พยุงราคาหวังช่วยเกษตรกร ‘พ่อค้า’ฉวยโอกาสยัดไส้ข้าวโพดเมียนมาฟันกำไร
เห็นข่าวพ่อค้าเรียกร้องให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดทุกเมล็ด รวมข้าวโพดที่รุกป่าและเผาแปลงด้วย สะท้อนความไม่เข้าใจสิ่งที่โลกต้องการ เมินเฉยต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม แบบนี้จะพากันพังกันทั้งระบบ เพราะโลกไม่มีที่ยืนให้ข้าวโพดรุกป่าและเผาตอซังอีกแล้ว ซ้ำยังให้ข้อมูลบิดเบือนราคาขายหน้าโรงงานว่าข้าวโพดที่นำเข้าจากเมียนมานั้น มีราคาต่ำกว่า 9 บาท/กก. ทั้งที่จริงๆ แล้วขายได้สูงกว่า 10 บาท/กก. มาตั้งแต่ พ.ย.2566 ซึ่งเป็นความร่วมมือในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก“เกษตรกรไทย” ในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566
อันที่จริงการเรียกร้องให้รับซื้อข้าวโพดเมียนมาในราคาเท่ากับข้าวโพดไทย เท่ากับให้คนไทยพยุงราคาช่วยเกษตรกรเมียนมาด้วยซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สมควรจะเป็น แต่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถแยกเมล็ดไทยกับเมียนมาออกจากกันได้ ทำให้กลุ่มพ่อค้าสามารถ “ยัดไส้” ข้าวโพดเมียนมาให้เป็นข้าวโพดไทยได้ (แม้ในช่วงที่ไม่อนุญาตนำเข้า) ซึ่งไม่เป็นธรรมกับคนไทย ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ของไทยที่ต้องแบกภาระช่วยเกษตรกรเมียนมา ขณะที่ต้องเสียส่วนต่างกำไรให้เข้ากระเป๋า “พ่อค้าพืชไร่” เรื่อยมา
ปัจจุบันภาครัฐมีการกำกับดูแลการนำเข้าข้าวโพดอยู่แล้วในระดับหนึ่ง มีการจำกัดระยะเวลานำเข้าได้เพียง 8 เดือน (1 ก.พ.- 31 ส.ค.) และผู้นำเข้าต้องแจ้งขอผ่านกรมปศุสัตว์ก่อน ตัวเลขการนำเข้าและมูลค่านำเข้าข้าวโพดในเดือน ก.พ.-มี.ค.2567 พบว่าไทยมีการนำเข้าจากเพื่อนบ้านรวมจำนวน 595,098 ตัน ในราคากก.ละ 9.50 บาท นำมาขายให้โรงงานอาหารสัตว์ ในราคาสูงกว่า 10 บาท/กก.ดังกล่าวข้างต้น
เหตุปะทะรุนแรงตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งเมียวดี ส่งผลผู้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาเปลี่ยนเส้นทางจากด่านแม่สอด ไปนำเข้าทางด่านระนอง-ด่านแม่สายแทน รวมถึงเปลี่ยนวิธีขนส่งเป็นการขนส่งทางเรือทั้งหมด ลดปัญหาการลักลอบนำเข้าตามเส้นทางธรรมชาติไปได้มาก แต่หากสงครามยุติ การลักลอบก็อาจกลับมาเกิดขึ้นได้อีก ทางที่ดีที่สุดคือการเร่ง “ขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า” เพื่อการตรวจสอบและแยกแยะข้าวโพดนำเข้าออกจากข้าวโพดไทยให้ชัดเจน แก้ปัญหาการ “ยัดไส้” กินส่วนต่าง ขณะที่โรงงานอาหารสัตว์ทุกแห่งกล่าวตรงกันว่า “ยินดีที่จะช่วยเหลือเกษตรกรไทย ไม่ใช่เกษตรกรจากเมียนมา หรือกลุ่มคนบางกลุ่ม เพราะภาระต้นทุนส่วนนี้จะตกไปอยู่กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และผู้บริโภคไทย”
#ทำไมจึงไม่อยากมีส่วนร่วมพัฒนาเกษตรกรไทย?
การเรียกร้องของพ่อค้าพืชไร่ก่อเกิดคำถามมากมายว่า เหตุใดคนกลุ่มนี้จึงไม่ต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดไทยให้ยุติการเผาตอซังและลดคาร์บอน เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นหลัง รวมถึงตอบโจทย์การค้าตามทิศทาง EU Green Deal ที่ประเทศคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรปต้องการ เหตุใดจึงเรียกร้องแต่ราคา ราคา ราคา โดยไม่เห็นแก่อนาคตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดของไทยเลยแม้แต่น้อย อย่าลืมว่าโลกไม่มีที่ยืนให้วัตถุดิบที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่กฎหมาย EU บังคับใช้ พืชผลของไทยที่ไม่สามารถแสดงการปล่อยคาร์บอนได้อย่างเหมาะสมจะไม่มีใครรับซื้ออีกต่อไป
ขณะที่วันนี้หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร มกอช. ฯลฯ รวมถึงภาคเอกชน เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กำลังร่วมกันวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนา GAP (Good Agriculture Practice) เพื่อเกษตรกรไทย รวมถึงการนำโมเดล Corn Traceability ที่ประสบความสำเร็จแล้วมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา นอกจากนี้ ยังประสานความร่วมมือกับผู้รับซื้อในประเทศเพื่อนบ้านให้ร่วมกันลดมลพิษที่เกิดจากการเผาแปลงเกษตร แก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน เห็นความพยายามของทุกภาคส่วนเช่นนี้แล้ว ยังสงสัยอยู่ว่าจะสะกิดต่อมสำนึกของคนบางกลุ่มได้บ้างหรือไม่
ยืนยันอีกครั้งว่าต่อไปแวดวงอุตสาหกรรมนี้จะไม่มีการคุยเรื่องราคาจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าข้าวโพดที่นำมาขายนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
#ดำรง พงษ์ธรรม นักวิชาการอิสระ
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี