หมายเหตุ : ถอดความจากการบรรยายของ สรัช สินธุประมา ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะฯ 101PUB ในหัวข้อ “ชีวิตและงานในฝันของวัยรุ่นสร้างตัว” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนา “คนรุ่นใหม่ไทย การผันเปลี่ยนในสังคมแปรผัน?” จัดโดยศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
สรัช เริ่มต้นด้วยการขยายความนิยามคำว่า “วัยรุ่นสร้างตัว” ซึ่งหมายถึง “คนที่ตกหล่นออกไปจากการศึกษาในระบบ” กล่าวถึง เส้นทางของระบบการศึกษาที่เรียนไปตามลำดับ เช่น จากมัธยมศึกษาตอนต้น สู่มัธยมศึกษาตอนปลาย และไปตามในระดับอุดมศึกษา ขณะที่หนึ่งในหัวข้อการสำรวจที่พบการเผยแพร่ทุกปีคือ “อาชีพในฝันของเยาวชนไทย” โดยรายงานของปี 2567 พบว่า อันดับ 1 ครู-อาจารย์ (รวมถึงติวเตอร์) อันดับ 2ประกอบธุรกิจส่วนตัว อันดับ 3 แพทย์-พยาบาล อันดับ 4 อินฟลูเอนเซอร์-สตรีมเมอร์-ยูทูบเบอร์ (ผู้ผลิตเนื้อหาเผยแพร่ทางออนไลน์)
อันดับ 5 นักออกแบบกราฟิก อันดับ 6นักกฎหมาย (ทนายความ-อัยการ) อันดับ 7งานด้านต่างประเทศ อันดับ 8 ศิลปินนักตัดต่อวีดีโอ อันดับ 9 นักบิน-แอร์โฮสเตส และอันดับ 10 ข้าราชการ (นับรวมทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน) ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ในการจัดอันดับช่วง 1-2 ปีล่าสุด มีอาชีพใหม่ๆ อย่างยูทูบเบอร์ เพิ่มเข้ามา ก่อนที่การสำรวจครั้งล่าสุดในเดือน ม.ค. 2567 จะพบว่า ยูทูบเบอร์รวมถึงอาชีพในกลุ่มเดียวกันอย่างอินฟลูเอนเซอร์หรือสตรีมเมอร์ จะขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4แซงหน้าอาชีพสายงานนักกฎหมายหรือการรับราชการ
ซึ่งจาก 10 อันดับข้างต้น จะพบว่าหลายอาชีพเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะสูง อย่างไรก็ตาม แหล่งงานทักษะสูงก็ยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในขณะที่งานส่วนใหญ่ในภาพรวมของประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มงานทักษะปานกลาง และยังพบด้วยว่านับวันแนวโน้มค่าจ้างระหว่างงานทักษะสูงปานกลางและต่ำ มีแต่จะถ่างกว้างขึ้น หรือก็คือสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ในด้านหนึ่งก็มีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษา ด้วยการหาทางให้เยาวชนจากครัวเรือนระดับล่างมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น แต่อีกด้านก็มีผู้ที่พยายามท้าทายกรอบความคิดเรื่องการจะมีชีวิตที่ดีได้ต้องไล่เลียงไปตามลำดับของระบบการศึกษา เรียน ม.ต้น ม.ปลาย แล้วเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อเรียนต่อให้จบปริญญาตรี-โท-เอก ซึ่งผู้ที่คิดแบบนี้ก็ไม่ได้มาจากการขาดโอกาสจนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่เป็นการตัดสินใจด้วยตนเองที่จะเลือกประกอบอาชีพที่ไม่ต้องใช้ใบปริญญาเพื่อการันตีคุณวุฒิ
“ผมทยอยถ่ายภาพจากที่ต่างๆ ต่างกรรมต่างวาระ ในช่วงประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าความคิดเกี่ยวกับเรื่องการเรียนปริญญาเคลื่อนมาจนถึงจุดที่ว่ามันถูกมองในแง่ลบ หรือมองในแง่ต่อต้านมันด้วยซ้ำ เอาเครื่องหมายห้ามขึ้นมาแล้วก็ขีดฆ่า “ปริญญาไม่ต้อง..ขับกระบะก็พอกิน” พูดถึงการยืนยันว่าการที่เราทำอาชีพที่ไม่มีปริญญามันไม่ใช่เพราะเราขาดโอกาสหรือเข้าไม่ถึง มันเป็นความชอบ เราตัดสินใจเลือกสิ่งนี้เอง
อันหนึ่งที่ฮิตมากช่วงหลังแต่ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเพราะมันยาวมาก “ปริญญาตรีกูบ่มีดอก..เพราะตอนนี้กูเอาตัวรอดจากประสบการณ์” ความคิดเกี่ยวกับการสร้างอัตลักษณ์หรือแสดงตัวตนว่าเราไม่จำเป็นต้องง้อปริญญา “อาชีพพ่อไม่ต้องง้อปริญญา” ลองไปค้นใน TikTok เจอคลิปจำนวนมาก แล้วก็มีตั้งแต่คนที่ทำงานในภาคเกษตรต่างๆ เครื่องจักรการเกษตร ไปจนถึงคนทำงานในโรงงาน ขับรถกระบะขับรถบรรทุกต่างๆ” สรัช กล่าว
จากข้อค้นพบข้างต้น สรัช เปิดประเด็นชวนคิดว่า “ทางแยกของวัฒนธรรม อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนเลือกเดินออกจากระบบการศึกษา เพราะมองว่าการศึกษาในระบบไม่ตอบโจทย์ของชีวิต” พร้อมฉายภาพวิถีชีวิตซึ่งที่ผ่านมาอาจถูกมองว่าเป็น “คนชายขอบ” โดยคนกลุ่มนี้มี “ศัพท์เฉพาะ” เช่น “ทรงซ้อ-ทรงเอ” ที่ช่วงแรกๆ คำคำนี้มีความหมายในแง่ลบ เพราะหมายถึง “เอเย่นต์” หรือผู้ที่หาเงินสร้างฐานะจากการขายยาเสพติด แต่ระยะหลังๆ ได้กลายไปเป็นรสนิยมในการแต่งตัวหรือใช้ชีวิตรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเสมอไป,
“พ่อ (หรือแม่) น้องออนิว” หมายถึงผู้ที่นิยมใช้รถกระบะบางรุ่น-ยี่ห้อ, “ทรงเชง” หมายถึงวัฒนธรรมการแต่งกายและการใช้มอเตอร์ไซค์รูปแบบหนึ่ง เป็นต้น ในอดีตวัฒนธรรมย่อยแบบนี้อาจไม่ได้รับความสนใจจากสังคม แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะเปลี่ยนไป เช่น วัฒนธรรมแบบทรงซ้อ กลายเป็นเนื้อหา (Content) ที่มีผู้เผยแพร่และได้รับความสนใจอย่างมากบนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่าง TikTok
ดังนั้นคนกลุ่มนี้อาจไม่ใช่ชายขอบแบบที่คุ้นเคยกัน เหมือนในอดีตที่นักมานุษยวิทยาจะต้องออกจากศูนย์กลางไปทำการศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมย่อย แต่กลายเป็นศูนย์กลางใหม่จากภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไปด้วยการสร้างเรื่องเล่า (Narrative) ในวิถีตัวตนของตนเองซึ่งเป็นการท้าทายต่อระบบเดิม ทั้งระบบการศึกษาและระบบเศรษฐกิจที่ผูกหรือกำกับรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนเอาไว้
เช่น “เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy)” ที่หัวข้อการสนทนาส่วนใหญ่ที่พบมักเน้นเรื่องของเทคโนโลยีใหญ่ๆ (Big Tech) หรือภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนอย่างไร แต่จริงๆ แล้วยังมีแง่มุมอื่นๆ ที่น่าสนใจดังตัวอย่างจากมิวสิกวีดีโอเพลง “อยากมีก็ต้องสร้าง” หรือเพลง “วัยรุ่นทรงซ้อ (วัยรุ่นสร้างตัว)” ซึ่งฉายภาพของคนรุ่นใหม่ที่พื้นเพทางเศรษฐกิจในครัวเรือนอาจไม่ดีนัก แต่ก็มีความฝันเรื่องการมีรายได้เพียงพอดูแลพ่อแม่ สามารถซื้อบ้านและรถยนต์ และเลือกทำมาหากินด้วยการขายของทางออนไลน์
“มันเป็นเหตุผลว่าทำไมความฝันของการที่จะเป็นนายตัวเองมันถึงพุ่งขึ้นมาสูงมาก (ประกอบธุรกิจส่วนตัว อยู่ในอันดับ 2ของการสำรวจอาชีพในฝันของเยาวชนไทย ปี 2567) คือผมคิดว่าสมัยก่อน คนหนึ่งที่คิดว่าเราอยากเป็นนายตัวเอง ทำธุรกิจ คงต้องคิดเยอะ แต่ว่าเราจะมีต้นทุนอะไรในชีวิต บ้านเรา-พื้นเพของเราจะมีอะไร Support (สนับสนุน) เราให้สามารถทำสิ่งนั้นได้ แต่ว่าแพลตฟอร์มเอื้อให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากรู้สึกว่าเข้าไปเป็นผู้เล่นในการขายของหรือเป็นเจ้านายตัวเองในแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้
แต่ว่าทีนี้ในขณะเดียวกัน ย้อนกลับไปความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากอาชีพใหม่ๆ จากแพลตฟอร์มต่างๆ ยูทูบเบอร์ สตรีมเมอร์เกมเมอร์ ขายของออนไลน์ต่างๆ มันเข้ามาเปลี่ยนความคิดความฝันของเยาวชน โดยที่มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งเลยที่เขารู้ตัวแน่ว่าเขาไม่ไปตามระบบ เพราะเขามองว่าการเดินตามระบบการศึกษา เรียนต่อในระดับปริญญาตรีไม่ใช่คำตอบ” สรัช ระบุ
แต่การที่เยาวชนคนรุ่นใหม่เลือกทางเดินแบบนี้ สรัช เล่าถึงข้อค้นพบที่ตามมาว่า เกิดความตึงเครียดในครอบครัวโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะในขณะที่คุณค่า (Value) ในสายตาคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป แต่คนรุ่นพ่อแม่ยังมีความเข้าใจสังคมในรูปแบบเศรษฐกิจแบบเดิมๆ เช่น คาดหวังให้ลูกทำงานที่ดูแล้วที่มีความมั่นคง อาทิ รับราชการ หรือทำงานกับบริษัทเอกชนชั้นนำ ซึ่งก็หมายถึงการเรียนจบในระดับอุดมศึกษา
อนึ่ง ความตึงเครียดนอกจากจะเกิดขึ้นในครอบครัวแล้ว ยังรวมถึงระหว่างเยาวชนรุ่นเดียวกันแต่มีพื้นเพและชุดความคิดแตกต่างกันด้วย โดยการสำรวจของ 101 PUB ที่ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เก็บข้อมูลเยาวชน (อายุ 15-25 ปี) กลุ่มตัวอย่าง 2 หมื่นคนทั่วประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน ในประเด็นเชิงคุณค่า 6 ด้าน คือ 1.ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2.ความสัมพันธ์กลุ่ม 3.ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ 4.ประเด็นถกเถียงทางสังคม 5.เศรษฐกิจ-การเมือง และ 6.เพศสภาพ
โดยพบว่า “เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่มซึ่งอาจเรียกได้ว่าวัยรุ่นสร้างตัวจะมีพื้นเพมาจากครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ จะเชื่อเรื่องการพยายามเอาตัวรอดด้วยตนเอง ไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และไม่สนใจแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการที่รัฐเข้าไปคุ้มครองหรือเอื้ออำนวย (Provide) สวัสดิการพื้นฐานให้คนในสังคม” ซึ่งแตกต่างกับเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนกำหนดวาระ (Agenda) การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีก่อน
หรือโดยสรุปก็คือ “กลุ่มวัยรุ่นสร้างตัวอาจเห็นด้วยกับหลักการประชาธิปไตยอย่างเคย (เช่น ผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง) แต่ไม่ได้มองว่าชุดคุณค่าอื่นๆ (เช่น เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเพศ) มีความสำคัญ หรือแม้แต่ไม่สนใจชุดคุณค่าเหล่านั้นเสียด้วยซ้ำไป” คล้ายกับที่ปรากฏในเนื้อเพลง “ไม่สนโลก” ซึ่ง สรัช เล่าว่า ในช่วงที่ไปเก็บข้อมูลใน จ.หนองบัวลำภู ได้ฟังเพลงนี้อย่างน้อยวันละ 5 รอบ เพราะเนื้อเพลงสะท้อนถึงวิถี “ปากกัดตีนถีบ” ที่ไม่สนใจว่าการเมืองหรือเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่สนใจเพียงการสู้ชีวิตของตนเองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัว
“พูดอย่างนี้เหมือนกับว่าเรากำลังจะบอกว่ามีเยาวชนกลุ่มใหม่ๆ ออกมาเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมใหม่ๆ เต็มไปหมด แล้วก็คงไม่มีความเป็นชายขอบอีกต่อไปหรือเปล่า? ก็คิดว่าคงไม่ใช่! คือคิดว่าอย่างไรนิยามความเป็นชายขอบก็ยังสำคัญอยู่ในแง่ที่ผมคิดว่ายังมีคนที่ตกหล่นออกไปจากความสนใจของสังคมอยู่มากแน่นอน รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับความเปลี่ยนไปในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มด้วย” สรัช กล่าว
สรัช ทิ้งท้ายการบรรยายว่า เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมของกลุ่มวัยรุ่นสร้างตัว สำหรับคนที่สนใจประเด็นวัฒนธรรม จะมีแนวคิดอย่างหนึ่งคือ “ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม (Cultural Intimacy)” หมายถึงวัฒนธรรมที่สัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคนในสังคม กล่าวคือ มีกระบวนการที่รัฐพยายามสร้างอัตลักษณ์บางอย่างในเชิงความเป็นชาติ แล้วลบหรือกลบลักษณะอื่นๆ ที่ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ดังกล่าวออกไป แต่อัตลักษณ์ที่รัฐพยายามสร้างนั้นก็ไม่ได้อยู่โดดๆ โดยลำพัง แต่อยู่ท่ามกลางลำดับชั้นของคุณค่าที่มาตั้งแต่ระดับโลกลงไปถึงระดับประเทศและภายในสังคมเดียวกัน
ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็กำลังอยู่ในคำถามที่ว่าประเทศควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร? มีวัฒนธรรมแบบไหน? จะไม่เอาแบบเดิมแต่สร้างใหม่ให้นุ่มลงหรือไม่? ซึ่งก็ยังไม่เห็นภาพ แต่ความน่าสนใจคือ ในความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดสิ่งท้าทายต่อระบบเดิมๆ ตลอดจนการมาของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ทำให้คนที่ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าอยู่ชายขอบและไร้อำนาจต่อรอง สามารถมีพื้นที่เพื่อผลักดันเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมของตนเองขึ้นมาได้ ก็อาจทำให้ลำดับชั้น (Hierarchy) ปรับเปลี่ยนไป
โดยในอดีตที่ผ่านมา จะพบการที่วัฒนธรรมย่อยมักถูกหยิบฉวยเอาความน่าสนุกหรือความน่าสนใจของเปลือกของการแสดงออกไปใช้อยู่เนืองๆ เช่น สื่อมักหยิบเรื่องของภาพลักษณ์การเต้นของคนที่ไปอยู่หน้ารถแห่ เหล่านี้มักจะถูกนำไปใช้โดยที่ไม่ได้สนใจชีวิตหรือบริบทความคิดของผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะหลังคือสถานะของวัฒนธรรมเหล่านี้มีที่ยืนของตนเองที่มั่นคงมากขึ้น และดูเหมือนจะได้รับการยอมรับมากขึ้น
“นอกจากรัฐหรือคนที่ทำงานคิดนโยบายแล้ว ผมคิดว่าการที่กลุ่มวัยรุ่นสร้างตัวกำลังเติบโตขึ้นมากๆ มาพร้อมกับ Value (คุณค่า) ที่อาจจะแตกต่างจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เราคุ้นเคยกันมากๆ มันก็เป็นงานที่คนที่ทำงานในด้านสังคมอื่นๆ คนที่ผลักดันประเด็นต่างๆ ก็อาจจะต้องให้ความสนใจแล้วว่า คนกลุ่มนี้ที่มีวัฒนธรรมแบบนี้และมีคุณค่าที่เชื่อมโยงกับชีวิตแบบนี้มีพื้นที่ มีที่ทาง มีอำนาจในทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมมากขึ้น การขับเคลื่อนประเด็นในเชิงประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องไปอย่างไรกันต่อ?” สรัช กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี