“สิริพงศ์”มั่นใจวิชาลูกเสือยังทันสมัยและสากลยอมรับ ดันปลี่ยนแปลงการเรียนรู้กิจกรรมลูกเสือให้เชื่อมต่อกับนโยบาย“เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา”และ“เรียนดี มีความสุข”
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการด้านลูกเสือ ประจำปี 2567 “งานลูกเสือเพื่อลูกเสือและสังคม” (Scout for Scouts and Community) ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเลือแห่งชาติ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมคณะผู้บริหาร และสมาชิกลูกเสือเข้าร่วมงานการประชุมฯ
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนให้เกิดขึ้น โดยอาศัยกระบวนการลูกเสือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ผ่านนโยบายการขับเคลื่อนกิจกรรมลูกเสือของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” และ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อปลูกฝังและสร้างเจตคติที่ดี ให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีระเบียบวินัย มีความรัก ความสามัคคี รู้จักเสียสละ และบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมวิชาการด้านลูกเสือในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการทางด้านลูกเสือซึ่งจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ และต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมทางด้านลูกเสือที่จะช่วยให้กระบวนการลูกเสือเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมในยุคปัจจุบันนี้ และเด็กๆ ตั้งคำถามกับวิชาลูกเสือมาก ว่าสิ่งที่เราทำการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นมีความทันสมัยหรือไม่ ใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ผมได้หารือกับท่านวรัท และได้รองนำวิชาลูกเสือ 76 วิชามาดูและรู้สึกว่าสังคมยังไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้ แต่ความจริงวิชาลูกเสือดีอยู่แล้ว และมีหลายวิชาที่มีความทันสมัย เป็นวิชาที่อยู่ร่วมกับยุคสมัย อย่างเช่น วิชาลูกเสือดนตรี วิชาลูกเสือการพูดในที่สาธารณะชน วิชาลูกเสือนักแสดง สิ่งที่ผมได้เห็นก็คือวิชาการเหล่านี้ เป็นวิชาที่มีมาก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราขาดก็คือ 1.ขาดการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น 2.ขาดการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ ก็หวังว่าสิ่งที่ท่านนำเสนอในวันนี้จะมาช่วยกระบวนการเรียนรู้ลูกเสือได้ วิชาใดที่สมควรจะปรับเปลี่ยน ปรับปรุง รูปแบบการนำเสนอการเรียรการสอนให้เข้ากับยุคสมัย วันนี้เราถูกตั้งคำถามว่า การเรียนลูกเสือนั้น เป็นการสร้างภาระมากเกินไปสำหรับผู้ปกครองและเด็กๆ ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ แต่ผมเชื่อว่าเราได้รับฟังปัญหามามากพอสมควร และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ก็ตระหนักถึง
เรื่องนี้มากพอสมควร ผมเข้าใจว่าในวันนี้ เราตกผลึกกันแล้วว่าเราจะมีการดำเนินกิจการลูกเสืออย่างไรให้ผู้เรียนเกิดความสุขและให้บวนการเรียนรู้ลูกเสือนั้นสามามรถดำเนินการเรียนการสอนไปได้โดยไม่มีอุปสรรค วันนี้กระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังยืนยันว่า วิชาลูกเสือนั้นมีความจำเป็นและการเรียนลูกเสือไม่ใช่เรื่องล้าสมัย เพราะการเรียนลูกเสือเป็นขบวนการเรียนรู้ที่มีทั่วโลก หลายต่อหลายครั้งท่านได้มีการไปร่วมชุมชุมลูกเสือโลก ก็จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่สากลยอมรับ แต่ขบวนการเรียนรู้ที่จะต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยก็ยังคงมีความสำคัญ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการนำเสนอผลงานของลูกเสือในวันนี้ จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ในกิจกรรมลูกเสือและจะสามารถเชื่อมต่อกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) และ “เรียนดี มีความสุข”
ด้าน นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า โครงการการประชุมวิชาการด้านลูกเสือ ประจำปี 2567 “งานลูกเสือเพื่อลูกเสือและสังคม” (Scout for Scouts and Community) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 15 - 16 พ.ค.2567 ณ หอประชุมคุรุสภา เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการ และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ Best practice ทางด้านลูกเสือ กระตุ้นให้เกิดการสร้างผลงานวิจัยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางด้านลูกเสือ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายการวิจัยงานวิชาการด้านกิจกรรมลูกเสือ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียน ให้เกิดทักษะและสมรรถนะ ที่มีความสมดุลทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ และสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามนโยบายการศึกษา “เรียนดีมีความสุข” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ การดำเนินงานครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรทางการลูกเสือ ส่งผลงานเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น 93 ผลงาน ประกอบด้วย ผลงานวิจัย จำนวน 16 ผลงาน ผลงานทางวิชาการอื่น จำนวน 22 ผลงาน และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ จำนวน 55 ผลงาน ได้กำหนดให้มีการเสวนาทางวิชาการ โดยผู้แทนจากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ร่วมเสวนากับผู้แทนของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ลูกเสือ และเนตรนารี ในหัวข้อ เยาวชนกับงานลูกเสือ
และหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนาทางวิชาการ จะเป็นการนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านลูกเสือ ภาคบรรยาย จำนวน 9 ผลงาน จากนั้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 จะเป็นการนำเสนอผลงานภาคโปสเตอร์ ในรูปแบบ Onsite ณ หอประชุมคุรุสภา และ Online ผ่านโปรแกรม ZOOM และพิธีมอบรางวัล
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี