ทุกๆ เทศกาล “วันหยุดยาว” ของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวันตรุษจีนหรือวันชาติจีนของประเทศจีนวันขอบคุณพระเจ้าในสหรัฐอเมริกา หรือจะเป็นช่วง “ปีใหม่-สงกรานต์” ของประเทศไทยเรา หนึ่งในภาพที่เห็นจนชินตาคือ “การเดินทางกลับภูมิลำเนา” ของประชากรวัยทำงานเพื่อกลับไปใช้เวลาอยู่กับ “ครอบครัว” ซึ่งหมายความรวมทั้งพ่อแม่ผู้แก่ชรา และเด็กน้อยที่ลืมตาดูโลกและกำลังเติบโต ก่อนที่เมื่อวันหยุดหมดลง ประชากรวัยแรงงานเหล่านั้นก็จะต้องเดินทางกลับไปสู้ชีวิตในเมืองใหญ่ทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว
ภาพเหล่านี้ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายสิบปีตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผลักดันให้ผู้คนแสวงหางานและรายได้ที่สามารถยกระดับฐานะของตนเองตลอดจนสมาชิกในครอบครัว จนกลายเป็น “วิถีปกติ” ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามว่า “ภายใต้รายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้น..ในอีกด้านหนึ่งมีอะไรต้องสูญเสียไปบ้าง?” ซึ่งหนึ่ง
ในนั้นก็คือ “พัฒนาการของเด็ก” ที่พบว่า “เด็กที่อยู่ห่างพ่อแม่” มีแนวโน้ม “ความเสี่ยง” มากกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่พร้อมหน้า
“9 พ.ค. 2567” เกือบ 1 เดือน หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ แต่ก็ใกล้ถึงวันที่โรงเรียนจะเปิดเทอม (ซึ่งช่วงนี้ก็จะมีข่าวพ่อแม่พยายามเร่งหาเงินส่งไปให้ลูกในภูมิลำเนาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษา) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยัง สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ ม.มหิดล (วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม) เพื่อพูดคุยกับ รศ.ดร.อารี จำปากลายหนึ่งในนักวิชาการที่ให้ความสนใจประเด็นนี้
l อยากให้อาจารย์ปูพื้นก่อนว่าครอบครัวไทยทุกวันนี้ต่างจากในอดีตอย่างไรบ้าง? : ประเภทของครอบครัว ก็จะมี 6 ประเภท คือ 1.ครัวเรือนอยู่คนเดียว 2.ครัวเรือนสามีภรรยาเท่านั้น 3.ครัวเรือนพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว 4.ครัวเรือนแบบพ่อ-แม่-ลูก 5.ครัวเรือนสามรุ่น หรือครอบครัวขยายที่มีหลายรุ่น คือมีปู่ย่าตายาย พ่อแม่และลูก และ 6.ครัวเรือนข้ามรุ่น หรือที่บอกว่าเป็นครอบครัวแหว่งกลาง ซึ่งตัวเองชอบเรียกครอบครัวข้ามรุ่นมากกว่า
l อาจารย์พอจะมีข้อมูลหรือไม่ว่า ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวข้ามรุ่นมาก-น้อยเพียงใด? : ถ้าพูดถึงตัวเลขก็พอจะมีอยู่เหมือนกัน ปีล่าสุดที่สถาบันฯ พอจะมีสมมุติว่ามี 100 ครัวเรือน มีครอบครัวข้ามรุ่นสักกี่ครัวเรือนปี 2561 ล่าสุดที่เรามี 2.1% ของครัวเรือนเป็นครัวเรือนข้ามรุ่น ซึ่งถ้าครัวเรือนมีสัก 20 ล้านครัวเรือน จริงๆ เกือบจะ 25 ล้านครัวเรือน ก็ประมาณสัก 4.5 แสน มันก็เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่จริงๆ สำหรับตัวเองประเด็นไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่ว่ามันมี Implication(นัยสำคัญ) อย่างไรกับสังคม
l คำว่า “ครอบครัวข้ามรุ่น” กับ “ครอบครัวแหว่งกลาง” ต่างกันอย่างไร? เหตุใดในมุมของอาจารย์ถึงอยากใช้คำว่าครอบครัวข้ามรุ่นมากกว่า? : คำว่าแหว่งกลางมันเหมือนขาดๆ หายๆ ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่ไม่ดีเสมอไป คำว่าแหว่งมันดู Negative (เชิงลบ) ก็เลยชอบเรียกครอบครัวข้ามรุ่น ก็คือข้ามไปรุ่นหนึ่ง ข้ามรุ่นพ่อแม่ไป คือเราไม่ชอบใช้คำที่มันสื่อไปทางใดทางหนึ่ง นักวิจัยเราพูดกันด้วยข้อมูล พูดกันด้วยหลักฐานการวิจัยโดยไม่ต้องการชี้ว่าอันนี้มันไม่ดีนะ คือไม่ใช่ว่ามองไม่เห็นปัญหา เพียงแต่ว่าเวลาเราบอกว่าครอบครัวข้ามรุ่นมันมีอะไรที่ต้องระมัดระวัง
บางทีนักวิจัยเขาทำวิจัยเขาก็ต้องมีการเปรียบเทียบ ว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวข้ามรุ่นกับเด็กที่อยู่ในครอบครัวปกติ (อยู่กับพ่อแม่) แบบนี้มันมีมุมไหนมุมหนึ่งที่ต้องระวัง คือมันมีบางมุมที่ต้องระวัง อย่างเช่นที่ไปอ่านมา ไปรีวิวมา จะมีปัญหาพฤติกรรมบ้างอะไรแบบนี้ แต่เราจะบอกว่าดีหรือไม่ดีก็ต้องเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่เขาอยู่กับพ่อแม่ด้วย บางงานวิจัยมันก็ไม่ได้เจอว่าแตกต่างกันนะ อยู่กับพ่อแม่ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่บางงานวิจัยก็อาจจะเจอว่ามีความต่าง หรือถ้าไปดูเรื่องอื่นที่ไม่ใช่พัฒนาการ ไม่ใช่พฤติกรรม เรื่องความสุขอะไรอย่างนี้บางทีเขาก็ไม่ได้เจอว่ามีความแตกต่างกัน ก็เลยไม่อยากพูดเหมือนเชิงตีตราว่าถ้าเป็นครอบครัวแบบนี้แล้วจะมีปัญหา
l แบบนี้ที่พูดกันเยอะเรื่อง “ช่องว่างระหว่างวัย (Gap Generation)” เป็นปัญหาของครอบครัวข้ามรุ่น จริงๆ แล้วก็ไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป? : ใช่! มันก็ไม่ได้เสมอไป อย่างที่ว่าเอาข้อมูลมาพูดกัน แล้วงานวิจัยบางทีก็ทำกันที่ใดที่หนึ่ง แต่เราจะไปเหมารวมว่ามันจะเป็นแบบนี้ทั้งหมดไม่ได้ แต่ว่างานของตัวเองมี เรื่องผลกระทบในทางที่ต้องระมัดระวัง มีความเสี่ยง มีหลักฐานอยู่
คืองานวิจัยของตัวเองเป็นพื้นที่ในภาคอีสาน ยังไม่เคยไปทำในภาคใต้ หรือไม่เคยทำทั้งประเทศ งานวิจัยจะเป็นแบบนี้ ถ้าเราต้องการตัวเลขสักกี่เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนเป็นแบบนี้ ก็ต้องไปดูภาพที่เขาเก็บข้อมูลทั้งประเทศ อย่างเช่นงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NSO) งานของยูนิเซฟ เราบอกได้ว่าทั้งประเทศประมาณเท่าไร ซึ่งตัวเองจะสนใจไม่ใช่เชิงครอบครัวข้ามรุ่น แต่สนใจเรื่องเด็กที่ได้อยู่และไม่ได้อยู่กับพ่อแม่
อย่างงานที่ NSO เขาเก็บโดยที่ยูนิเซฟสนับสนุน มีข้อมูลเยอะเลย จะบอกว่ามีเด็กอายุ 0-17 ปี ถึง 23% ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ คือพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่แต่เขาไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ คือโตขึ้นมาโดยที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ เยอะไหม? เยอะนะ เกือบ 1 ใน 4 คือใน 4 คน เด็ก 1 คนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ที่บอกเยอะเพราะเราเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ข้างบ้านด้วยว่าเขาไม่ได้มีเยอะขนาดของเรา
l เด็กที่ “ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่” ต่างจากครอบครัวข้ามรุ่นอย่างไร? ทำไมอาจารย์ใช้คำนี้? : ส่วนหนึ่งพ่อแม่ไม่อยู่ แต่ไม่ใช่พ่อแม่เสียชีวิต พ่อแม่ไปทำงานที่อื่น
ส่วนหนึ่งอาจเป็นพ่อแม่หย่าร้างกัน เลิกกัน แต่บางทีครอบครัวไม่ได้มีแต่ปู่ย่าตายาย แต่มีลุงป้าน้าอาอยู่ด้วย (อายุไล่เลี่ยหรือรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่) เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าข้ามรุ่นเสียทีเดียวก็ไม่ได้
l มีความแตกต่างอย่างไร? ระหว่างเด็กที่อยู่และไม่อยู่กับพ่อแม่ : เอางานที่ตัวเองทำนะ ก็คือจะมีมุมหนึ่งที่เราทำ จริงๆ เราก็สนใจเพราะว่าดูข้อมูลจากของยูนิเซฟ เออ! มันเยอะขนาดนี้ ก็ดึงมาเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานจังหวัดหนึ่ง แล้วก็ภาคเหนืออีกจังหวัดหนึ่ง แล้วก็มาเปรียบเทียบ เราสนใจเฉพาะเด็กเล็กนะตอนนั้น ก็คือเด็กอายุแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กก่อนวัยเรียน อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งนะ อยู่ที่ว่าเด็กรุ่นไหนอีกที่เราไปดู อย่างของตัวเองที่ดูก็คือ 0-3 ปี แล้วดูประเด็นไหน? เด็กเล็กก็จะดูได้ไม่มากหรอก ก็ดูพัฒนาการ
ก็คือใช้เครื่องมือที่เป็นมาตรฐาน ที่ทั่วโลกใช้ไม่ใช่เฉพาะที่ไทย คือเครื่องมือ Denver ให้ผู้เชี่ยวชาญไปวัดว่าเด็กมีพัฒนาการปกติหรือช้ากว่าปกติ ที่น่าสนใจคือเราพบว่า “เด็กที่มีแม่อยู่ด้วยในบ้าน เปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่มีแม่อยู่ด้วยในบ้าน คือแม่ไปทำงานที่อื่นเด็กที่แม่ไปทำงานที่อื่นจะมีพัฒนาการช้ากว่า” ก็คือถ้าพ่อไม่อยู่แต่แม่อยู่ในบ้านไม่เป็นไรนะ พัฒนาการจะช้าจะเร็วไม่แตกต่างกัน
อันนี้เป็นการวิเคราะห์ทางสถิติด้วย ไม่ใช่ดูแค่ตัวเลขเฉยๆ แต่ดูว่ามันสูงกว่า คือ “ถ้าเด็กที่แม่ไม่อยู่โอกาสที่เขาจะมีพัฒนาการช้านี่ประมาณ 2 เท่า เปรียบเทียบกับเด็กที่มีแม่อยู่ด้วยในบ้าน” แต่ถ้าแม่อยู่พ่อไม่อยู่ ไม่เป็นไร ไม่แตกต่างกัน อันนี้ก็ต้องกลับไปดูทฤษฎีต่างๆ เขาก็มีเรื่องอธิบายเหมือนกันว่าจริงๆ เด็กที่โตขึ้นมาโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ก่อนวัยเรียนอะไรอย่างนี้ เหมือนเขาต้องการคนที่ดูแลเขาเป็นหลักที่เขาพึ่งพาได้ทั้งด้านร่างกายและจิตใจเป็นตัวอย่างที่ทำให้เขาสามารถอยู่ในโลกได้ มีความกล้าหาญอะไรอย่างนี้
ก็คือต้องการแค่คนคนเดียวที่เป็นหลัก ไม่ต้องการมากเลย ทั้งๆ ที่บางทีทฤษฎีครอบครัวว่าเด็กถ้ามีโอกาสเจอคนหลากหลายมากก็จะมีพัฒนาการดี มันก็จริงนะ แต่ว่าคนที่เด็กเขาต้องการเป็นหลักเขาต้องการอย่างน้อย 1 คน แล้วคนคนนั้นที่ดีที่สุดก็ควรเป็นแม่ด้วย อันนี้ก็คือทางทฤษฎี แล้วก็มันมีงานวิจัยขึ้นมารองรับพอดี มันสอดคล้องกับสิ่งที่ทฤษฎีบอก คือพ่อมีความสำคัญมากก็จริง แต่เหมือนกับเป็นลักษณะรองจากแม่ เป็นลักษณะของการมีบทบาทช่วยเหลือแม่ทางด้านโน้นด้านนี้เท่านั้นเองในการเลี้ยงลูกแต่ขาดแม่เป็นหลักแล้วจะมีผลกระทบกับเด็ก
l ก็เหมือนกับที่คำโบราณเขาว่า “ขาดพ่อเหมือนถ่อหัก..แต่ขาดแม่เหมือนแพแตก” อย่างนั้นหรือ? : ใช่! จริงๆ เราก็ไม่ได้อยากจะเชื่ออะไรแบบนั้นเสมอไป เพราะเรารู้ว่าเด็กยุคนี้-ครอบครัวยุคนี้ มันไม่สามารถที่จะเป็นพ่อแม่อยู่พร้อมหน้ากันได้ 100% แต่งานวิจัยออกมาแบบนั้น คือข้อมูลมันไม่โกหก ก็ต้องว่ากันแบบนี้ อันหนึ่งที่เขาคิดว่าเป็นไปได้ก็คือว่า เขาบอกว่าถ้ามีแม่อยู่แม่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก หรือให้เวลาในการทำกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นมากกว่าถ้าไม่มีแม่อยู่ด้วยในครัวเรือน
อย่างเช่นอ่านหนังสือ-ร้องเพลงกับเด็ก ข้อมูลบอกว่าถ้ามีแม่อยู่ด้วยในครัวเรือนจะมีการทำกิจกรรมแบบนี้กับเด็กมากกว่าถ้าไม่มีแม่อยู่ด้วย ซึ่งบางทีเราก็มองว่า อ้าว! ถ้ามีปู่ย่าตายายอยู่เขาก็ทำได้ แต่เขาทำได้ไม่เท่ากัน อันนี้ก็คือข้อมูลบอกมา ก็ทำได้ไม่เหมือนกับที่แม่ทำ
l แบบนี้ไม่เท่ากับว่าเด็กยุคนี้ขาดโอกาสมากกว่าเด็กยุคก่อนหรือ? : พ่อแม่ไปทำงานที่อื่นมานานแล้วนะ ไม่ใช่เพิ่งจะมาเป็น แล้วมันเป็นเหมือนกับวงจร คือ พ่อแม่
ยุคนี้ที่ว่าเขาทำงานที่อื่นแล้วก็ให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายายคนรุ่นก่อนตอนเขาเป็นเด็กพ่อแม่ก็ไปทำงานที่อื่นเหมือนกันแล้วเขาก็อยู่กับปู่ย่าตายายเหมือนกัน มันก็เยอะแบบนั้นเพราะฉะนั้น มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งจะมาเกิดขึ้นมันเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว
เราเห็นตัวเลขที่ทำมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งตัวเลขมันก็ไมได้เปลี่ยนแปลงไป ก็อยู่ประมาณนี้ ประมาณ 1 ใน 4ก็ 23-25% ที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มันเหมือนกับว่า“สิ่งที่ตัวเองกลัวก็คือว่าสังคมมันทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ (Normalize) ไป” กลายเป็นว่าใครๆ ก็เป็น หลายๆ คนก็เป็น ในหมู่บ้านก็เป็นทั้งนั้น มันก็เลยเหมือนไม่ให้ความสำคัญ แต่ว่าจริงๆ แล้ว “คำว่าพัฒนาการเด็กมันจะสำคัญมากกับอนาคตของประเทศชาติ” รู้สึกว่า เออ! พอเขามองว่าพัฒนาการเด็กช้ากว่า จริงๆ แล้วมันมีอะไรที่เป็นนัยมากมายเลยจากตรงนั้น
l ถ้าเรื่องเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ (โดยเฉพาะเด็กห่างแม่) มีความสำคัญขนาดนั้น อาจารย์อยากให้ข้อเสนออะไรกับภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบายบ้าง? : จริงๆ เขาพูดเรื่องนี้มาตั้งนานแล้วนะ พูดจนกลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจไปเสียแล้ว แต่มันก็ยังไม่ค่อยมีการทำอะไรขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราว เราพูดมาตลอดว่าเด็กที่ไม่ได้
อยู่กับพ่อแม่มีความเสี่ยง มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกคนแต่โอกาสที่เขาจะเป็นแบบนั้นมันมากกว่าเด็กที่ได้อยู่กับพ่อแม่
อยากให้รัฐบาลฟังตรงนี้ด้วย ฟังข้อมูลและให้ความหมายกับข้อมูล ให้ความสำคัญกับข้อมูลด้วย คือ ถ้าเขาไม่ให้ความสำคัญแล้วก็มองเป็นเรื่องปกติธรรมดาก็จะไม่ทำอะไร แต่ถ้าเกิดว่ามองเป็นเรื่องใหญ่นะ เราต้องมาแก้ไขแล้วนะ ก็ต้องมีการทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาที่บอกว่าคุณไม่ต้องไปทำงานที่อื่น คุณเลี้ยงลูกก่อน มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะมันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของหลายๆ อย่าง เขาจะเอาอะไรกินถ้าเขาไม่ไปทำงานที่อื่น ถ้าไม่ช่วยเขา
ภาครัฐสามารถทำได้หลายอย่าง อย่างเช่นสนับสนุนอย่างไรให้คนมาทำงานโดยที่ว่าไม่ต้องทิ้งลูกไว้ที่บ้าน อาจจะมี Child Care ที่โรงงานหรือสถานที่ทำงาน พ่อแม่ก็ไม่ต้องทิ้งให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง แต่รัฐต้องช่วย Subsidize (อุดหนุน) สถานประกอบการ อย่างเช่นเรื่องลดหย่อนภาษีอะไรแบบนี้ มีแรงจูงใจให้สถานประกอบการเขาต้องคิดเรื่องพวกนี้ด้วย
l แต่ถ้าสุดท้ายจำเป็นต้องให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงจริงๆ จะมีแนวทางสนับสนุนอย่างไรบ้าง? : เราพบว่าเด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าถ้าอยู่กับปู่ย่าตายาย อันหนึ่งเนื่องจากว่าปู่ย่าตายายอาจจะไม่ได้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเท่ากับที่แม่ทำ อันหนึ่งก็ต้องให้ความรู้ ก็คือให้ทดแทนความเป็นพ่อแม่ได้ กิจกรรมอะไรบ้างในการเลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กสำคัญมาก เพราะมันจะบอกอนาคตไปข้างหน้า บางทีพอถึงวัยรุ่นมันก็สายไปเสียแล้ว ฉะนั้นต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ก็เลยกลายเป็นว่าเลี้ยงเด็กเล็กปู่ย่าตายายก็ต้องเลี้ยงแบบ Intensive (เข้มข้น)ก็คือต้องเลี้ยงแบบจริงจัง ให้เวลาจริงจัง
l แต่มันก็มีความท้าทายอีก เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย แถมเป็นการสูงวัยแบบ “แก่ก่อนรวย” ที่ทุกวันนี้หลายคนอายุเกิน 60 ปีแล้วก็ยังต้องทำงานหารายได้เลี้ยงตนเอง แถมก็ยังต้องถูกคาดหวังให้เลี้ยงหลานอีก : ปู่ย่าตายายอายุก็มากแล้ว ต้องทำงานด้วยบางที มันก็เป็นเรื่องที่ยาก ฉะนั้นชุมชนต้องมีส่วนไหม?เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มาช่วยด้วย ก็คือมันแล้วแต่บริบทของแต่ละบ้าน-แต่ละชุมชนด้วย ต้องหาหลายๆ วิธี
l แล้วนโยบายที่ดีควรจะเป็นแบบใด? : ตัวเองไม่ชอบถ้าจะมีนโยบายแบบกว้าง คือคุณสนับสนุนส่งเสริมเรื่องนี้ แต่ให้ทางเขาไปออกแบบเองได้ไหม? ให้เขาสามารถใช้ทรัพยากรง่ายในการทำโน่นทำนี่ ไม่ใช่ต้องมาขออนุมัติจากส่วนกลาง นโยบายนั้นมันอาจจะไม่เหมาะกับทุกที่ บางทีงบมันไปผ่าน อบต. อะไรอย่างนี้ อบต.ก็อาจต้องให้ชาวบ้านเขามีส่วนร่วมว่าทำอย่างไร แล้วก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาเข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น เขาต้องการอะไรเราให้ คือมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่ใช่ว่าพอเขาไม่ขอมาเราก็เฉย มันต้องมีการติดตาม
l หมายถึงภาครัฐส่วนกลางให้นโยบายเพียงกรอบกว้างๆ พอ แล้วภาครัฐส่วนท้องถิ่นก็ทำไป แต่ก็ทำแบบให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ? :ใช่! ก็คือส่วนกลางเป็นนโยบาย แต่กิจกรรมอะไรต่างๆ ให้ทางพื้นที่เขาเป็นคนคิดเองเถอะว่าจะทำอย่างไรแล้วแน่นอนต้องให้ชาวบ้านมา บางทีชาวบ้านเขาอาจจะไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร แต่ว่าอันนี้งานวิจัยก็มีส่วนนะนักวิชาการอาจจะทำอย่างไรให้ข้อมูลมาจากชาวบ้านให้มากที่สุด เป็นปากเสียงของชาวบ้านให้ได้มากที่สุด ช่วยกันคิด
l คำถามสุดท้าย..เราพูดกันถึงบทบาทของภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นแล้ว และมีบทบาทของภาควิชาการแล้ว ในส่วนของประชาชนทั่วไปควรจะมองสถานการณ์แบบนี้อย่างไร? : ประชาชนไม่ควรจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ อันนี้เป็นเรื่องที่พิเศษนะถ้าเกิดว่าเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มันควรจะเป็นอะไรที่ต้องให้ความสนใจ มันต้องมีอะไรสักอย่าง ทำอย่างไรให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ให้นานที่สุด แต่ถ้าไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ก็ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ
“ไม่ควรจะมองว่า โอ๊ย! ไม่เป็นไรหรอก ใครๆก็อยู่กับยายกับตากันทั้งนั้นแหละ ก็เห็นไปได้ดีกัน ไม่เห็นมีปัญหา ในส่วนที่ไม่มีปัญหามันก็มี แสดงว่าเขาก็มีความเข้มแข็งระดับหนึ่ง มันต้องมีอะไรที่ช่วยส่งเสริมเขา ต้องมองหาตรงจุดนั้น ว่าอะไรมันจะช่วยทดแทนสิ่งที่เขาขาดไปตรงนั้น” อาจารย์อารี ฝากทิ้งท้าย
บัญชา จันทร์สมบูรณ์ (สัมภาษณ์/เรียบเรียง)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี