“กัญชา” กำลังกลายเป็นหนึ่งใน “ประเด็นร้อน”ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำ เพราะด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มุ่งมั่นอย่างมากที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และ สมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกตัวรับลูกไปดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่อีกด้านหนึ่ง “พรรคภูมิใจไทย” หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นผู้ผลักดันจนปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดได้สำเร็จในรัฐบาลชุดก่อนหน้า และที่ผ่านมาก็จะเห็นสมาชิกพรรคออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอยู่เนืองๆ
9 มิ.ย. 2567 ถือเป็นวันครบรอบ2 ปี นับจากการปลดล็อกกัญชาพ้นจากยาเสพติด มีความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นจากทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด โดยฝ่ายสนับสนุนนั้นมีการเปิดวงเสวนา “ผลกระทบของกัญชาเสรี ทางออกที่เหมาะสมของสังคมไทยคืออะไร” ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไทโดย อำนาจ เหล่ากอที ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่าปัจจุบันมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นแห่ง
นอกจากนั้น ยังมีการขายทางออนไลน์ซึ่งทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2564 เริ่มมีการปลดล็อกกัญชา แต่เป็นเพียงเพื่อให้ใช้ในทางการแพทย์และการวิจัยเท่านั้นซึ่งอยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ปี 2504 ซึ่งกำหนดมาตรฐานเรื่องการเปิดให้ผลิตและใช้กัญชา ว่าจะต้องเน้นไปที่เพื่อการแพทย์ การวิจัย วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ทั้งนี้ ยอมรับว่าในช่วง2 ปีที่ผ่านมา พบข่าวผลกระทบจากการใช้กัญชาเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น มีอาการจิตหลอน
“แน่นอนว่าในตัวของกัญชาเองผลกระทบของมันกับตัวผลบวก ทุกอย่างก็มี Pro (สนับสนุน) และ Con (คัดค้าน) มันอยู่ที่ว่าเราจะสร้างความเข้าใจให้ได้อย่างไรสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของเมืองไทย พอเรารู้ว่ากัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ รักษาอะไรได้บ้าง ก็ไปศึกษาค้นคว้ากันเอาเอง แต่ในต่างประเทศ ล่าสุดก็ไปประชุมที่เวียนนา(ออสเตรีย) เมื่อเดือน มี.ค. 2567 ทุกคนเขาบอกว่า การจะใช้กัญชา มันต้องอยู่ภายใต้การควบคุมทางการแพทย์
คุณใช้ในทางการแพทย์ก็จริง แต่ไม่ใช่เดินไปซื้อ ปลูกเองเด็ดเองมาชงเองนั่นไม่ใช่ เพราะสภาพร่างกายแต่ละคนกับการตอบสนองต่อกัญชาไม่เหมือนกัน ดังนั้นคนที่จะรู้ดีได้คือตัวเรากับตัวคนที่เป็นแพทย์ที่มาวินิจฉัยโรคให้เราว่าคุณใช้เท่าไร ปัจจุบันนี้แม้แต่ตัวสหประชาชาติเอง และ WHO (องค์การอนามัยโลก) ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าขนาดการใช้ที่เหมาะสมต่อร่างกายมนุษย์แต่ละช่วงอายุมันคือเท่าไร” ผอ.กองกฎหมาย ป.ป.ส. กล่าว
ผศ.นพ.ศุภกร ศรีแผ้ว คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฉายภาพเพิ่มเติมขึ้นการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจุดจำหน่ายกัญชาและจำนวนผู้ใช้กัญชา ว่าในเดือน ส.ค. 2566 มีจุดจำหน่ายกัญชา(ทั้งออนไลน์และออฟไลน์) รวม 5,600 จุดแต่ ณ วันที่ 7 มิ.ย.2567 เพิ่มขึ้นเป็น 8,132 จุดมีทั้งผลิตภัณฑ์กัญชาโดยตรง (ทั้งแบบแห้งแบบสด และแบบอัดแท่ง) และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีส่วนผสมของกัญชา
ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 24 เข้าถึงจุดจำหน่ายกัญชาได้ในรัศมี 400 เมตร รอบบ้านร้อยละ 28 ในรัศมี 800 เมตร และร้อยละ 31 ในรัศมี 1,200 เมตร นอกจากนั้น ประชากรร้อยละ 9 ปลูกกัญชาในบ้านของตนเองซึ่งครัวเรือนที่ปลูกกัญชา มีโอกาสที่สมาชิกในครัวเรือนจะใช้กัญชา มากกว่าครัวเรือนที่ไม่ปลูกถึง 4.4 เท่า ขณะที่การใช้กัญชาหลังปลดล็อกจากการเป็นยาเสพติด ในกลุ่มผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กและเยาวชน (อายุ 12-19 ปี) โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่นอกระบสถานศึกษา พบการใช้กัญชาถึงร้อยละ 47.6 จากเดิมที่พบเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้น
เมื่อดูจำนวนข่าวอาชญากรรมที่มีรายงานความเกี่ยวข้องกับกัญชา พบว่า ช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2564-8 มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นช่วงก่อนปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด พบจำนวน22 ข่าว น้อยกว่าช่วงวันที่ 9 มิ.ย. 2565-21 ธ.ค. 2566 หรือช่วงหลังปลดล็อก ที่พบถึง 95 ข่าว ประเภทข่าวที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือข่าวการสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน จากเดิมร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ทั้งนี้ ประชาชนกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปเกี่ยวข้องกับกัญชา ควรมีกฎหมายห้ามเสพกัญชาแล้วขับขี่ยานพาหนะ ห้ามข้าราชการใช้กัญชา
และเมื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์จริงๆ ก็ยังพบปัญหา “ผู้ป่วยใช้กัญชาโดยไม่ได้รับจากแพทย์ (ไม่ว่าแพทย์แผนไทยหรือแผนปัจจุบัน) แต่อาศัยการสอบถามคนรู้จักหรือค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง”นอกจากนั้น “ผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้กัญชายังให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้” เช่น กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ปรับยาเอง ไปพบแพทย์ตามนัด การดูแลสุขภาพ อาทิ ออกกำลังกาย งดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“เริ่มเห็นนักเรียน-นักศึกษาใช้และสูบกัญชาในที่สาธารณะ เด็กประถมหรือมัธยมเริ่มมีการประดิษฐ์อุปกรณ์เอง มีการโพสต์การใช้อุปกรณ์ลงโซเชียล เริ่มเห็นนักเรียนหญิงเริ่มมีอาการเมากัญชา นักเรียนข่มขู่ครูที่ไม่ให้ตนเองสูบกัญชา บางครั้งอาจต้องมีการตามเจ้าหน้าที่มาเพื่อรักษาสถานการณ์ในส่วนที่มีนักเรียนเกิดอาการไม่ปกติ ภาระงานของหน่วยบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องก็มีมากขึ้น แต่พบว่าสถานบำบัดหลายแห่งมีขีดความสามารถในการรับผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของกัญชาไม่เพียงพอ เรื่องของความเดือดร้อนในชุมชน มีควันรบกวนจากเพื่อนบ้าน
มีเกสรละอองของกัญชาปลิวมาจากในชุมชน เนื่องจากชุมชนปลูกและวิจัยกัญชาจำนวนมาก ผู้ที่เดือดร้อนเองก็ไม่รู้จะเรียกร้องกับผู้ใด เนื่องจากกัญชาไม่ใช่สารเสพติด ไม่ผิดกฎหมาย กรณีเกิดอุบัติเหตุจราจรและเจ้าหน้าที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกัญชา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถส่งตรวจกัญชาได้และในบริบทใกล้ตัวอย่างครอบครัว เราพบชายวัยทำงาน เป็นคุณพ่อ กลายเป็นคนที่ไม่ได้ทำงาน วัยรุ่นที่เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อก็มีไม่ได้เรียนและไม่ได้ทำงาน ผู้ป่วยก็เกิดอาการผิดปกติและทำความเดือดร้อนให่แก่คนในครอบครัว” ผศ.นพ.ศุภกร กล่าว
ด้าน ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนมอง(ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .. ซึ่งนำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย โดยเปิดให้รับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค.-15 พ.ย. 2566 พบว่าหลายอย่างไม่แตกต่างจากร่างเดิม ที่เคยพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วก่อนจะมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 สาระสำคัญยังคงเป็นการปลดกัญชาจากบัญชียาเสพติด มีการอ้างว่าใช้กัญชาในทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
โดยมีข้อสังเกต เช่น มาตรา 3 ที่ระบุว่า หากใช้กัญชากับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ก็ไม่ต้องถูกควบคุมในฐานะยาเสพติด ซึ่งหากไปดูต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยังไม่มีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ในขณะที่ประเทศไทยอนุญาตไปแล้ว, มาตรา 9 (1) ที่ระบุว่า สนับสนุนให้ประชาชนปลูกหรือแปรรูปกัญชา ข้อนี้ไม่สอดคล้องกับบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.),
มาตรา 29 อนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 15 ต้นต่อครัวเรือน โดยให้ผู้ปลูกจดแจ้งกับรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป และยิ่งส่งผลเสียอะไรมากมาย แต่หากผู้ปลูกเป็นสถานพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ได้รับใบอนุญาต แบบนั้นยังพอรับได้เพราะมีการควบคุม อนึ่ง แม้จะมีการกำหนดหน้าที่ของผู้จดแจ้งขอปลูกกัญชา แต่กลับไม่มีบทลงโทษกรณีฝ่าฝืน เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ในรัฐที่อนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ ผู้ปลูกต้องตัดช่อดอกไปทำลายทิ้ง รวมถึงห้ามเด็กและเยาวชนเข้าถึง,
มาตรา 60 ว่าด้วยการห้ามขายผลิตภัณฑ์กัญชา กำหนดเพียงการห้ามขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นซึ่งจะให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศในกฎกระทรวง ซึ่งการออกกฎหมายลักษณะนี้ทำให้กัญชากลายเป็นผลิตภัณฑ์ทั่วไป เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยสรุปแล้วร่างกฎหมายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย จะทำให้ 1.ทำให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด 2.สามารถใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ 3.ส่งผลเสียต่อระบบสุขภาพในระยะยาว 4.ทำให้กลุ่มธุรกิจกัญชาได้ประโยชน์ 5.เกิดปัญหาธุรกิจสีเทาและการฟอกเงิน
ดังนั้น ควรมีการแก้ไขในเรื่องนี้ เช่น ควรทบทวนเนื้อหา (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา กัญชงทั้งที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย และที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ควรกำหนดให้ช่อดอก สารสกัดทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น THC ที่ต่ำกว่า 0.2 หรือไม่ก็ตาม ควรเป็นส่วนที่ต้องควบคุม ในเรื่องของกัญชาที่ต้องควบคุมตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ทิงเจอร์ เรซิน ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประภท 5 แต่อาจยกเว้นบางส่วนที่เป็นเปลือก ลำต้น ราก เส้นใย กิ่ง ก้าน เมล็ด ที่ไม่สามารถปลูกได้ ส่วนใบกัญชาควรควบคุมในระดับหนึ่ง
นอกจากนั้น ไม่ควรอนุญาตให้มีการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน บางรายถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล ดังนั้น อย. ควรทบทวนการออกประกาศอนุญาตดังกล่าว และรัฐอาจส่งเสริมกัญชงในฐานะพืชเศรษฐกิจได้ แต่ไม่ควรส่งเสริมกัญชาเพราะเป็นยาเสพติด
“ประชาชนไม่ควรปลูกกัญชาได้ เพราะไม่มีประโยชน์และมีความเสี่ยงเอาไปใช้ที่ไม่เหมาะสม อาจมีการกำหนดบทเฉพาะกาล เช่น ให้มีผล 90 แต่ไม่เกิน 120 วัน เพื่อให้ธุรกิจกัญชาปรับตัวได้ ก็อาจให้เขาไปปรับตัวส่วนการเยียวยา ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ควรไปเยียวยา เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน ใครอยากต้องรับการเยียวยาก็ไปที่ภูมิใจไทย หรือจะไปที่ผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ไพศาล กล่าว
อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายคัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด นำโดยเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และภาคีชาวกัญชาประเทศไทย รวมตัวกันบริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงจุดยืน โดยมีแกนนำหลายคน อาทิ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่า ข่าวการที่รัฐบาลประกาศจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้นได้รับความสนใจจากชาวโลกเป็นจำนวนมาก
“เราต้องการทำกัญชาให้อยู่ภายใต้กฎหมาย อย่าผลักไสเราลงสู่ใต้ดินเหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา หมอยาหลายที่ทำยาแจกคนป่วย เราต้องยกต้นกัญชาหนีตำรวจ
เรามาวันนี้เพื่อการกฎหมายไม่ใช่หลบหนีกฎหมาย เราต้องการกฎหมายปกติควบคุมกัญชา อย่าเอากัญชาไปขังคุกยาเสพติดอีก” ประสิทธิ์ชัย กล่าว
ขณะที่แกนนำคนอื่นๆ ก็ร่วมกันกล่าวเสริม อาทิ “ลุงดำ” อร่าม ลิ้มสกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกาะเต่า กับ “หลวงสน”สนธยา แซ่โย้ หมอยาจากเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี 2 หมอยาชื่อดัง ระบุว่า กัญชาคือยาดี ราคาถูก ปลูกเองได้ จากประสบการณ์ใช้กัญชารักษาผู้ป่วยหายนับหมื่นราย ทั้งโรคเบาหวาน ความดัน และใช้กับผู้ป่วยมะเร็งที่แพ้เคมีบำบัด ตลอดจนโรคอื่นๆ อีกมากมายมีผลการรักษาชัดเจน เป็นเสมือนทองคำเขียวที่ควรได้รับการสนับสนุน และมี พ.ร.บ.มาควบคุมให้ใช้เป็นที่เป็นทาง
จากนั้นผู้ชุมนุมฝ่ายคัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ได้เดินขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง ระบุว่า “สังคมตกผลึกร่วมกันว่ากัญชานั้นต้องควบคุม ดังนั้น ขอให้รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.กัญชาควบคุมเพราะมีประสิทธิภาพมากกว่า และคัดค้านการควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติด” หากรัฐบาลตั้งธงว่ากัญชาต้องเป็นยาเสพติดจะต้องใช้กระบวนการวิจัยสาธารณะตัดสิน
จึงขอให้ตั้งกรรมการร่วมเพื่อจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบ และสำรวจวิจัยกัญชาในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมา เพื่อใช้ข้อเท็จจริงจากการวิจัยมากำหนดว่ากัญชาควรควบคุมด้วยกฎหมายใดจึงจะก่อประโยชน์มากกว่า เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีดังนี้ 1.ไม่มีใครถกเถียงว่ากัญชาต้องควบคุมแต่จะควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติดหรือ พ.ร.บ.กัญชา ให้ใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นข้อกำหนดสถานะ
โดยนายกรัฐมนตรีพึงตระหนักว่า การที่พรรคของท่านอยากเอากัญชากลับสู่ยาเสพติดเพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ผลิตกัญชาจะเหลือเพียงกลุ่มทุนใหญ่ และเมื่อพูดถึงกัญชาทางการแพทย์มันคือกัญชาที่อยู่ในมือของหมอแผนปัจจุบันและบริษัทยา ประชาชนจะไม่ได้ใช้กัญชาหรืออาจใช้ได้แต่ต้องจ่ายในราคาสูงมาก ข้อดีอย่างเดียวของการนำกัญชาสู่ยาเสพติดคือคนของพวกท่านจะเข้าควบคุมกัญชาที่มีมูลค่านับแสนล้าน
2.ขอให้ใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์จำนวน2 ชุด เพื่อนำมากำหนดสถานะของกัญชาโดย “ชุดที่ 1” ข้อมูลเปรียบเทียบในประเด็นข้อดีข้อเสีย คุณสมบัติในการก่อโรคและคุณสมบัติในการรักษาโรค ระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และกัญชา หากปรากฏว่าคุณสมบัติทั้งสามประการ กัญชาร้ายแรงกว่าสุราและบุหรี่ รัฐบาลสามารถนำกัญชากลับสู่ยาเสพติด แต่หากผลการวิจัยปรากฏว่ากัญชาไม่ได้ร้ายไปกว่าแต่กลับเป็นยารักษาโรคให้กับคนยากจนและคนที่หมอไม่รับรักษาจนหายจากโรคมานับไม่ถ้วนก็ต้องให้กัญชาควบคุมโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
“ชุดที่ 2” ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ ภาควิชาการ เพื่อสำรวจวิจัยชุดข้อมูลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของพืชกัญชานับตั้งแต่การปลดล็อกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 หากการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ทางร้ายแก่สังคมจนไม่อาจแก้ไข รัฐบาลสามารถนำกัญชากลับสู่ยาเสพติดแต่หากว่าผลการสำรวจวิจัย กัญชาก่อประโยชน์การรักษาชีวิตคนมามากมายและกิจการอื่นใดที่เกี่ยวกับกัญชาไม่ได้ส่งผลร้ายจนเกินจะแก้ไข ก็ให้นำกัญชาไปควบคุมโดยกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ
“ข้อเสนอทั้งสองประการเป็นข้อเสนอที่เป็นหลักการพื้นฐานของการกำหนดนโยบายสาธารณะ หากนายกรัฐมนตรียังตระหนักว่าตนเองกำลังเป็นผู้นำรัฐบาลก็จงหันกลับมาใช้กระบวนการที่ถูกต้องในการกำหนดสถานะของกัญชาแต่หากนายกรัฐมนตรีคิดว่าตัวเองเป็นคนของพรรคต้องทำเพื่อประโยชน์ของคนในพรรคและบริวารว่านเครือ ท่านก็ไม่ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปและเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยจะปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลจนกว่านายกรัฐมนตรีจะยินยอมให้ใช้กฎหมายปกติในการควบคุมกัญชา” แถลงการณ์เครือข่ายฯ ระบุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี