าแล้งของปีนี้ กลับพบว่าแล้งหนักกว่าทุกปี รวมถึงสภาพอากาศก็ร้อนจัด และร้อนอย่างต่อเนื่องด้วย ทำให้ไร่อ้อย อายุเพียง 1-2 เดือน ที่ปลูกไว้และกำลังแทงหน่อเจริญเติบโต รวมถึงต้นอ้อยที่ยืนต้นบางส่วน ได้เริ่มเหี่ยวเฉาและทยอยตายลงเรื่อยๆ จากการขาดน้ำ
ตนจึงได้ลงทุนซื้อทั้งถังบรรจุน้ำขนาด 7,000 ลิตร ใส่กระรถบรรทุก 6 ล้อ ไปสูบเอาน้ำจากสระน้ำสาธารณะของหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง แล้วขนน้ำมาปล่อยใส่ในแปลงไร่อ้อยของตนเองวันละ 4 รอบ เพื่อมาทำเป็นระบบน้ำหยด รดใส่แปลงไร่อ้อยให้ความชุ่มชื้น เพื่อที่ต้นอ้อยสามารถแทงหน่อ และยืนต้นเจริญเติบโตสู้กับภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุน ในการเพาะปลูกก็ตาม ก็ต้องจำเป็นต้องทำเพราะเป็นอาชีพและรายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งยังดีกว่าปล่อยให้อ้อยตาย แล้วต้องเสียเงินทุนซื้อต้นพันธุ์อ้อย มาปลูกซ่อมแซมต้นอ้อยที่ตายไป
นายประเสริฐ บอกด้วยว่าได้มีเกษตรกรหลายราย ที่ได้นำรถมาดัดแปลงบรรทุกน้ำไปรดแปลงไร่อ้อยเหมือนอย่างตนเอง เนื่องจากเกรงว่าหากปล่อยไว้จะทำให้อ้อยที่กำลังแทงหน่อออกมาแห้งตายได้ ซึ่งจะต้องทำให้อ้อยลงทุนปลูกไว้เกิดความเสียหายและขาดทุนได้
ทั้งนี้ สำหรับ จ.บุรีรัมย์ มีพื้นที่การเพาะปลูกอ้อยมากถึง 184,775 ไร่ โดยในพื้นที่ อ.หนองหงส์ มีพื้นที่การปลูกอ้อย จำนวน 32,373 ไร่ โดยมีพื้นที่การเพาะปลูกอ้อยมากเป็นลำดับ 2 ของ จ.บุรีรัมย์ รองจาก อ.หนองกี่ 33,016 ไร่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี