ม.สวนดุสิต เป็นเจ้าภาพจัดงาน “การประชุมวิชาการระดับชาติสวนดุสิต 2024 ครั้งที่ 6” (The 6th Suan Dusit National Academic Conference 2024) ภายใต้หัวข้อ: นวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา (BCG Innovation for Education)
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินาถ สุคนเขตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีณัฐ สกุลหอม คณบดีคณะครุศาสตร์ ในนามคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติสวนดุสิต 2024 ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "นวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา" ได้กล่าวถึง ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดงาน ว่า ด้วยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดการประชุมวิชาการระดับชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสให้อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้พัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ผ่านเวทีการประชุมวิชาการและนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการของบุคลากรทางการศึกษา
สำหรับการประชุมวิชาการในปีนี้ คณะกรรมการจัดการประชุมได้เล็งเห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพึ่งพาใช้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งผลของการพัฒนาดังกล่าวนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดของเหลือทิ้งที่สร้างมลพิษ อันเป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพ และคุณภาพชีวิตตามมา จึงทำให้รัฐบาลกำหนดแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 -2570 และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นโมเดลแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
คณะกรรมการจัดการประชุม จึงตอบสนองบริบทเหล่านี้ด้วยการจัดให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติสวนดุสิต 2024 ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "นวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา" โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงาน จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 2) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย 3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 5) สภาการศึกษา และ 6) บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด และ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) โดยการดำเนินงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ตลอดจนครูและนักเรียน จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ส่งบทความเข้าร่วมในการประชุม ซึ่งประกอบด้วยผลงานทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ สาขาคอมพิวเตอร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล สาขาเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม สาขาศึกษาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีณัฐ สกุลหอม คณบดีคณะครุศาสตร์ กล่าวเสริมว่า คณะครุศาสตร์ มีหลักการสำคัญในการดำเนินงานที่เน้นให้เกิดการบูรณาการอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ แหล่งเรียนรู้แบบพหุวัฒนธรรม ร่วมกับภาคีเครือทางการศึกษา เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณธรรม จริยธรรม ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ มีสมรรถนะวิชาชีพครู ผ่านการศึกษาเชิงบูรณการกับการทำงาน ด้วยเหตุนี้ คณะครุศาสตร์ จึงร่วมผลักดันให้เกิดการจัดนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับชาติสวนดุสิตในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่เข้มแข็งร่วมกับภาคีเครือทางการศึกษา ที่ไม่ได้จำกัดโอกาสเพียงแค่สำหรับอาจารย์หรือนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้แก่ครู นักศึกษาครู รวมถึงนักเรียน ได้แสดงศักยภาพด้าน การวิจัยร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นในประเด็นนวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาได้ตื่นตัวและตระหนักเกี่ยวกับบริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ด้าน ดร.ถนอม อินทรกำเนิด นายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวปิดท้ายว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่าน เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นประธานต่อจิกซอร์เปิดงานร่วมกัน รวมทั้ง ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมเป็นเครือข่ายและเจ้าภาพจัดงาน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์งานวิจัยอันเกิดจากความรู้ความสามารถ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ก่อเกิดการถ่ายทอดประสบการณ์ของนักวิจัยรุ่นพี่ให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นนวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้เพื่อนำกลับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานหรือการศึกษา มีการสร้างเครือข่ายเชิงวิชาการที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยร่วมกัน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี