วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะสถานศึกษาเปิดเทอมว่า ช่วงฤดูฝนเอื้อต่อการแพร่ระบาด ในช่วงนี้ โรงเรียนทุกแห่งต่างก็เปิดเทอมแล้ว ทำให้มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคหลายชนิด เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือเท้าปาก สคร.9 นครราชสีมา มีความห่วงใย ขอให้ป้องกันตนเองและบุตรหลานด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรคัดกรองนักเรียนก่อนเข้าห้องเรียน และทำความสะอาดอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ภายในห้องเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงนี้ เป็นช่วงที่นักเรียนเปิดเทอมแล้ว ทุกโรงเรียนมีการเรียนการสอนและมีกิจกรรมร่วมกัน อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ได้ อีกทั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน โรคมือเท้าปากก็มักพบได้บ่อยในโรงเรียนอนุบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกด้วย
ทั้งนี้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 มีผู้ป่วย สะสมจำนวน 13,862 ราย ผู้เสียชีวิต 4 ราย โดยสถานการณ์โรค 8 สัปดาห์ย้อนหลัง (สัปดาห์ที่ 10–17) มีผู้ป่วย 5,081 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 2,937 ราย 2) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1,005 ราย 3) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 604 ราย 4) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 535 ราย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ
ส่วนสถานการณ์โรคมือเท้าปาก ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 1,358 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยสถานการณ์โรค 8 สัปดาห์ย้อนหลัง (สัปดาห์ที่ 10-17) มีผู้ป่วย 372 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 164 ราย 2) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 111 ราย 3) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 67 ราย 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 30 ราย พบมาก ที่สุดในกลุ่มอายุ 1 ปี รองลงมาคือ 2 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ขอให้ดูแลรักษาอนามัยส่วนบุคคล เมื่ออยู่ในที่ที่มีคนรวมกลุ่มกันจำนวนมาก ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ส่วนการป้องกันโรคมือเท้าปาก ครูพี่เลี้ยงควรคัดกรองนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แจ้งผู้ปกครองมารับเด็กไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากมีเด็กป่วยจำนวนมากอาจต้องพิจารณาปิดชั้นเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ ผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีไข้ร่วมกับมีแผลในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ควรรีบไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียน ไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัว หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานที่มีอาการป่วยไปในที่ชุมชน เช่น สนามเด็กเล่น บ้านบอล ห้างสรรพสินค้า เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการระบาดในชุมชน หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี