สถานการณ์ไฟป่า‘ผืนป่าตะวันตก’คลี่คลาย ภายใต้‘บูรณาการ’ทุกภาคส่วน
ผืนป่าตะวันตก...
เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่อยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ที่ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมด้วยกันทั้งหมด 17 แห่ง เป็นพื้นที่ที่มีผืนป่าอนุรักษ์เชื่อมต่อกันเป็นขนาดใหญ่ ประมาณ 12 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดในภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติพุเตย อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อุทยานแห่งชาติลำคลองงู อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติไทรโยค นอกจากนี้ยังมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 พื้นที่ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และด้านตะวันออก
ผืนป่าขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ที่มีความสลับซับซ้อนเป็นทั้งผืนป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งชนิดต้นไม้และสัตว์ป่านี้ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมายังคงเผชิญปัญหา “ไฟป่า”ในพื้นที่อย่างหนัก
จากข้อมูลของสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พบว่าที่ผ่านมาพื้นที่อนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตกที่ประสบปัญหาไฟป่าเป็นอย่างหนัก คือ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่เชื่อมโยงกับหลายพื้นที่
โดยอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วยเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำแควใหญ่ที่อยู่ทางตอนเหนือของเขื่อนศรีนครินทร์ พื้นที่แห่งนี้มีสภาพป่าสมบูรณ์เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีสัตว์ป่าชุกชุม และแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น น้ำพุร้อน ถ้ำ และทะเลสาบ จากสภาพพื้นที่ที่มีความสลับซับซ้อน และมีพื้นที่น้ำเป็นส่วนใหญ่ กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อเกิดไฟป่า
ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญในการดับไฟ คือ การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ทางน้ำ การเดินทางของเจ้าหน้าที่กว่าจะเข้าไปถึงพื้นที่เกิดเหตุต้องใช้เวลานาน ยากลำบาก และเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าไปดับไฟป่า
ด้านสาเหตุการเกิดไฟป่าในผืนป่าตะวันตกสาเหตุหลัก ได้แก่ ไฟป่าเกิดจากการล่าสัตว์ การเผาเพื่อเก็บหาของป่า และการเผาเพื่อให้เกิดทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ประชาชนที่เลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ มักลักลอบจุดไฟเผาป่าให้ป่าโล่งมีสภาพเป็นทุ่งหญ้า เพื่อให้หญ้าเกิดขึ้นใหม่กลายเป็นแหล่งอาหารปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ แต่กลับทำให้เกิดไฟป่าลุกลามเป็นบริเวณกว้างยากแก่การควบคุม
สำหรับการแก้ปัญหาที่ผ่านมาเมื่อประสบปัญหาไฟป่าในพื้นที่ ต้องใช้วิธีการจัดการโดยการบูรณาการทุกภาคส่วน มีการร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานีควบคุมไฟป่า จัดทีมเดินเท้าเสือไฟเข้าควบคุมเพลิง พร้อมนำเฮลิคอปเตอร์ KA-32 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าช่วย
ผอ.สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กล่าวอีกว่า เราได้ทำงานร่วมกันกับทุกหน่วยงานทั้งทางบกและทางอากาศ ทำให้ขณะนี้สถานการณ์ไฟป่าในผืนป่าตะวันตกสามารถควบคุมได้ และเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ยังมีไฟป่าลดลงกว่า 40% ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาได้ดี ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนต้องเกิดจากการทำงานบูรณาการร่วมกัน และร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี