ศาลเยาวชนฯกาญจน์จับมือ 7 องค์กรลงนาม MOU ขับเคลื่อนนโยบายสร้างความร่วมมือด้านการยุติธรรม แก่เด็ก เยาวชนและครอบครัวตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ 10 มิ.ย.67 ที่ห้องประชุมอาเซียน 2 โรงแรมพีลูส อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นางกนกพร ศิลาภากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี พล.ต.ต.นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี นางจันทร์จิรา พัฒนศิริ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาญจนบุรี นายไพชยา พิมพ์สารี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาญจนบุรี นายประยุทธ นิลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี นายธิติพนธ์ ระลอกแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดกาญจนบุรี นางตะติมา นุ้ยฉิม ยุติธรรมจังหวัดกาญจนบุรี และนายสุนทร เสาร์ทอง ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างเครือข่ายในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว
จากนั้น นางกนกพร ศิลาภากุล กล่าวว่าพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเครือข่ายในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่ออำนวยความยุติธรรม และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชนและครอบครัวในกระบวนการยุติธรรมจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในกระบวนการดูแล แก้ไข บำบัด ฟื้นฟูผู้กระทำความผิด รวมไปถึงผู้เสียหาย ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง หรือแม้กระทั่งครอบครัวที่เกี่ยวข้อง สอดรับกับนโยบายประธานศาลฎีกาในการจัดตั้งศูนย์สร้างเสริมคุณภาพครอบครัวและศูนย์ติดตามด้วยความห่วงใยใส่ใจเด็กและเยาวชนประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี
หลังจากลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) แล้วเสร็จ นางกนกพร ศิลาภากุล ได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการประสานความร่วมมือด้านการยุติธรรมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจังหวัดกาญจนบุรีขึ้นอย่างเป็นทางการ และร่วมบรรยายให้ความรู้กฎหมาย เรื่อง ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องและออนไลน์ และศูนย์สร้างเสริมคุณภาพครอบครัว โดยมีนางกัลยกร จงสกุล ผู้พิพากษาสมทบและผู้ประนีประนอมประจำศาล นางจีรภัทร์ ทองสวัสดิ์ นิติกรชำนาญการพิเศษ และนางสาวสิธยา อนุสนธิ์ นักจิตวิทยาชำนาญการพิเศษร่วมบรรยายด้วย
จากนั้นได้ดำเนินการเปิดเวทีสานเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “ข้อขัดข้องในการประสานงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และแนวทางการแก้ไขเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน” ซึ่งการดำเนินงานโครงการนี้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ.2565-2568 ยุทธศาสตร์ S พัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานโดยให้มีการร่วมมือกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน ภายในและภายนอกประเทศ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและสร้างความร่วมมือด้านการยุติธรรม
ด้านนางกนกพร ศิลาภากุล กล่าวเสริมว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ควรส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ที่ได้นอกจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจะได้รับความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง แล้ว ยังสามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังเป็นการร่วมกันพิจารณา หารือ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จนอาจขยายผลไปสู่การจัดทำข้อกำหนดหรือบันทึกข้อตกลงในการปฏิบัติงาน เป็นการสร้างความสมานฉันท์ระหว่างบุคลากรในหน่วยงานอีกทางหนึ่งด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี